อะยัม ปลากระป๋องไฮโซ ทำอย่างไรให้คนยอมจ่าย ?
Business

อะยัม ปลากระป๋องไฮโซ ทำอย่างไรให้คนยอมจ่าย ?

27 มี.ค. 2023
อะยัม ปลากระป๋องไฮโซ ทำอย่างไรให้คนยอมจ่าย ? /โดย ลงทุนเกิร์ล
“ปลากระป๋อง” อาหารสำเร็จรูปที่หลายคนมักนึกถึงในช่วงปลายเดือน ตัวช่วยสร้างรสชาติในราคาย่อมเยา เก็บได้นาน แถมยังนำมาปรุงอาหารได้หลายเมนู
แต่อาจไม่ใช่กับ “อะยัม (Ayam)” ปลากระป๋อง ที่มีราคาเริ่มต้นที่ 36 บาทไปจนถึงเกือบ 100 บาท ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยราคาปลากระป๋องในท้องตลาดของไทย เกือบเท่าตัว
แต่ปลากระป๋องอะยัม ยังคงขายดีและเติบโตมาตลอด 131 ปี
ปลากระป๋องอะยัม มีที่มาอย่างไร ?
แล้วทำไมคนถึงยอมจ่ายค่าปลากระป๋อง ในราคาพอ ๆ กับข้าวแกง ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ปลากระป๋องสีแดงเหลืองโลโกรูปไก่แจ้ กระป๋องแรก เกิดขึ้นในปี 1892 หรือราว 131 ปีมาแล้ว
โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากคุณอัลเฟรด คูเอท์ (Alfred Clouët) นักสำรวจชาวฝรั่งเศส
ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงศตวรรษที่ 18-19 ที่ประเทศมหาอำนาจ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ต่างมุ่งหน้าล่าอาณานิคมในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คุณคูเอท์ ก็เป็นหนึ่งในชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมาที่สิงคโปร์ ในฐานะผู้จัดหาอาหารและวัสดุก่อสร้าง ให้กับชาวยุโรปที่มาอยู่ต่างบ้านต่างเมือง
โดยคุณคูเอท์ ทำธุรกิจบริษัทนำเข้า-ส่งออกในนาม A. Clouet & Co. ซึ่งในช่วงแรก บริษัทได้นำเข้าช็อกโกแลต, ไวน์ และน้ำหอม
จนกระทั่งในปี 1899 เขาสังเกตเห็นว่าปัญหาอย่างหนึ่งที่ชาวยุโรปในต่างถิ่นต้องเจอคือ “อาหารไม่ถูกปาก” ทำให้ต้องนำเข้าอาหารจากตะวันตกเข้ามา เพื่อบริโภคอยู่ตลอด
จุดนี้นี่เองที่ทำให้คุณคูเอท์ เริ่มนำเข้าปลากระป๋องจากฝรั่งเศส เพื่อจำหน่ายให้กับชาวยุโรปในสิงคโปร์ โดยเฉพาะกลุ่มข้าหลวงและทหาร
จนปิ๊งไอเดียสร้างแบรนด์ปลาซาร์ดีนบรรจุกระป๋องของตัวเอง ภายใต้ชื่อแบรนด์ “A. Clouët” เหมือนกับชื่อของเขา วางขายในสิงคโปร์และมาเลเซีย บริเวณคาบสมุทรมลายู
ต่อมา หลังจากที่ทำแบรนด์ปลากระป๋องของตัวเองได้ไม่นาน สินค้าก็ได้รับความนิยมและติดตลาดอย่างรวดเร็ว
ซึ่งสาเหตุที่ขายดิบขายดี ก็เพราะสามารถแก้ปัญหาด้านอาหารการกินในยุคนั้นได้อย่างตรงจุด
ทั้งสะอาด สามารถเก็บรักษาอาหารในสภาพเดิมได้ โดยไม่ต้องกังวลเวลาจัดส่งไปต่างประเทศเป็นเวลานาน
อีกทั้งรสชาติปลาในซอสมะเขือเทศ ก็คุ้นลิ้นชาวตะวันตกเป็นอย่างดี แถมยังได้รับความสนใจจากคนเอเชียที่ยังไม่มีนวัตกรรมถนอมอาหารในกระป๋องแบบนี้มาก่อน
ณ เวลานั้นแบรนด์ A. Clouët จึงถือเป็นปลากระป๋องยุคบุกเบิกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แทบไม่มีคู่แข่งมาแย่งส่วนแบ่งในตลาดเลย
แล้วทำไมแบรนด์ A. Clouët ถึงกลายเป็น Ayam ในทุกวันนี้ ?
ปลากระป๋อง A. Clouët ขยายตลาดออกไปเรื่อย ๆ จนใคร ๆ ก็จดจำโลโก “ไก่แจ้” บนกระป๋องสีแดงเหลืองได้เป็นอย่างดี จนมีชื่อติดปากในภาษามาเลเซีย ว่า "Chop Ayam" ที่แปลว่า "ตราไก่"
และนี่ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้บริษัทเปลี่ยนชื่อจาก A. Clouët มาใช้ชื่อ Ayam ในเวลาต่อมา ซึ่งการตัดสินใจในครั้งนั้นก็ถือว่ามาถูกทาง เพราะทำให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ง่ายมากขึ้น
ประกอบกับต้นทุนในการผลิตที่เริ่มต่ำลง เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ส่งผลให้ราคาปลากระป๋องไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกลุ่มคนมีเงินเหมือนช่วงแรก ๆ
เมื่อราคาเข้าถึงได้มากขึ้น ฐานลูกค้าก็กว้างขึ้น กิจการปลากระป๋องที่ดูไปได้สวยนี้ ก็ไปเข้าตาบริษัทของครอบครัว Denis Frères ซึ่งปัจจุบันคือ Denis Group กลุ่มบริษัทเก่าแก่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ทำให้บริษัท A. Clouët ถูกเข้าซื้อกิจการโดย Denis Group ในปี 1954
นับตั้งแต่ตอนนั้นแบรนด์อะยัม ก็อยู่ภายใต้ Denis Group ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้จัดจำหน่ายแบรนด์ Ayam Brand™ และ Ayam™ ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว
อย่างไรก็ตาม แม้เจ้าของแบรนด์ จะอยู่ไกลถึงสวิตเซอร์แลนด์ แต่ผลิตภัณฑ์แบรนด์อะยัมในปัจจุบัน ก็ยังผลิตที่บริษัท มาฟิโปร เอสดีเอ็น บีเอชดี ไทปิง ประเทศมาเลเซียเหมือนเดิม
ซึ่งในทุก ๆ ปี อะยัมมีการผลิตสินค้ามากกว่า 60 ล้านกระป๋อง จาก 5 โรงงานผลิต และกระจายออกไปจำหน่ายมากกว่า 30 ประเทศ ใน 4 ทวีป เช่น ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา
รวมถึงประเทศไทยที่มี บริษัท พาณิชยการแห่งประเทศไทย จำกัด เป็นตัวแทนนำเข้ามาจำหน่าย
ด้วยความที่ อะยัม เป็นสินค้านำเข้า จึงมีราคาสูงกว่าปลากระป๋องในท้องตลาดของไทยที่ผลิตในประเทศ โดยปลากระป๋องอะยัม มีราคาเริ่มต้นที่ 36 บาท ในขณะที่แบรนด์ที่ผลิตในประเทศ มีราคาเฉลี่ยไม่ถึง 20 บาท เมื่อเทียบในปริมาณที่เท่ากัน
สิ่งที่น่าสนใจคือ อะยัม ทำอย่างไรให้คนอยากซื้อ แม้มีแบรนด์ปลากระป๋องที่ราคาต่ำกว่า รายล้อม ?
เรื่องแรกคือ แบรนด์ที่แข็งแกร่ง
แบรนด์ที่สามารถยืนระยะมาได้ถึง 131 ปี แถมยังเห็นได้แทบทุกเชลฟ์อาหารกระป๋องที่มีในแทบทุกซูเปอร์มาร์เก็ตในหลายประเทศ สะท้อนว่าอะยัม ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคอย่างไม่ขาดสาย
ยิ่งไปกว่านั้นคือ หน้าตาดิไซน์สุดคลาสสิก ที่แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาตลอดระยะเวลาร้อยกว่าปี ทำให้เกิดภาพจำ แม้ไม่เคยซื้อสักครั้ง แต่ก็ต้องเคยเห็นปลากระป๋องรูปไก่แจ้นี้ผ่านตากันมาบ้าง
เรื่องที่สองคือ นวัตกรรม
อะยัมนับเป็นแบรนด์แรก ๆ ที่มีการวิจัยและพัฒนาในกลุ่มสินค้ากระป๋องในประเทศมาเลเซีย ซึ่งสิ่งนี้เองช่วยให้เป็นผู้นำในตลาด เช่น ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย เป็นไปตามมาตรฐานสากล และการรับรองที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก (HACCP, ISO 9001) รวมไปถึงมาตรฐานอาหาร “ฮาลาล”
ทำให้ผู้บริโภครู้สึกมั่นใจในคุณภาพ ความสะอาด และความปลอดภัยในสินค้าของแบรนด์
นอกจากนี้ปลากระป๋อง ตราอะยัม เคลมว่าไม่ใส่วัตถุกันเสีย ปราศจากไขมันทรานส์ ไม่ใช้ผงชูรส ปราศจากสารก่อภูมิแพ้ และสีสังเคราะห์ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นได้ไม่ยาก
เรื่องสุดท้ายคือ รสชาติ
แม้จะเป็นปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศเหมือนกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแต่ละแบรนด์ต่างก็มีวัตถุดิบ สูตรในการปรุง ขนาดของปลา และกรรมวิธีต่าง ๆ ที่ทำให้รสชาติและหน้าตาออกมาไม่เหมือนกัน
ซึ่งอะยัมเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่มักถูกพูดถึงในเรื่องของรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้คนที่ชื่นชอบในรสชาติของอะยัมอยู่แล้วไม่อยากเปลี่ยนใจไปซื้อแบรนด์อื่น แม้จะราคาสูงกว่า
สรุปแล้ว อะยัม เป็นแบรนด์ปลากระป๋อง ที่มีเส้นทางและประวัติอันยาวนานถึง 131 ปี
แต่ตลอดร้อยปีที่ผ่านมา อะยัม ก็สามารถเติบโตและยืนหยัดในตลาดได้ ด้วยจุดแข็งเรื่องของแบรนดิง, นวัตกรรม, คุณภาพ และรสชาติ ที่เป็นเอกลักษณ์
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ถือว่ามีคุณค่าในสายตาของลูกค้า ที่ทำให้ลูกค้ายอมจ่าย แม้ราคาจะสูงกว่าปลากระป๋องทั่วไป นั่นเอง..
-----------------------------------------------------------------------
Presented by กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป พุ่งเป้าพัฒนาธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) เพื่อเข้ามาเติมเต็มและต่อจิกซอว์เทรนด์ไลฟ์สไตล์ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น หลังจากประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับอย่างดีจากกลุ่มลูกค้าชาวไทยและต่างชาติที่มาใช้บริการร้าน Marimekko Pop-Up Café คาเฟแห่งแรกในโลก พร้อมเดินหน้าปูทางธุรกิจ F&B ภายใต้แบรนด์อื่นในเครือ หวังเจาะตลาดกลุ่มลูกค้า Gen Y - Gen Z มากขึ้น
https://www.facebook.com/TANACHIRA-GROUP-174055739828807/
#TANACHIRA #MarimekkoCafeThailand
-----------------------------------------------------------------------
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.