การปรับตัวของปางช้าง สู่ คาเฟ่ช้าง แห่งแรกในไทย
Business

การปรับตัวของปางช้าง สู่ คาเฟ่ช้าง แห่งแรกในไทย

17 ก.พ. 2021
การปรับตัวของปางช้าง สู่ คาเฟ่ช้าง แห่งแรกในไทย /โดย ลงทุนเกิร์ล
ครั้งสุดท้ายที่เราไปเที่ยวปางช้าง คือเมื่อไรกันคะ?
หรือบางคนอาจจะไม่เคยไปเที่ยวปางช้างเลยด้วยซ้ำ..
ถ้าคำตอบของทุกคนคือ จำไม่ได้ หรือยังนึกไม่ออก
นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมธุรกิจปางช้าง ถึงต้องรีบปรับตัว
ซึ่งลงทุนเกิร์ลได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณปทิตตา ไตรเวทย์
หนึ่งในเจ้าของปางช้าง Elephant Jungle Sanctuary ซึ่งได้ส่งเคสธุรกิจนี้เข้ามาทางเพจ
แล้วเรื่องราวของปางช้าง Elephant Jungle Sanctuary น่าสนใจอย่างไร? 
และจากปางช้าง ปรับตัวเป็น คาเฟ่ช้าง ได้อย่างไร?
ลงทุนเกิร์ลจะแชร์ให้ฟัง
Elephant Jungle Sanctuary คือ ธุรกิจท่องเที่ยว ที่เป็นปางช้างเชิงอนุรักษ์
โดยวางจุดยืนว่าจะต้องไม่รบกวนธรรมชาติของช้างมากนัก
ซึ่งที่นี่ก็จะไม่มีการขี่ช้าง และการแสดงช้างใดๆ
แต่จะเน้นเป็นกิจกรรมที่เน้นให้นักท่องเที่ยวได้เอาตัวเองไปใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติของช้าง
เช่น การอาบน้ำช้าง พาช้างไปเล่นโคลน กินอาหาร และศึกษาวิถีชีวิตต่างๆ ของช้าง
โดยในปัจจุบัน Elephant Jungle Sanctuary มีปางช้างอยู่ทั้งหมดใน 4 จังหวัด
ได้แก่ เชียงใหม่, ภูเก็ต, พัทยา และสมุย
ซึ่งจุดเริ่มต้นของปางช้าง Elephant Jungle Sanctuary เกิดขึ้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว
โดยคุณพรวรินทร์ ไชยเบญจพงศ์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งได้เดินทางไปที่จังหวัดเชียงใหม่
แล้วพบกับชาวกะเหรี่ยง ที่เลี้ยงช้างอยู่ แต่ความเป็นอยู่ของทั้งคน และช้างไม่ค่อยราบรื่นนัก
ทำให้คุณพรวรินทร์ เกิดไอเดียที่อยากจะทำปางช้างขึ้น
และในเดือนกรกฎาคม 2557 ก็เริ่มเปิดปางช้างแห่งแรก โดยมีช้างอยู่ในความดูแลทั้งหมด 3 เชือก
ด้วยประสบการณ์ของคุณพรวรินทร์ ที่เคยอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวมานาน
ทำให้เธอสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจปางช้างได้อย่างดี
และไม่นานนัก ปางช้างแห่งนี้ก็ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างล้นหลาม
ซึ่งในช่วงปกติจะมีผู้มาใช้บริการประมาณ 100-150 คนต่อวัน
แต่ถ้าเป็นช่วง High Season จะมีลูกค้ามาใช้บริการสูง ถึง 400 คนต่อวัน
เมื่อเวลาผ่านไป จากปางช้างเพียงแห่งเดียว ที่มีช้างอยู่เพียง 3 เชือก
ก็ได้ขยับขยายเป็นปางช้างถึง 14 แห่ง ใน 4 จังหวัด
และมีช้างที่อยู่ในความดูแลถึง 98 เชือก
ในตอนที่ทุกอย่างดูเหมือนจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น แต่แล้วฝันร้ายก็มาถึง..
เมื่อการเกิดขึ้นของวิกฤติโรคระบาด ได้ส่งผลให้การเดินทางทั่วโลกหยุดชะงัก
ผู้คนเริ่มกลัวการที่จะออกไปข้างนอก เศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างที่หลายคนไม่เคยคาดคิดมาก่อน
และเรื่องนี้ก็ยิ่งแย่ขึ้นไปอีกสำหรับ ปางช้าง Elephant Jungle Sanctuary 
เพราะลูกค้าเกือบ 100% เป็นชาวต่างชาติ
จากเดิมที่เคยรับลูกค้าได้กว่า 400 คนต่อวัน
ตอนนี้เหลือลูกค้าอยู่เพียงหลักสิบเท่านั้น
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ คุณปทิตตา ไตรเวทย์ ลูกสาวของผู้ก่อตั้ง 
จึงเห็นว่าไม่สามารถปล่อยให้กิจการเป็นแบบนี้ได้ และต้องรีบหาทางแก้ให้ไว 
เพราะการดูแลช้างมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และช้างไม่เหมือนกับการบริหารคนตรงที่ ทางปางช้างไม่สามารถปล่อยให้เขาอดอาหาร หรือละทิ้งเขาได้ 
เพราะช้างเลี้ยงเหล่านี้อยู่กับมนุษย์มานาน เขาไม่สามารถกลับไปอยู่ในป่าได้
และบางตัวก็เป็นช้างแก่ หรือบาดเจ็บ ที่ทาง Elephant Jungle Sanctuary ไปซื้อมารับไว้ดูแลจากเจ้าของเก่า
ดังนั้น การดูแลช้างให้ดี ไม่ได้มีแค่ค่าอาหารเท่านั้น
แต่ยังมีค่ารักษา ค่าคนดูแล ค่าใช้จ่ายยิบๆ ย่อยๆ อีกจำนวนมาก
และถ้าหาก Elephant Jungle Sanctuary ไม่สามารถจัดการปัญหาตรงนี้ได้ 
ทุกอย่างที่สร้างมาหลายปี อาจหายไปในพริบตา
ซึ่งหนึ่งในทางออกที่คุณปทิตตา นำมาใช้ก็คือการเปิด “คาเฟ่ช้าง”
เปลี่ยนจากกิจกรรมที่ต้องพาช้างไปเล่นโคลน อาบน้ำ กินอาหาร 
มาเป็นการนั่งจิบกาแฟ ทานขนมแล้วนั่งชมวิถีชีวิตของช้าง พร้อมถ่ายรูป และให้อาหารช้าง
ที่ใช้เวลาไม่นาน และเหมาะกับการถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย ซึ่งตอบโจทย์พฤติกรรมของคนไทยในสมัยนี้มากขึ้น
ซึ่งจริงๆ แล้ว คุณปทิตตาตั้งใจจะเปิดคาเฟ่ช้างก่อนที่จะมีโรคระบาดอยู่แล้ว
เพราะเธอทราบดีว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยชื่นชอบการมาเที่ยวปางช้าง 
ที่ต้องเปียกน้ำ เลอะโคลน และก็อาจจะไม่ได้ตื่นเต้นกับการเห็นช้าง 
เหมือนอย่างนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ดังนั้นกิจกรรมที่น่าจะตอบโจทย์คนไทย แต่ก็ยังสามารถนำเสนอวิถีชีวิตของช้างได้พร้อมๆ กัน 
ก็คงจะเป็น “คาเฟ่ช้าง”
โดยหลังจากที่ยอดขายหายไปเกือบหมด
พอมีการปรับตัวเป็นธุรกิจคาเฟ่ช้าง เข้ามา ก็ทำให้มีลูกค้าชาวไทยพากันมาใช้บริการกันจำนวนมาก
นอกจากนี้ ทางปางช้างยังพยายามหาวิธีจัดการกับมูลช้างจำนวนมากในแต่ละวันด้วยการนำไปทำ “กาแฟขี้ช้าง”
โดยทาง Elephant Jungle Sanctuary จะส่งมูลช้างทั้งหมดไปให้ไร่กาแฟที่รู้จักกัน แปรรูป และกลายเป็นปุ๋ยที่เหมาะกับการปลูกกาแฟ
แล้วนำเมล็ดกาแฟที่ได้ ส่งกลับมาขายที่คาเฟ่ช้างของ Elephant Jungle Sanctuary อีกทีหนึ่ง
ซึ่งการทำแบบนี้ นอกจากจะเป็นการนำมูลช้างที่ไม่มีใครต้องการไปทำให้เกิดประโยชน์แล้ว
ยังช่วยเพิ่มมูลค่า และสร้างจุดขายให้กับสินค้าอย่างเมล็ดกาแฟไปพร้อมๆ กัน
นอกจากนี้ ทาง Elephant Jungle Sanctuary ยังได้มีการทำคลิป และไลฟ์สด พาชมบรรยากาศ และให้ความรู้ต่างเกี่ยวกับช้างอยู่เป็นประจำ 
สาเหตุที่ทางปางช้างต้องทำแบบนี้ ก็เพื่อให้ผู้ชมจากทั้งชาวไทยและต่างประเทศ รู้สึกใกล้ชิดกับช้าง และถ้าหากการท่องเที่ยวกลับมาปกติอีกครั้ง นักท่องเที่ยวจะได้นึกถึงปางช้างแห่งนี้เป็นที่แรก
ในขณะเดียวกัน Elephant Jungle Sanctuary ยังจัดโปรโมชันลดราคาค่าเข้า จาก 2,000 เหลือเพียง 499 บาท เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจ และเข้าถึงคนได้หลากหลายกลุ่มมากขึ้น
แม้ว่ายอดขายอาจจะไม่ได้กลับมาสูงเท่าเดิม
แต่อย่างน้อย ความพยายามทั้งหมดที่พวกเขาทุ่มลงไป ก็ได้พาให้กิจการปางช้างที่กลุ่มลูกค้าหลักหายไปเกือบทั้งหมด กลับอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้..
Reference: 
-สัมภาษณ์โดยตรงกับคุณปทิตตา ไตรเวทย์ หนึ่งในเจ้าของปางช้าง Elephant Jungle Sanctuar
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.