“Generation Rent” กลุ่มคนสิ้นหวัง ที่แทบไม่มีโอกาสซื้อบ้านของตัวเอง
Economy

“Generation Rent” กลุ่มคนสิ้นหวัง ที่แทบไม่มีโอกาสซื้อบ้านของตัวเอง

20 พ.ค. 2022
“Generation Rent” กลุ่มคนสิ้นหวัง ที่แทบไม่มีโอกาสซื้อบ้านของตัวเอง /โดย ลงทุนเกิร์ล
สมมติว่า เราอยากซื้อบ้านหลังละ 5 ล้านบาท
เราจะต้องมีเงินสำหรับ “วางเงินดาวน์” ประมาณ 250,000-1,000,000 บาท
และยังต้อง “ผ่อน” อีกปีละประมาณ 287,000-341,000 บาทต่อปี เป็นเวลากว่า 30 ปี
นี่จึงไม่แปลกที่หลายคนจะรู้สึกว่า
การครอบครองบ้านสักหลัง เป็นเรื่องที่ยากจะเอื้อมถึง
แม้ว่าพวกเขาจะพยายามอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม
ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่คนกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น
แต่ผู้คนทั่วโลก ต่างก็ประสบปัญหานี้กันเป็นจำนวนมาก
จนมีชื่อ ที่เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “Generation Rent”
แล้ว Generation Rent คืออะไร และทำไมคนกลุ่มนี้ถึงมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Generation Rent คือ คำที่ใช้เรียกกลุ่มคน ช่วงประมาณรุ่นมิลเลนเนียลส์ (อายุ 28-41 ปี) และ Gen Z (อายุ 13-27 ปี) ที่จำเป็นต้อง “เช่าที่อยู่อาศัย” เนื่องจากมีโอกาสน้อยมาก ที่คนเหล่านี้จะสามารถเป็นเจ้าของบ้านสักหลังได้
ซึ่งจริงอยู่ว่า ในทุกยุคทุกสมัย ก็ต้องมีกลุ่มคนที่ไม่สามารถซื้อบ้านได้อยู่แล้ว
แต่เหตุผลที่ทำให้เรื่องนี้ถูกหยิบขึ้นมาพูดถึง จนมีการตั้งชื่อว่า Generation Rent ก็เพราะ คนกลุ่มมิลเลนเนียลส์ และกลุ่ม Gen Z กำลังประสบปัญหานี้มากขึ้น จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องพฤติกรรมการเงิน และพฤติกรรมการบริโภคที่ต่างจากคนรุ่นก่อน ๆ
โดยต้นตอของปัญหานี้มาจาก “โครงสร้างทางสังคม” ที่หลายประเทศประสบคล้าย ๆ กัน
อย่างเรื่องแรก คือ “ช่องว่าง” ระหว่างรายได้ และราคาบ้าน ที่ห่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในขณะที่ราคาบ้าน ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ กำลังสูงขึ้น
แต่ค่าแรงของคนเหล่านี้ กลับเติบโตตามราคาสินทรัพย์เหล่านั้นไม่ทัน
จนทำให้ช่องว่างระหว่างรายได้และราคาบ้านกว้างขึ้นเรื่อย ๆ
และความเป็นจริงที่โหดร้ายคือ แม้ว่าจะประหยัดรายจ่ายฟุ่มเฟือยเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่าง ค่ากาแฟ, ค่าอาหาร หรือค่าเครื่องสำอาง มันก็ไม่ได้ช่วยให้คนกลุ่มนี้มีเงินมากพอที่จะไปซื้อที่อยู่อาศัยได้อยู่ดี
ซึ่งเราจะเห็นปัญหานี้ได้ชัดเจนจากหลาย ๆ พื้นที่ทั่วโลก เช่น
สหราชอาณาจักร
กลุ่มคนอายุ 35-44 ปี มีแนวโน้มที่จะเช่าบ้าน ระยะยาวกว่า 20 ปี มากขึ้นถึง 3 เท่า
เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูงขึ้น ในขณะที่ GDP ต่อหัวของประชากร มีแนวโน้มที่ลดลงมาตั้งแต่ปี 2007
ซึ่งถ้าพิจารณาตั้งแต่ปี 2007-2021 ราคาที่อยู่อาศัยในสหราชอาณาจักรมีราคาเพิ่มขึ้น 43%
ในขณะที่ GDP ต่อหัวของประชากร ตั้งแต่ปี 2007-2020 ลดลง 19%
ถัดมาที่ประเทศเกาหลีใต้
โดยประชากรที่เป็นเจ้าของบ้านมีเพียง 14.7 ล้านคน หรือคิดเป็น 28.4% ของประชากรทั้งหมด
และถ้าหากเรามองให้ลึกเข้าไปในกลุ่มนี้ ก็จะพบว่า วัยที่ถือครองที่อยู่อาศัย มากสุด 3 อันดับแรก คือ
อันดับ 1 คนอายุ 50-59 ปี
อันดับ 2 คนอายุ 40-49 ปี
อันดับ 3 คนอายุ 60-69 ปี
ซึ่งรวม ๆ กันแล้ว คนทั้งสามกลุ่มนี้ จะคิดเป็นเกือบ 70% ของกลุ่มเลยทีเดียว
และสุดท้าย “ฮ่องกง” ดินแดนที่มีตลาดที่อยู่อาศัย “แพงสุดในโลก”
โดยราคาอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกง เฉลี่ยอยู่ที่ 43 ล้านบาท
ในขณะเดียวกัน ค่าครองชีพที่ฮ่องกงก็สูงจนถึงขนาดที่ว่า ในปี 2021 ฮ่องกงติดอันดับ “เมืองที่มีค่าครองชีพสูง เป็นอันดับที่ 5 ของโลก”
แปลว่า นอกจากราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว
ค่าใช้จ่ายแทบทุกสิ่งในชีวิตก็สูงมากด้วยเช่นกัน
ดังนั้น สำหรับบางคนแล้ว ไม่ว่าพวกเขาจะประหยัดมากแค่ไหน ก็ไม่สามารถเก็บเงินได้มากพอสำหรับซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้
สุดท้าย ก็กลายเป็นการบีบให้พวกเขาต้องไปเช่าที่อยู่อาศัย
หรือในอีกกรณีคือ เลือกที่จะไปอาศัยใน “Public Housing” ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยที่รัฐบาลฮ่องกงสร้างไว้ สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งในปัจจุบัน มีชาวฮ่องกงกว่า 45% ที่อาศัยอยู่ใน Public Housing
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่เราได้เล่าไปข้างต้นนี้ เป็นเพียงหนึ่งในแรงกระตุ้นที่ทำให้เกิด Generation Rent
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นอยู่อีกมาก และแต่ละประเทศก็จะมีต้นตอที่แตกต่างกันไป
ยกตัวอย่างเช่น
-ภาวะเงินเฟ้อ ที่ทำให้ราคาที่อยู่อาศัย และดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้น
-การเผชิญ “วิกฤติเศรษฐกิจโลก” หลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะวิกฤติโควิด 19 ที่เกิดขึ้นในช่วงที่คนกลุ่มนี้อยู่ในวัยสร้างเนื้อสร้างตัว
-อสังหาริมทรัพย์ และที่ดินส่วนใหญ่ ตกอยู่ในมือมหาเศรษฐีรุ่นเก่ากลุ่มเล็ก ๆ
-อัตราการจ้างงาน ที่มีน้อยกว่าจำนวนคนจบใหม่มาก จนทำให้คนรุ่นใหม่ประสบปัญหาทางการเงิน
นอกจากนี้ พฤติกรรมของกลุ่ม Generation Rent ก็ยังไม่ได้เกี่ยวข้องกับแค่เรื่องการเช่าที่อยู่อาศัยเท่านั้น
แต่มันยังส่งผลต่อพฤติกรรมต่าง ๆ ของคนเหล่านี้อีกด้วย
อย่างเช่น ในเกาหลีใต้ คนกลุ่มนี้มักจะนิยมใช้เงินไปกับสินค้าฟุ่มเฟือย, แบรนด์หรู และมีไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ เนื่องจากพวกเขารู้ว่าคงจะไม่มีทางเก็บเงินซื้อบ้านได้ไหว
ดังนั้น พวกเขาจึงเลือกใช้เงินไปกับการซื้อสินค้าเหล่านี้
เพื่อเติมเต็มความต้องการอย่างอื่นในชีวิตแทน..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.