สตาร์ตอัป ที่เปลี่ยนมลพิษในอากาศ ให้กลายเป็น “หมึกปากกา”
Business

สตาร์ตอัป ที่เปลี่ยนมลพิษในอากาศ ให้กลายเป็น “หมึกปากกา”

23 ก.ย. 2022
สตาร์ตอัป ที่เปลี่ยนมลพิษในอากาศ ให้กลายเป็น “หมึกปากกา” /โดยลงทุนเกิร์ล
มลพิษทางอากาศ ได้พรากชีวิตคนทั่วโลก ไปกว่า 7 ล้านคนต่อปี หรือหากพูดให้ใกล้ตัวอีกนิด คือในทุก ๆ 1 นาที จะมีคนเสียชีวิตถึง 13 คน
ซึ่งที่มาของเรื่องนี้ ก็เป็นเพราะอากาศ ที่เต็มไปด้วยก๊าซอันตราย และฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM2.5 ที่ถูกสะสม และทำร้ายระบบทางเดินหายใจของเรา
แน่นอนว่าปัญหานี้ หลายคนเห็นแล้วไม่ได้นิ่งดูดาย และพยายามหาทางแก้ไข ตามบริบทของตนเอง
แต่มีอยู่ธุรกิจหนึ่ง ที่แก้ไขปัญหานี้ได้อย่างล้ำยุค โดยพวกเขาได้เปลี่ยน “มลพิษในอากาศ” ให้เป็น “หมึกปากกา” ที่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งบนงานศิลปะ และงานพิมพ์ต่าง ๆ
ซึ่งหมึกปากกาที่เรากำลังพูดถึงนี้ เป็นผลงานของสตาร์ตอัปจากอินเดีย ที่ชื่อว่า Graviky Labs
และที่น่าสนใจ คือ น้ำหมึก ในปริมาณเพียง 30 มิลลิลิตร เทียบเท่ากับ จำนวนมลพิษที่ปล่อยออกมา จากรถยนต์ ถึง 40-50 นาทีเลยทีเดียว
แล้ว Graviky Labs จะต่อยอดนวัตกรรมนี้ ได้น่าสนใจแค่ไหน ?
และจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ มีที่มาอย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ไอเดียธุรกิจสุดรักษ์โลกนี้ เกิดขึ้นจากคุณ Anirudh Sharma ในตอนที่เขายังเป็นนักศึกษา อยู่ที่สหรัฐอเมริกา ในมหาวิทยาลัย MIT ที่ขึ้นชื่อในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
แต่ทว่า ในช่วงที่เขากลับมาเยี่ยมบ้านเกิด ที่เมืองเบงคลูรู ในประเทศอินเดีย และบังเอิญได้ถ่ายภาพที่ติดผนัง กำแพงสีขาว ซึ่งเปื้อนไปด้วย รอยเขม่าควันสีดำ จากท่อไอเสียรถยนต์
จึงทำให้เขาเกิดความคิดว่า ถ้าลองมองดี ๆ แล้ว เขม่าควันดำ บนกำแพงพวกนี้ ก็ดูเหมือนการเพนต์สีบนผนัง เพียงแต่สีที่ใช้ มาจากควันดำของรถยนต์เท่านั้น
จากจุดนี้จึงกลายเป็น แนวคิด ให้เขาเชื่อมโยงความสงสัยต่อไปว่า ระหว่างเขม่าควันกับหมึกสีดำนั้น มีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ ?
ซึ่งคุณ Sharma ก็ได้พบว่า จริง ๆ แล้วหมึกสีดำที่เราใช้กัน ไม่ว่าจะเป็นหมึกปากกา หรือหมึกพิมพ์ ล้วนแล้วแต่มี “คาร์บอนแบล็ก” หรือก็คือ ผงคาร์บอนสีดำ เป็นองค์ประกอบ
โดยผงคาร์บอนสีดำนี้ จะได้มาจากส่วนที่หลงเหลือ ของการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน และน้ำมัน ซึ่งปกติแล้ว ผงคาร์บอนนี้มักจะนิยมนำมาผสมเข้ากับพอลิเมอร์ และตัวทำละลาย เพื่อเปลี่ยนให้เป็น น้ำหมึกปากกา อย่างที่เราใช้กัน นั่นเอง
ดังนั้น คุณ Sharma จึงคิดว่า ถ้าหากเปลี่ยนจากการเผาไหม้ในระดับอุตสาหกรรม ให้กลายมาเป็นการเผาไหม้ ที่ได้จากท่อรถยนต์ เพื่อนำคาร์บอนที่ได้ มาผลิตเป็นน้ำหมึกแทน จะได้หรือไม่ ?
ซึ่งหากสมมติฐานของคุณ Sharma ทำได้จริง มันไม่เพียงแต่จะช่วยลดปริมาณมลพิษ ที่ปล่อยจากรถยนต์สู่อากาศได้เท่านั้น
แต่มันยังช่วยเปลี่ยนมลพิษให้เป็นนวัตกรรมใหม่ ที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน ได้อีกด้วย
พอเป็นแบบนี้ คุณ Sharma จึงเก็บไอเดียนี้ กลับมาทดลองอย่างจริงจัง ภายหลังเรียนจบในปี 2014 โดยอาศัยพื้นที่โรงจอดรถของที่บ้านเป็นห้องทดลอง
แล้ววิธีการสร้าง “น้ำหมึก” จาก “มลพิษในอากาศ” ของคุณ Sharma เป็นอย่างไร ?
ไอเดียแรกเริ่ม คือพัฒนาอุปกรณ์ เพื่อดักจับเขม่าควันดำหรือคาร์บอน ก่อนถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ
ซึ่งคุณ Sharma ได้ออกแบบอุปกรณ์ชนิดนี้ ให้สามารถติดตั้งได้ ทั้งกับท่อไอเสียรถยนต์ ปล่องควันเครื่องจักรขนาดเล็ก รวมไปถึงการดักจับจากอากาศได้โดยตรง
และเมื่อได้เขม่าควัน หรือมลพิษในอากาศมาแล้ว มันจะถูกนำไปผ่านกระบวนการในห้องแล็บ เพื่อแยกฝุ่น โลหะหนัก และสารก่อมะเร็งออก ให้เหลือเพียงแค่ผงคาร์บอนแบล็กเท่านั้น ก่อนนำไปผสมกับตัวทำละลาย จนได้เป็นน้ำหมึก ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง
ซึ่งคุณ Sharma ได้ตั้งชื่อน้ำหมึกที่ผลิตได้ นี้ว่า AIR-INK ที่แปลตรงตัวได้ว่า “หมึกจากอากาศ”
ที่น่าสนใจก็คือ การใช้น้ำหมึกของ AIR-INK ในปริมาณเพียง 30 มิลลิลิตร เทียบเท่ากับการช่วยลดมลพิษที่ปล่อยออกมาจากรถยนต์ ได้ถึง 40-50 นาทีเลยทีเดียว
และเมื่อถึงเวลา ที่พร้อมจะแบ่งปันผลิตภัณฑ์ให้กับคนทั่วโลก คุณ Sharma จึงได้ก่อตั้งบริษัท Graviky Labs ขึ้นในปี 2016 โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือ ศิลปินด้านงานศิลปะ
เพราะคุณ Sharma มีความตั้งใจ อยากให้หยดหมึก ที่ผลิตจากสิ่งที่ดูเหมือนไร้ค่า อย่าง “มลพิษในอากาศ” ได้ถูกแต่งแต้มลงบนงานศิลปะ ได้อย่างมีคุณค่า นั่นเอง
โดยผลิตภัณฑ์ที่ใช้หมึก AIR-INK นั้น จะมีทั้งมาร์กเกอร์ สำหรับงานเขียนและออกแบบ ไปจนถึง หมึกสำหรับงานพิมพ์
อย่างไรก็ตาม ในปี 2017 คุณ Sharma ได้พยายามหาช่องทางขยายธุรกิจให้มากขึ้น เขาจึงนำสินค้าและโปรเจกต์ ไปเสนอลงแพลตฟอร์ม ที่ชื่อว่า Kickstarter
ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม ที่เป็นตัวกลางให้กับคนที่มีไอเดียเจ๋ง ๆ ได้มาเจอกับนักลงทุน หรือบุคคลทั่วไป ที่อยากช่วยสนับสนุนเงินทุน ให้โปรเจกต์นั้นสร้างสินค้า หรือนวัตกรรมออกมา
และโปรเจกต์ของเขาก็ได้รับเงินทุนสนับสนุนในครั้งนั้นไปกว่า 1 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 1 เดือน
โดยเงินทุนส่วนนี้คุณ Sharma ได้นำไปขยายการผลิตให้ได้มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาส ในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า รวมถึงการพัฒนาการผลิตให้ดียิ่งขึ้นตามไปด้วย เพราะคุณภาพของสินค้า ถือเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน
แล้วตอนนี้ Graviky Labs ได้รับความนิยมมากแค่ไหน ?
ปัจจุบัน AIR-INK ของ Graviky Labs เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น และยังได้ร่วมงานกับแบรนด์ดัง ๆ ระดับโลก เช่น
-PANGAIA แบรนด์แฟชั่นรักษ์โลก ที่ใช้หมึก AIR-INK ในการพิมพ์ลายสกรีนบนเสื้อผ้า
-Mastercard แบรนด์บัตรเครดิต ที่นำหมึก AIR-INK มาพิมพ์ลงบนบัตร DO Black หรือบัตรเครดิตใบแรกของโลก ที่มีคาร์บอนลิมิต
-Johnnie Walker แบรนด์สกอตวิสกี้ชั้นนำ กับการนำหมึก AIR-INK มาสร้างสรรค์งานศิลปะ บนขวดบรรจุภัณฑ์
เรียกได้ว่า การได้จับมือกับแบรนด์ชั้นนำเหล่านี้ เปรียบเสมือนอีกหนึ่งก้าวสำคัญของ Graviky Labs เลยก็ว่าได้
เพราะนอกจากจะได้โอกาส ในการเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นแล้ว ยังได้โอกาสในการแสดงจุดยืนด้านความยั่งยืนอีกด้วย
ซึ่งถ้าหากเราลองเปลี่ยนมุมกลับ ปรับมุมมองใหม่ เหมือนอย่าง Graviky Labs ไม่แน่ว่าสิ่งที่ดูเหมือนไม่มีค่า อาจสร้างประโยชน์ และต่อยอดได้มากกว่าที่เราคิด อย่างไม่น่าเชื่อ ก็เป็นได้
และที่สำคัญ คือ เรื่องนี้ยังทำให้เราได้รับรู้ว่า จริง ๆ แล้ว “มลพิษไม่ใช่ของไร้ค่า แต่มันอาจเป็นทรัพยากร ที่เรายังไม่เก็บเกี่ยว”
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.