คุยกับ 5 ผู้หญิงเก่ง ที่กำลังขับเคลื่อน AIS ให้เป็นองค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ
Business

คุยกับ 5 ผู้หญิงเก่ง ที่กำลังขับเคลื่อน AIS ให้เป็นองค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ

8 มี.ค. 2024
ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีอย่าง Big Data และ AI มีบทบาทต่อโลกธุรกิจเป็นอย่างมาก นำไปสู่ความหวาดกลัวของชาวออฟฟิศทั่วโลก ว่าจะถูกแทนที่ด้วย AI
โดยเฉพาะเหล่าสาว ๆ เพราะมีผลการวิจัยชี้ว่า 79% ของผู้หญิงวัยทำงานในสหรัฐฯ หรือเกือบ 59 ล้านคน กำลังเสี่ยง "ตกงาน" เนื่องจากบริษัทอาจหันไปใช้ AI มาทำแทน
อีกทั้งปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมบางส่วนอาจมีอคติทางเพศที่มองว่า “ผู้หญิงไม่เก่งเทคโนโลยี” จากการที่เป็นอุตสาหกรรม ที่มีผู้ชายเป็นผู้ขับเคลื่อนและนั่งแท่นผู้บริหาร
แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีบริษัทแห่งหนึ่ง ที่ตอกย้ำการเป็นองค์กร Genderless ด้วยการเดินหน้าพัฒนาทักษะบุคลากร ทุกเพศ ทุกวัย อย่างเท่าเทียม บริษัทนั้นก็คือ AIS
ดังนั้นในโอกาสที่วันนี้ (8 มีนาคม 2566) เป็นวันสตรีสากล หรือ Women International Day ลงทุนเกิร์ล จึงไปพูดคุยกับ 5 บุคลากรหญิง จาก AIS เบอร์หนึ่งด้านธุรกิจโทรคมนาคมของไทย
- โอปอล เลิศอุทัย หัวหน้าฝ่ายงานบริหารข้อเสนอและผูกพันลูกค้า AIS
- ดร.ศรีหทัย พราหมณี ผู้จัดการด้าน AIS The StartUp
- ดร.น้ำทิพย์ ทาตะนาม ผู้จัดการด้านการวางแผนกลยุทธ์ AIS Call Center
- ลักษิกา วิฑูรรัตน์ วิศวกรผู้ดูแลโครงข่ายโทรคมนาคมอัจฉริยะ AIS
- วริษา ไชยมงคล วิศวกรผู้ดูแลโครงข่ายโทรคมนาคมอัจฉริยะ AIS
แต่ละท่านจะมาแบ่งปันมุมมอง เกี่ยวกับ “โอกาสที่ได้รับ” และ “แนวคิดการทำงาน” ในฐานะผู้หญิงที่ทำงานใน AIS
โดยลงทุนเกิร์ลได้สรุปการพูดคุยครั้งนี้ มาเล่าให้ฟังค่ะ..
พี่โอปอล เลิศอุทัย หัวหน้าฝ่ายงานบริหารข้อเสนอและผูกพันลูกค้า AIS เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงมุมมองของเธอไว้ว่า
การทำงานที่บริษัทใหญ่อย่าง AIS เปิดโอกาสให้เธอเข้าถึงประสบการณ์วางโปรแกรมดูแลลูกค้ากว่า 49 ล้านราย ผ่านการสร้างประสบการณ์บนดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่าง myAIS
ซึ่งสนุกและท้าทายมาก เนื่องจากเธอได้ทำงานร่วมกับพี่ ๆ น้อง ๆ ที่มีจิตใจรักงานบริการอย่างเต็มเปี่ยม
พี่โอปอลเล่าต่ออีกว่า ที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ของคนทุกเพศ (Gender Inclusivity) ให้สิทธิเสรีภาพ และให้โอกาสในการแสดงความสามารถ ช่วยให้การทำงานเป็นทีมมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนสามารถสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าให้เติบโตแบบก้าวกระโดด
เช่นเดียวกับ ดร.ศรีหทัย พราหมณี ผู้จัดการด้าน AIS The StartUp ที่มองว่า AIS มอบโอกาสให้เธอได้มาทำงานส่งเสริมธุรกิจสตาร์ตอัปในไทยให้เติบโตไปพร้อมกับ AIS
สำหรับแนวคิดสำคัญที่เธอนำมาใช้ในการทำงานคือ Charismatic Leaders หรือการเป็นผู้นำหญิงที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ สร้างแรงบันดาลใจ จุดประกายทางความคิด ช่วยส่งเสริมการทำงานให้กับลูกทีม
โดยที่ AIS เอง ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศ หรืออายุ แต่ให้ความเท่าเทียม พร้อมส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสพัฒนาตัวเอง เพราะที่นี่เชื่อว่าเมื่อได้รับโอกาส ทุกคนก็จะแสดงศักยภาพของตนเองออกมาได้อย่างเต็มที่
ต่อกันที่มุมมองของดร.น้ำทิพย์ ทาตะนาม ผู้จัดการด้านการวางแผนกลยุทธ์ของ AIS Call Center
ส่วนงานที่เรียกว่าเป็นหัวใจสำคัญขององค์กร ที่เป็นด่านหน้าในการให้บริการทั้งก่อนและหลังการขายกับลูกค้า โดยวันนี้ได้นำ AI เข้ามาเสริมความสามารถในการทำงานด้าน Call Center เพื่อการดูแลและให้บริการลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ดร.น้ำทิพย์ เล่าให้ฟังว่า การได้รับโอกาสและความไว้วางใจจากหัวหน้า ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เธอกล้านำเทคโนโลยี AI เข้าช่วยในการจัดระบบ Workforce ของพนักงาน
ช่วยให้สามารถจัดการทรัพยากรคนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการทำงานแบบ Routine และยังเป็นการพัฒนาศักยภาพใหม่ ๆ ให้กับบุคลากร ตอบโจทย์แนวทางของบริษัท ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี
ที่น่าสนใจคือ ดร.น้ำทิพย์บอกว่า การเป็นผู้หญิงที่เติบโตมากับสายงานในโลกของ IT ก็มีข้อได้เปรียบจาก Soft Skill ของผู้หญิงที่มีความละเอียดรอบคอบ และสามารถบริหารจัดการในบางเนื้องานได้ดีกว่าอีกด้วย
สำหรับในฟาก 2 สาววิศวกรรุ่นใหม่ อย่าง ลักษิกา วิฑูรรัตน์ และวริษา ไชยมงคล
ที่เริ่มต้นทำงานกับ AIS เป็นที่แรกในตำแหน่งวิศวกรโทรคมนาคมและรับบทบาทสำคัญในการดูแลและพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมให้มีความอัจฉริยะ ตามวิสัยทัศน์ Cognitive Tech-Co ของ AIS
เริ่มที่ลักษิกา บอกว่า การที่เธอเลือกเข้ามาทำงานที่ AIS ในตำแหน่งวิศวกร เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า แม้คนที่ทำอาชีพวิศวกรส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย แต่ผู้หญิงก็สามารถทำได้ทุกอย่างเช่นเดียวกัน
ส่วนทางด้านวริษา ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจของการทำงานสายวิศวกรไว้ว่า เธออยากจะทำงานเพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายโทรคมนาคมให้มีประสิทธิภาพ รองรับการใช้งานในทุกสถานการณ์ เพราะเธอมองเห็นความสำคัญของการใช้อินเทอร์เน็ตและสัญญาณมือถือ เพื่อติดต่อสื่อสาร
แม้เธอจะได้เข้ามาทำหน้าที่ดูแล Monitor สัญญาณการใช้งานของลูกค้า แต่ AIS เห็นว่าเธอมีความสนใจเรื่องการเขียนโปรแกรม เธอจึงได้รับโอกาสให้เขียนโปรแกรมระบบอัตโนมัติ เพื่อแจ้งเตือนพื้นที่ที่มีปัญหาในการใช้งาน ช่วยให้บริษัทสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เธอรู้สึกว่า AIS เปิดโอกาสให้เธอได้ลองทำงานที่สนใจและตรงกับเป้าหมายที่เธอวางเอาไว้
นอกจากนี้ ทั้ง 2 สาว ยังมีความเห็นตรงกันว่า การทำงานที่ AIS นั้น เพศไม่มีส่วนสำคัญเลย เพราะทุกคนได้รับโอกาสในการทำงานที่เท่าเทียมกัน
รวมถึงที่นี่เปิดโอกาสให้ทั้งคู่ได้ลองทำงานอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ นับเป็นโอกาสที่จะช่วยให้พวกเธอเติบโตต่อไปในสายงานวิศวกรโดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างเรื่องราวของบุคลากรสุภาพสตรี จากหลากหลายสายงานใน AIS
หากจะสรุปเรื่องราวทั้งหมดที่พวกเธอได้เล่ามา
การที่ AIS ให้ “โอกาส” ทุกคนอย่างเท่าเทียม และสนับสนุนในการแสดงความสามารถในองค์กร โดยไม่ยึดติดกับเพศสภาพของพนักงาน ทำให้ทุกคนได้พัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง
และนี่ก็อาจจะเป็นหนึ่งในเคล็ดลับการบริหารองค์กรของ AIS
เพื่อขับเคลื่อนเข้าใกล้เป้าหมาย “Cognitive Tech-Co” หรือการเป็นองค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ นั่นเอง..
Tag:AIS
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.