
Business
ทำไม วอร์เรน บัฟเฟตต์ ร่ำรวยมหาศาล แต่เคยพูดว่า “เขาจ่ายภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าเลขาของตัวเอง”
11 เม.ย. 2025
ทำไม วอร์เรน บัฟเฟตต์ ร่ำรวยมหาศาล แต่เคยพูดว่า “เขาจ่ายภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าเลขาของตัวเอง” /โดย ลงทุนเกิร์ล
หากพูดถึง “คุณวอร์เรน บัฟเฟตต์” มหาเศรษฐีระดับโลก, นักลงทุนผู้ทรงอิทธิพล และเจ้าของบริษัท Berkshire Hathaway
ซึ่งตามหลักทั่วไป คนที่ทำรายได้เยอะขนาดนี้ ควรจะเสียภาษีเงินได้ในอัตราที่สูงมาก หรืออย่างน้อย ก็ต้องมากกว่าพนักงานในบริษัทของตน
แต่รู้หรือไม่ว่า ในปี 2007 คุณบัฟเฟตต์จ่ายภาษีในอัตรารวม 17.7%
แต่พนักงานในบริษัทของเขา กลับจ่ายภาษีในอัตราเฉลี่ย 32.9%
แต่พนักงานในบริษัทของเขา กลับจ่ายภาษีในอัตราเฉลี่ย 32.9%
แถมเขายังเคยออกมาพูดอยู่บ่อยครั้งว่า “เขาจ่ายภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าเลขานุการของตัวเอง” เสียอีก
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
หากอ้างอิงการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes ปัจจุบัน คุณบัฟเฟตต์ มีทรัพย์สินมูลค่าราว 5.4 ล้านล้านบาท และเป็นคนที่รวยติดอันดับต้น ๆ ของโลกอยู่เสมอ
แหล่งที่มาหลักของรายได้ มาจากบริษัทที่เขาก่อตั้งที่ชื่อว่า Berkshire Hathaway ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิง หรือ บริษัทที่มีรายได้จากการเข้าไปลงทุนถือหุ้นในบริษัทอื่น ๆ เช่น Apple, Bank of America และ Coca-Cola
เมื่อบริษัทของหุ้นที่เขาถือเหล่านี้มีผลประกอบการที่ดี ก็มีแนวโน้มที่ราคาหุ้นจะปรับตัวสูงขึ้น จึงทำให้บริษัท Berkshire Hathaway มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และทำให้ทรัพย์สินของคุณบัฟเฟตต์ เพิ่มขึ้นมหาศาล
สรุปง่าย ๆ ก็คือ คุณบัฟเฟตต์ ร่ำรวยจาก “การเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น” ที่เขาถืออยู่ ไม่ใช่เงินเดือนหรือโบนัส
ซึ่งตามหลักการคิดภาษีจะขึ้นอยู่กับประเภทแหล่งที่มาของรายได้
ดังนั้นเราจึงต้องเปรียบเทียบการคิดภาษี 2 แบบ ซึ่งก็คือ Capital Gains Tax หรือ ภาษีที่คิดจากกำไรในการขายหุ้น และ Income Tax หรือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
อันดับแรกคือ Capital Gains Tax หรือ ภาษีที่คิดจากกำไรในการขายหุ้น
ตามหลักกฎหมายของสหรัฐฯ ภาษีประเภทนี้ จะถูกคำนวณเมื่อผู้ถือหุ้นตัดสินใจขายหุ้น และส่วนของกำไรจะถูกนำมาคิดภาษี ซึ่งจะขึ้นอยู่กับว่าระยะเวลาที่เจ้าของหุ้นถือหุ้นนั้นนานเท่าไร
หากถือครองหุ้นเป็นระยะเวลา 1 ปี หรือน้อยกว่านั้น กำไรจากการถือหุ้นจะถูกเรียกเก็บอัตราภาษี ตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกติ (Income Tax)หากถือครองหุ้นเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปี กำไรจากการถือหุ้นจะถูกเรียกเก็บอัตราภาษีจากกำไรในการขายหุ้น (Capital Gains Tax) ซึ่งมีอัตราตั้งแต่ 0%, 15% และสูงสุดที่ 20%
ดังนั้นในกรณีของคุณบัฟเฟตต์ การเสียภาษีแบบ Capital Gains Tax จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเขาตัดสินใจขายหุ้นเท่านั้น
หรือพูดอีกอย่างก็คือ ต่อให้ทรัพย์สินของเขาจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นแค่ไหน ก็ไม่ต้องเสียภาษี หากเขาไม่ได้ขายหุ้นนั้น เพื่อเปลี่ยนเป็นเงิน
ถัดมาคือ Income Tax หรือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
Income Tax หรือ ภาษีเงินได้ที่มาจากเงินเดือน โดยพนักงานส่วนใหญ่ที่ทำงานบริษัท จะมีรายได้ก็ต่อเมื่อได้รับเงินเดือน ดังนั้น ภาษีที่ต้องจ่ายจะถูกนำเงินเดือนมาคำนวณเป็นระยะเวลาตลอดทั้งปีปฏิทิน หักค่าใช้จ่าย และรายการลดหย่อนอื่น ๆ
โดยใช้หลักการคิดภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งในสหรัฐฯ อัตราการจ่ายภาษีเงินได้จากเงินเดือน เริ่มตั้งแต่ 10% ไปจนถึงขั้นสูงสุดที่ 37% สำหรับคนที่มีเงินได้ทั้งปีมากกว่า 21 ล้านบาท
มาถึงจุดนี้ หลายคนคงพอเดาคำตอบได้แล้วว่าทำไมอัตราภาษีที่คุณบัฟเฟตต์จ่าย ถึงน้อยกว่าเลขาของเขา
แม้ในฐานะซีอีโอของ Berkshire Hathaway คุณบัฟเฟตต์จะจ่ายเงินเดือนให้ตัวเอง 100,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็นเงินไทยราว 300,000 บาทต่อเดือน (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน ณ เวลานั้น)
แต่รายได้ส่วนใหญ่ของเขามาจากเงินปันผลและกำไรจากการลงทุน
ขณะที่เลขาของเขา สร้างรายได้จากเงินเดือนในทุก ๆ เดือน ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็ต้องนำรายรับทั้งปีมาเสียภาษีตามอัตราขั้นบันได ทำให้อัตราการจ่ายภาษีของเขากับพนักงานบริษัทก็ยังต่างกันมาก
พอเรื่องเป็นเช่นนี้คุณบัฟเฟตต์ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และออกมาแสดงความคิดเห็น ขอให้รัฐบาลมีการแก้ไขปัญหาช่องโหว่ทางภาษีนี้ เพราะมันก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นระหว่างคนที่มีรายได้สูงกับคนที่มีรายได้ต่ำ
ทำให้ในปี 2011 เกิดสิ่งที่เรียกว่า “Buffett Rule” หรือ “กฎบัฟเฟตต์” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนภาษีที่เสนอโดยประธานาธิบดีบารัก โอบามา
กฎนี้เป็นการเพิ่มเติมข้อกำหนดให้ผู้ที่มีรายได้มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือตีเป็นเงินไทยคือปีละประมาณ 34 ล้านบาท ต้องจ่ายภาษีขั้นต่ำ 30% แต่สุดท้ายข้อเสนอนี้ถูกปัดตกไป
ในปีต่อ ๆ มา ก็มีการนำเสนอร่างกฎหมายนี้หลายต่อหลายครั้ง อย่างล่าสุดในปี 2024 ข้อกฎหมายนี้ ก็ถูกเสนอโดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน แต่สุดท้ายเขากลับไม่ได้ชนะการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม กฎหมายข้อนี้ก็ไม่ได้เป็นที่ถูกใจของพรรคการเมืองต่าง ๆ เช่นกัน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุน และการเติบโตของเศรษฐกิจระดับประเทศ
เช่น อาจทำให้นักลงทุนนำเงินไปลงทุนนอกประเทศที่มีการคิดอัตราภาษีที่น้อยกว่า จึงนับว่าเป็นการทำลายเศรษฐกิจในระยะยาว สุดท้ายกฎหมายข้อนี้ จึงไม่เคยถูกนำมาปรับใช้จริงนั่นเอง
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
จากแถลงการณ์ล่าสุด คุณบัฟเฟตต์ได้ออกมาพูดอย่างภาคภูมิใจว่า ในปี 2024 เขาจ่ายภาษีบริษัทของเขาสูงถึง 95,400 ล้านบาท
ซึ่งเป็นยอดภาษีที่สูงสุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา..
References :
-https://money.cnn.com/2013/03/04/news/economy/buffett-secretary-taxes/index.html
-https://www.investopedia.com/terms/b/buffettrule.asp
-https://www.fool.com/taxes/2020/09/25/why-does-billionaire-warren-buffett-pay-a-lower-ta/
-https://www.congress.gov/bill/118th-congress/senate-bill/1173
-https://www.investopedia.com/terms/c/capital_gains_tax.asp
-https://www.investopedia.com/ask/answers/052015/what-difference-between-income-tax-and-capital-gains-tax.asp
-https://money.cnn.com/2013/03/04/news/economy/buffett-secretary-taxes/index.html
-https://www.investopedia.com/terms/b/buffettrule.asp
-https://www.fool.com/taxes/2020/09/25/why-does-billionaire-warren-buffett-pay-a-lower-ta/
-https://www.congress.gov/bill/118th-congress/senate-bill/1173
-https://www.investopedia.com/terms/c/capital_gains_tax.asp
-https://www.investopedia.com/ask/answers/052015/what-difference-between-income-tax-and-capital-gains-tax.asp