ไขข้อสงสัย ทำไม Pepper Lunch ถึงใช้ “กระทะร้อน” เสิร์ฟอาหาร
Business

ไขข้อสงสัย ทำไม Pepper Lunch ถึงใช้ “กระทะร้อน” เสิร์ฟอาหาร

1 ต.ค. 2023
ไขข้อสงสัย ทำไม Pepper Lunch ถึงใช้ “กระทะร้อน” เสิร์ฟอาหาร /โดย ลงทุนเกิร์ล
หากพูดถึงเชนร้านสเต๊กจานด่วนขึ้นห้าง สไตล์ญี่ปุ่น ที่เสิร์ฟด้วย “กระทะร้อน” อันเป็นซิกเนเชอร์ มาพร้อมกับเสียงร้องฉ่า ตั้งแต่อาหารยังไม่ทันถึงโต๊ะ
แน่นอนว่า คนส่วนใหญ่จะต้องนึกถึง “Pepper Lunch”
แล้วเคยสงสัยกันไหมว่า ทำไม Pepper Lunch ต้องใช้กระทะร้อนมาเสิร์ฟอาหาร
เรื่องนี้อาจมองได้ว่าเป็นกิมมิกของแบรนด์ ซึ่งก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะยังมีอีกหลายเหตุผลซ่อนอยู่
เรื่องราวของ Pepper Lunch น่าสนใจอย่างไร ?
แล้วอะไรคือเบื้องหลังของการใช้กระทะร้อน ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปในปี 1970 มีพ่อครัวชาวญี่ปุ่น ที่ชื่อว่าคุณ Kunio Ichinose ได้เปิดร้านอาหาร Kitchen Kuni
ซึ่งกิจการของเขาก็ดำเนินไปได้ด้วยดี และค่อย ๆ ขยายสาขาเพิ่มมากขึ้น
แต่แล้วจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้น
เมื่อคุณ Ichinose พบกับแผ่นกระทะเหล็กโดยบังเอิญ ซึ่งบรรยายสรรพคุณไว้ว่า “สามารถปรุงอาหารได้ด้วยตัวเอง ภายในระยะเวลาไม่นาน” เขาจึงตัดสินใจซื้อมันกลับบ้าน
ต่อมา ภรรยาของของเขาก็ได้นำแผ่นกระทะเหล็กนี้ มาใช้เสิร์ฟมื้อค่ำ เมนูเนื้อวัวสไลซ์ ผัดกับข้าวร้อน ๆ ปรุงรสด้วยพริกไทยและซีอิ๊ว
พอคุณ Ichinose ได้ลองชิมรสชาติก็ติดใจทันที จึงไม่ลังเลที่จะเพิ่มอาหารจานนี้ในชื่อ “Beef Pepper Rice” ลงในเมนูที่ร้านของเขา สาขาหนึ่งในโตเกียว
ซึ่งในทีแรก ทุกครั้งก่อนเสิร์ฟ Beef Pepper Rice ให้ลูกค้า เขาจะนำกระทะเหล็กมาอุ่นบนเตาแก๊ส ไว้ล่วงหน้าเป็นเวลา 6 นาที เพื่อให้กระทะเก็บความร้อน
เมื่อลูกค้าคลุกเคล้าข้าว ซอส และเนื้อวัวก็จะค่อย ๆ สุกพร้อมกับส่งกลิ่นหอมฉุยเรียกน้ำย่อย
อย่างไรก็ตาม คุณ Ichinose ก็ไม่คิดจะหยุดพัฒนาสินค้าเพียงแค่นี้ และยังคงหาทางก้าวนำหน้าคู่แข่งอยู่เสมอ
ด้วยการร่วมมือกับบริษัทพลังงานไฟฟ้าและผู้ผลิตเครื่องมือในครัว พัฒนากระทะเหล็กธรรมดาให้กลายเป็น “กระทะแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังสูง”
ซึ่งควบคุมอุณหภูมิได้สูงถึง 260 องศาเซลเซียส ภายในเวลา 70 วินาที และเมื่อถึงอุณหภูมิที่กำหนดไว้ กระทะจะยังคงรักษาความร้อนที่พอเหมาะต่อไปได้นานถึง 20 นาที
วิธีนี้ช่วยให้อาหารเสิร์ฟถึงมือลูกค้าไว้ขึ้น เพราะพ่อครัวไม่ต้องคอยนั่งปรับความร้อนเองอีกต่อไป
ที่สำคัญ ยังเป็นจังหวะเวลาที่ดี เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดเสรีการนำเข้าเนื้อวัว และค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างประเทศ ทำให้การนำเข้าเนื้อวัวมีราคาถูกลง
ทำให้คุณ Ichinose สามารถหาเนื้อวัวคุณภาพดี ในราคาต่ำกว่าเดิม มาเสิร์ฟเป็นสเต๊กและข้าวหน้าเนื้อจานด่วนแสนอร่อย ในราคาย่อมเยาให้แก่ลูกค้าได้อีกด้วย
และเมื่อธุรกิจดำเนินไปเรื่อย ๆ คุณ Ichinose ก็เริ่มมองหาพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อพัฒนาธุรกิจนี้ต่อไป
เขาจึงนำแนวคิดธุรกิจและความพิเศษของกระทะนี้ ไปนำเสนอในงานแสดงสินค้าร้านอาหาร
จนได้พบกับคุณ Norio Yajima นักธุรกิจและอดีตเชฟ ที่ฝันอยากมีร้านอาหารเป็นของตนเอง
โดยคุณ Yajima สนใจโมเดลธุรกิจและนวัตกรรมกระทะร้อนของคุณ Ichinose เป็นอย่างมาก เขาจึงไม่ลังเลที่จะมาร่วมเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ
หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ขะมักเขม้นกับการวางแผนธุรกิจ จนในที่สุดก็พัฒนาจากร้านอาหารเล็ก ๆ ไปสู่การก่อตั้งเป็น Pepper Lunch ในรูปแบบบริษัทเป็นครั้งแรก ในปี 1994
โดยวันแรกที่เปิดทำการ คุณ Ichinose เสิร์ฟเมนูสเต๊กกระทะร้อน ไปมากกว่า 500 กระทะ และลูกค้ายังหลั่งไหลมาอุดหนุนกันอย่างไม่ขาดสาย
จากนั้น Pepper Lunch ก็ค่อย ๆ เติบโตอย่างต่อเนื่อง
-ในปี 2000 เริ่มขยายสาขา ในรูปแบบแฟรนไชส์
-ในปี 2003 ขยายสาขาไปยังนอกประเทศเป็นครั้งแรก ที่ประเทศเกาหลีใต้
-ในปี 2006 บริษัทจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์โตเกียว
-ในปี 2012 Pepper Lunch ขยายสาขาในต่างประเทศครบ 100 สาขา
ปัจจุบัน Pepper Lunch มีสาขามากกว่า 500 สาขา ใน 15 ประเทศทั่วโลก
รวมถึงในประเทศไทย ที่นำเข้ามาโดยบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG เจ้าของเชนร้านอาหารที่หลายคนคุ้นเคย เช่น​ KFC, Chabuton, Yoshinoya, Ootoya และอีกมากมาย
อย่างไรก็ตาม การขยายธุรกิจของ Pepper Lunch ให้ไปไกลระดับโลกเช่นนี้ คงไม่ได้เน้นแค่กลยุทธ์การบริการที่รวดเร็ว หรือสร้างการจดจำแบรนด์ จากนวัตกรรมกระทะร้อนเท่านั้น
แต่ทั้งสองผู้ก่อตั้งยังมองว่า ธุรกิจจะยั่งยืนต่อไปได้ เรื่องคุณภาพของอาหาร และการปรับตัวให้เข้ากับแต่ละประเทศที่ไปตีตลาด ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน
อย่างในประเทศที่เคร่งศาสนาและวัฒนธรรมการกิน รูปแบบเมนูและรสชาติอาหาร ก็จะถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับลูกค้า
หรือการปรับรูปแบบที่นั่งภายในร้านให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่เน้นเจาะกลุ่มพนักงานบริษัท ก็จะจัดโต๊ะแบบเคาน์เตอร์ สำหรับทานคนเดียว แต่สำหรับประเทศที่เจาะกลุ่มครอบครัว ก็จะจัดโต๊ะให้มีขนาดที่ใหญ่ และมีหลายที่นั่งรองรับแทน
ซึ่งจากความใส่ใจรายละเอียด และการพยายามทำความเข้าใจ Insight ของลูกค้า จึงทำให้ Pepper Lunch สามารถเข้าไปอยู่ในใจลูกค้าได้ไม่ยาก
อ่านมาถึงตรงนี้ ถือได้ว่าความสำเร็จของ Pepper Lunch ไม่ได้อยู่ที่การเป็น “เจ้าแรกในตลาด” เพียงอย่างเดียว
แต่ “การไม่หยุดพัฒนาตัวเอง” ก็เป็นกุญแจแห่งความสำเร็จ ได้เช่นกัน
เพราะลองคิดดูว่า ถ้าคุณ Ichinose หยุดแนวคิดการเสิร์ฟอาหารแบบกระทะร้อนอยู่แค่นั้น เพราะคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าแรกในตลาดอยู่แล้ว
สุดท้ายคู่แข่งก็สามารถเลียนแบบได้อยู่ดี และในวันนี้เราอาจไม่เคยได้เห็น เชนร้านสเต๊กกระทะร้อน อย่าง Pepper Lunch ก็เป็นได้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.