หาคำตอบ มะเร็งเต้านม ร้ายกาจแค่ไหน ทำไมยิ่งตรวจเจอ ยิ่งไว ยิ่งช่วยเซฟชีวิต
Health & Beauty

หาคำตอบ มะเร็งเต้านม ร้ายกาจแค่ไหน ทำไมยิ่งตรวจเจอ ยิ่งไว ยิ่งช่วยเซฟชีวิต

22 ก.ย. 2022
Vimut x ลงทุนเกิร์ล
แค่นึกถึง “มะเร็ง” โรคร้ายที่ไม่มีใครอยากให้เกิด หลายคนก็ขยาด
ยิ่งผู้หญิงอย่างเรา ๆ มะเร็งที่น่ากลัวที่สุด คงหนีไม่พ้น “มะเร็งเต้านม”
ซึ่งเป็นมะเร็งที่มีอุบัติการณ์สูงเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมมะเร็งเต้านม ถึงกลายเป็นมฤตยูที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทยมหาศาล ?
และปลายทางของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ต้องตัดเต้านมทิ้ง เพื่อยื้อชีวิตใช่หรือไม่ ?
ลงทุนเกิร์ลชวนทุกคนไปหาคำตอบจาก รศ.นพ.ประกาศิต จิรัปปภา ศัลยแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลวิมุต
ก่อนอื่น รศ.นพ.ประกาศิต บรรยายให้เห็นภาพว่า สถานการณ์มะเร็งเต้านมในประเทศไทย อย่างน่าสนใจว่า
จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2559-2561 พบว่า มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงไทย โดยวัยที่มีแนวโน้มเสี่ยงสูง คือ ผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 50-60 ปี
ความน่ากลัวของมะเร็งเต้านม คือ จนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถหาสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัดได้
แถมยังเป็นภัยเงียบ ที่มักไม่แสดงอาการในระยะแรกเริ่ม
กว่าจะรู้ตัวอีกที ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงเข้าสู่ระยะ 2 หรือ 3 ซึ่งเป็นระยะที่มีการลุกลามของโรค จนทำให้หลายครั้งต้องมีการตัดเต้านมทิ้ง
“ในทางการแพทย์เรารู้เพียงว่า 8-10% ของมะเร็งเต้านม เกิดจากพันธุรรรม ที่ทำให้เกิดความผิดปกติของยีน จนทำให้คนไข้กลุ่มนี้ เป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุยังน้อย
ส่วนอีก 80-90% เป็นกลุ่มที่เป็นมะเร็งเต้านมโดยไม่ทราบสาเหตุ”
แต่พบว่ามีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น
- อายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
- มีประวัติตรวจพบก้อนที่เต้านมมาก่อน หรือมีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม
- ผู้หญิงที่ประจำเดือนมาครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย​ หรือเมื่ออายุมากขึ้น แต่ประจำเดือนไม่หมดสักที รวมไปถึงกลุ่มสาวโสด, ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วไม่มีบุตร, มีบุตรน้อย หรือมีบุตรแล้ว ไม่ได้เลี้ยงด้วยน้ำนมแม่
เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ร่างกายได้รับฮอร์โมนเพศหญิงอย่าง เอสโตรเจน (Estrogen) ยาวนาน โดยไม่มีช่วงที่ร่างกายได้พัก
คำถามคือ ในเมื่อมะเร็งเต้านม ป้องกันไม่ได้ แต่ตรวจเจอแต่เนิ่น ๆ ได้ แล้วเราควรทำอย่างไร ?
รศ.นพ.ประกาศิต บอกว่า ที่ผ่านมาหลายคนมักเข้าใจผิดว่า ถ้าไม่อยากเป็นมะเร็งเต้านม ให้หมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเอง ถ้าคลำเจอก้อนเนื้อ ให้รีบมาพบแพทย์
ซึ่งความเป็นจริงแล้ว การหมั่นตรวจเต้านมเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ไม่ควรรอจนคลำเจอก้อน หรือมีของเหลวไหลออกมาจากหัวนมแล้ว จึงมาพบแพทย์ อาจจะสายเกินไป
เพราะถ้ารอจนมีอาการ แสดงว่า อาการของมะเร็งเต้านม กำลังลุกลามสู่ระยะที่ 2 หรือ 3 แล้ว
ทำให้อัตราการรอดชีวิตลดลง
จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถค้นพบภัยเงียบ อย่างมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม (ระยะศูนย์ หรือระยะที่ 1)
เพราะยิ่งพบร่องรอยของโรคเร็วเท่าไร ยิ่งหมายถึงโอกาสในการรอดชีวิตที่มากขึ้น​
แล้วเราจะทำอย่างไร เพื่อให้ตรวจเจอโรคไว ในเมื่อการหมั่นตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำ ก็อาจจะคลำไม่เจอก้อนหรือความผิดปกติ จึงไม่รู้ว่าป่วย ?
รศ.นพ.ประกาศิต ไขข้อข้องใจว่า ปกติมะเร็งเต้านม จะแสดงอาการเมื่อเข้าสู่ระยะ 2 หรือ 3
ขณะที่มะเร็งเต้านมระยะแรก จะไม่มีอาการ ดังนั้นต่อให้ตรวจเต้านมเองเป็นประจำ ก็อาจจะไม่เจอ
เพราะมะเร็งเต้านมระยะแรก ๆ จะมาด้วยก้อนเล็ก ๆ มีขนาดน้อยกว่า 1 เซนติเมตร ทำให้คลำเจอได้ยาก
ดังนั้น เพื่อเพิ่มความอุ่นใจ รศ.นพ.ประกาศิต แนะนำว่า สำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรมาพบแพทย์ ปีละครั้ง เพื่ออัลตราซาวด์เต้านม
ซึ่งสมัยนี้มีนวัตกรรมที่ก้าวล้ำ ทำให้แพทย์สามารถตรวจพบก้อนเนื้อที่มีขนาด 2-3 มิลลิเมตรได้
หรือถ้าต้องการภาพที่แม่นยำและชัดเจนยิ่งขึ้น คุณหมออาจจะแนะนำให้ตรวจด้วย Three Dimensional (3-D) mammography และ Digital Breast Tomosynthesis (DBT) ซึ่งเป็นเครื่องดิจิทัลแมมโมแกรม เอกซเรย์เต้านมแบบ 3 มิติ สามารถตรวจพบจุดหินปูน ที่มีขนาดเล็กมาก น้อยกว่า 0.5 มิลลิเมตร
และเครื่องอัลตราซาวด์เต้านมซึ่งสามารถตรวจพบก้อนมะเร็ง ขนาดเล็ก ๆ 2-3 มิลลิเมตรได้
ข้อดีของการตรวจเจอตั้งแต่เนิ่น ๆ คือ ทำให้คนไข้มีโอกาสรักษาชีวิต และมีทางเลือกในการรักษามากขึ้นนั่นเอง
เพราะหลายครั้งเมื่อตรวจพบว่า​เป็นมะเร็งเต้านม คนไข้มักกังวลว่าจะต้องสูญเสียเต้านม หรือเสียชีวิตหรือไม่
สำหรับเรื่องนี้ รศ.นพ.ประกาศิต ย้ำชัดว่า ไม่ใช่คนไข้มะเร็งเต้านมทุกคน ต้องตัดเต้านมทิ้ง หรือเสียชีวิต
ถ้าสามารถตรวจเจอตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ
เนื่องจากมีผลวิจัยชี้ชัดแล้วว่า​ ถ้าตรวจพบมะเร็งเต้านม เพียงแค่ 1-2 ก้อน, มีขนาดเล็ก ไม่เกิน 3 เซนติเมตร และผลจากภาพเอกซเรย์ แมมโมแกรม พบว่ามีเนื้องอก แค่ 1-2 จุดใกล้ ๆ กัน และไม่มีเลือดออกที่หัวนม
คนไข้เหล่านี้ สามารถเข้ารับการผ่าตัดแบบสงวนเต้า ด้วยการเอาก้อนมะเร็ง บวกเนื้อดีรอบ ๆ ออก
เพียงแต่หลังผ่าตัด เมื่อแผลหายแล้ว อาจต้องทำการฉายรังสีหรือฉายแสงร่วมด้วย
ข้อดีของการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ คือ มีอัตราการเกิดซ้ำและอัตราการรอดชีวิต เทียบเท่าการผ่าตัดเอาเต้านมออกทั้งเต้า
แต่สำหรับคนไข้บางราย อาจมีมะเร็งก้อนใหญ่ เช่น ขนาด 3-4 เซนติเมตร ไปจนถึง 5-6 เซนติเมตร หรือมีก้อนมะเร็งหลายก้อน และมีเลือดออกที่หัวนม
คนไข้เหล่านี้ ไม่สามารถผ่าแบบอนุรักษ์เต้านม อาจจะต้องตัดเต้านมออกทั้งเต้า
ซึ่งอาจจะฟังดูน่ากลัว แต่คนไข้กลุ่มนี้ ยังมีความหวังและมีทางเลือก ด้วยการผ่าตัดเสริมเต้านมใหม่
สำหรับกรณีนี้ ถ้ามาใช้บริการผ่าตัดที่โรงพยาบาลวิมุต ด้วยจุดแข็งของโรงพยาบาลที่มีทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว คนไข้จึงสามารถเลือกได้ว่า จะผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออก พร้อมให้คุณหมอเสริมเต้านมใหม่ให้ในคราวเดียวกันหรือไม่
พูดง่าย ๆ ว่า ไหน ๆ ก็ตัดเนื้อร้ายออกแล้ว คุณหมอก็จะช่วยเสริมสร้างเต้านมใหม่ให้คนไข้สามารถมั่นใจ กลับไปใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุขเหมือนเดิมด้วย
ทั้งนี้ แนวทางการผ่าตัดเสริมเต้านมใหม่ จะมี ​3 วิธีหลัก ๆ คือ
1. การผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้า แล้วทำเสริมด้วยถุงเต้านมเทียมหรือซิลิโคน
เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด รบกวนคนไข้น้อยที่สุด เหมาะกับคนไข้ที่เต้านมไม่ใหญ่มาก
2. การผ่าตัดเสริมเต้านม ร่วมกับการเสริมเต้านมด้วยกล้ามเนื้อหลัง
สำหรับคนที่ไม่อยากได้ซิลิโคน และเต้านมไม่ใหญ่มาก อาจจะประมาณคัพ B หรือ B+
โดยแพทย์จะผ่าตัดนำเนื้อเยื่อไขมันบวกกล้ามเนื้อหลัง ลอดผ่านรักแร้ มาสร้างเต้านมใหม่
3. การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม ด้วยเนื้อเยื่อบริเวณหน้าท้อง
เหมาะสำหรับคนไข้ที่มีเต้านมที่หย่อนคล้อยมาก เต้านมมีขนาดใหญ่ และมีเนื้อบริเวณหน้าท้องส่วนล่างที่ต่ำกว่าสะดือ ในปริมาณที่มาก
แพทย์สามารถผ่าตัดเอากล้ามเนื้อที่ท้อง มาทำเต้านมใหม่ให้คนไข้ได้
จะเห็นว่า ทั้ง 3 วิธีเป็นเหมือนตัวช่วยที่ทำให้คนไข้ที่ต้องตัดเต้านม สามารถรับมือกับโรคร้ายได้อย่างมีความหวัง
ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดแข็งของคนไข้ ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลวิมุต
เพราะมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่สามารถผ่าตัดเต้านม และเสริมเต้านมให้คนไข้ได้ในคราวเดียว
มาถึงตรงนี้ คงเห็นแล้วว่า มะเร็งเต้านม อาจเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตผู้หญิงทั่วโลกเป็นอันดับ 1 ก็จริง
แต่หากสามารถตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม โอกาสที่จะรักษาก็มากขึ้นตาม..
“บางคนพอคิดจะมารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ก็อาจจะกลัวเจ็บ แต่จริง ๆ แล้ว หมอแต่ละคนก็อาจจะมีเทคนิคในการตรวจที่แตกต่างกัน และไม่ได้ทำให้รู้สึกเจ็บแบบที่หลายคนกังวล
ที่สำคัญ ในเคสคนที่ไปศัลยกรรมหน้าอกก็สามารถมาตรวจได้
เพราะแพทย์จะมีท่าตรวจเฉพาะให้ หรือถ้าจะให้ดี ถ้าอายุไม่ถึง 35 ปี แต่ประสงค์จะเสริมหน้าอก ก็แนะนำให้มาตรวจก่อน อย่างน้อยจะได้อุ่นใจว่า ไม่มีความเสี่ยง หรือความผิดปกติ”
สำหรับคุณผู้หญิง ที่อยากลุกขึ้นมาดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้
โรงพยาบาลวิมุต มีโปรแกรมตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ด้วย Three Dimensional (3-D) mammography และ Digital breast tomosynthesis (DBT) ที่มีความแม่นยำและมีความละเอียดสูง
โดยทีมแพทย์ที่มีความชำนาญ สามารถตรวจหาความผิดปกติตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม แม้ผู้ป่วยยังไม่มีอาการ ในราคา 3,565 บาท
สะดวกและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคดิจิทัลสุด ๆ
เพราะใช้เวลาตรวจประมาณ 30 นาที สามารถรอฟังผล หรือจะดาวน์โหลด APP โรงพยาบาลไว้ เพื่อรับผลออนไลน์ได้เช่นกัน
สุดท้ายนี้ ถ้าถามว่าโปรแกรมนี้ เหมาะกับใคร ?
ต้องบอกว่าเหมาะสำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป แต่เคสคนไข้ที่มีอายุน้อยก็สามารถตรวจได้ ถ้ามีอาการที่ผิดปกติ
เพราะมะเร็งเต้านม อาจจะเป็นภัยเงียบที่น่ากลัว แต่ถ้าเป็นแล้วรู้ไว โอกาสรับมือกับโรคก็มีสูง
ที่สำคัญ สมัยนี้ ยังมีนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ช่วยให้คนไข้สามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ได้เหมือนเดิม..
สอบถามเพิ่มเติม Line : https://lin.ee/PAqG9d4 หรือ เว็บไซต์ https://bit.ly/3bkRM4g
แผนที่โรงพยาบาล : https://goo.gl/maps/EjdDBBVdpB1iJZ7H9
ขั้นตอนการตรวจแมมโมแกรม
1. Register ที่ CS ชั้น 1
2. ติดต่อ ศูนย์เต้านม ที่ศูนย์ศัลยกรรม ชั้น 4
พยาบาลดูแลชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง สัญญาณชีพ
3. ไป Check up ชั้น 6 ทำ Mammogram และ Ultrasound เต้านม (ใช้เวลาประมาณ 30 นาที)
4. กลับมาที่ ศูนย์เต้านม ที่ศูนย์ศัลยกรรม ชั้น 4 เพื่อพบแพทย์ เพื่อฟังผล
References
-สัมภาษณ์โดยตรงจาก รศ.นพ.ประกาศิต จิรัปปภา ศัลยแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านมะเร็งเต้านม ศูนย์เต้านม โรงพยาบาลวิมุต
-หนังสือนวัตกรรมงานบริการพยาธิวิทยาเพื่อการรักษาโรคมะเร็งเต้านมแบบองค์รวม จัดทำโดย รศ.พญ.สุพินดา คูณมี อาจารย์ประจำภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.