จากพนักงานประจำ สู่ เจ้าของร้านกาแฟ และบริษัทเทคโนโลยีพันล้าน
Business

จากพนักงานประจำ สู่ เจ้าของร้านกาแฟ และบริษัทเทคโนโลยีพันล้าน

24 พ.ค. 2022
จากพนักงานประจำ สู่ เจ้าของร้านกาแฟ และบริษัทเทคโนโลยีพันล้าน /โดย ลงทุนเกิร์ล
“อยากลาออก แล้วมาเปิดร้านกาแฟ”
ประโยคนี้น่าจะตรงกับความฝันของใครหลายคน
แต่เมื่อออกมาทำจริง เรื่องราวก็มักจะไม่ได้สวยงามอย่างที่วาดฝันไว้
และถึงแม้ว่าร้านจะขายดี จนสามารถขยายสาขาได้
เราก็ยังสามารถประสบปัญหาได้อยู่ดี
เช่นเดียวกับคุณ Keith Tan ที่ตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อมาสร้างธุรกิจของตัวเอง
ซึ่งแม้ธุรกิจของเขาจะดูไปได้สวย
แต่กลับต้องเผชิญกับปัญหาไม่ต่างกัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต่างออกไปคือ
เขาสามารถต่อยอดปัญหานี้ ให้กลายเป็นบริษัทมูลค่าพันล้านบาทขึ้นมาได้
เส้นทางชีวิตของคุณ Keith Tan น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
คุณ Keith Tan คืออดีตผู้จัดการฝ่ายบริหารความมั่งคั่ง ที่อยากสร้างอะไรสักอย่าง ที่เป็นของตัวเอง เขาจึงตัดสินใจลาออกในปี 2015 และเปิดร้านขายกาแฟในสิงคโปร์
แต่ขณะที่ขยายสาขามาได้ถึงร้านที่ 4 ธุรกิจก็เริ่มสะดุด จากปัญหา “การขาดแรงงาน”
ทั้ง ๆ ที่คุณ Keith Tan มองว่าธุรกิจนี้ยังเติบโตไปได้อีกมาก
นี่เอง จึงเป็นจุดเริ่มต้น ให้เขาพยายามหาทางออกให้กับเรื่องนี้
และคำตอบที่ได้ ก็คือ “เทคโนโลยี”
ในปี 2018 คุณ Keith Tan จึงได้ก่อตั้งสตาร์ตอัปชื่อ Crown Digital เพื่อสร้างเทคโนโลยีอัจฉริยะ สำหรับแก้ปัญหาต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มโดยเฉพาะ
และเทคโนโลยีแรกที่ Crown Digital สร้างก็คือ “Ella” หุ่นยนต์บาริสตาตัวแรกของสิงคโปร์
ที่สามารถทำกาแฟได้หลากหลายเมนู จนแทบไม่ต่างจากบาริสตาที่เป็นมนุษย์
โดย Ella เป็นหุ่นยนต์แขนกล ที่ติดตั้งอยู่ภายในตู้โปร่งใส เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นกระบวนการชงกาแฟ โดยใช้พื้นที่ในการติดตั้งตู้ ประมาณ 5 ตารางเมตร หรือขนาดใหญ่กว่าโต๊ะปิงปองเล็กน้อย และอาศัยการสั่งเครื่องดื่มผ่านแอปพลิเคชัน รวมถึงชำระเงินผ่าน e-wallet
ที่น่าสนใจคือ ปัจจุบัน Crown Digital สามารถทำข้อตกลงกับบริษัทรถไฟของญี่ปุ่นอย่าง East Japan Railway ซึ่งมีเครือข่ายสถานีรถไฟกว่า 1,657 แห่งในญี่ปุ่น ในการนำ Ella ไปติดตั้งที่บางสถานีรถไฟในโตเกียว
รวมถึง มีแผนที่จะติดตั้ง Ella ตามสถานีรถไฟในสิงคโปร์ อีก 30 แห่ง ซึ่งดูแลโดยบริษัท SMRT
โดยบริษัทขนส่งทั้งสองแห่งนี้ ยังลงทุนใน Crown Digital เป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท
ทำให้ในปัจจุบัน บริษัทถูกประเมินมูลค่าไว้ที่ 1,200 ล้านบาท
ถึงแม้ Ella จะเป็นหุ่นยนต์บาริสตาตัวแรกของสิงคโปร์ แต่ก็ไม่ใช่ตัวแรกของโลก
แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้เจ้าหุ่นยนต์นี้ ยังน่าสนใจ ในสายตาของนักลงทุน ?
หากเราลองสังเกตดูดี ๆ จะพบว่า ยุคนี้คือยุคของการนำหุ่นยนต์มาใช้งาน เพื่อแก้ปัญหาทั้งเรื่องต้นทุน ลดเวลาในการทำงาน รวมถึงลดความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์
อย่างในปัจจุบัน เราก็จะพบเห็นได้ทั้งหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร, หุ่นยนต์ในโรงงาน หรือหุ่นยนต์ส่งของ เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน Ella ยังมีความคล้ายกับ “ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ”
ซึ่งมีข้อดีหลายประการ ทั้งประหยัดพื้นที่มากกว่า และมีค่าบำรุงรักษาที่น้อยกว่า เมื่อเทียบกับการเปิดร้าน ที่ใช้คนในการทำงาน
นอกจากนั้น Ella ยังสามารถชงกาแฟได้ 200 แก้วต่อชั่วโมง
และเสิร์ฟกาแฟได้หลายรูปแบบ ไม่ต่างจากบาริสตาจริง ๆ เลย
ที่สำคัญคือ ราคากาแฟต่อแก้วจาก Ella จะตกอยู่ที่ประมาณ 70 บาท
ในขณะที่ร้านอื่น ๆ ของสิงคโปร์ จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 100 บาทต่อแก้ว
ซึ่งความน่าสนใจของ Ella ยังไม่หมดเพียงเท่านี้
เพราะปัจจุบัน อีกหนึ่งเทรนด์พฤติกรรมที่กำลังเติบโต ก็คือ Grab and Go
โดยมีที่มาจากสถานการณ์โรคระบาด ที่ทำให้หลายคนทานข้าวในร้านอาหารนอกบ้านน้อยลง
รวมถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่อำนวยความสะดวกสบาย จนคนยุคนี้รู้สึกไม่อยาก “รอ” อีกต่อไป
ซึ่ง Ella ก็ตอบโจทย์ในข้อนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะลูกค้าสามารถสั่งเครื่องดื่มผ่านช่องทางออนไลน์บนโทรศัพท์มือถือได้
และเมื่อมาถึง Ella ก็สามารถรับสินค้าได้เลยทันที ด้วยการสแกน QR Code เพื่อเปิดช่องรับสินค้า ป้องกันการหยิบเครื่องดื่มผิด
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจนึกถึงตู้เต่าบินของบ้านเรา ที่ก็ได้รับความนิยมจากลูกค้าไม่แพ้กัน เพราะให้ทั้งความสะดวก ให้บริการ 24 ชั่วโมง แถมราคาก็ค่อนข้างถูกกว่าราคาเฉลี่ยของร้านกาแฟทั่วไป ที่ตั้งอยู่ในเมือง
ดังนั้น Ella และตู้เต่าบิน จึงเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่า Grab and Go ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าจับตามอง
ซึ่งนอกจากการชงกาแฟแล้ว ตอนนี้ทาง Crown Digital ก็กำลังเพิ่มฟีเชอร์ “Bytes Station” ให้กับ Ella
โดยลูกค้าจะสามารถสั่งเมนูอาหารสุขภาพได้ เช่น แซนด์วิชเซียบัตตา, เบเกอรี, โปรตีนบาร์ ไปจนถึงสมูททีที่ผสมโปรตีน
เห็นอย่างนี้ ก็คงมีคนเริ่มกังวลแล้วว่า ในอนาคตหุ่นยนต์จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์หรือไม่ ?
สำหรับเรื่องนี้ The World Economic Forum ได้ประมาณการว่าภายในปี 2025
หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์กว่า 85 ล้านตำแหน่ง
แต่ในขณะเดียวกัน หุ่นยนต์ก็จะช่วยสร้างงานให้มนุษย์อีก 97 ล้านตำแหน่งเช่นกัน
อย่างกรณีของ Ella ก็ยังต้องมีผู้คุม ที่คอยดูแลเครื่องจักรผ่านวิดีโอออนไลน์
และยังต้องอาศัยคน ในการเติมวัตถุดิบต่าง ๆ ภายในเครื่อง
สุดท้าย ถึงแม้ว่าหุ่นยนต์จะช่วยตอบโจทย์ให้ได้มากกว่า ในเรื่องของการทำงานแบบไม่ต้องพัก
แต่สำหรับมนุษย์บางคน ก็ยังคงโหยหาการได้พูดคุยกับใครสักคน
แม้จะเป็นแค่การได้พูดคุยระหว่างการรับกาแฟก็ยังดี..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.