Hungryroot ร้านขายของชำออนไลน์ที่ใช้ AI ช่วยเลือกของ มูลค่า 2 หมื่นล้าน
FoodBusiness

Hungryroot ร้านขายของชำออนไลน์ที่ใช้ AI ช่วยเลือกของ มูลค่า 2 หมื่นล้าน

1 ก.ค. 2021
Hungryroot ร้านขายของชำออนไลน์ที่ใช้ AI ช่วยเลือกของ มูลค่า 2 หมื่นล้าน /โดย ลงทุนเกิร์ล
ต้องยอมรับว่าในยุคนี้ “เทรนด์สุขภาพ” เป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงสุด ๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจาก วิกฤติโรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ก็ยิ่งทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจในเรื่องสุขภาพ อาหารการกินมากขึ้น
จากผลสำรวจของ International Food Information Council พบว่า
ในปี 2020 ผู้บริโภคทั้งหมด 54% หันมาใส่ใจเรื่องการเลือกซื้ออาหารมากขึ้น
และให้ความสำคัญกับอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า รสชาติหรือราคาของอาหาร
อย่างไรก็ตาม การที่จะทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะในบางครั้งผู้บริโภคเองก็ไม่ได้รู้ว่า อะไรเป็นสิ่งที่ดีต่อตัวเรากันแน่
แล้วจะดีแค่ไหน ถ้าหากมีคนคอยช่วยคำนวณวัตถุดิบ ที่เราจะซื้อมาทำอาหาร และบอกว่าเราควรจะทานอะไร
หมดปัญหาว่า “วันนี้จะกินอะไรดี ?” แถมยังมีบริการส่งอาหารถึงหน้าบ้านอีก
ซึ่งสิ่งที่บอกมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้เกินจริงเลย เพราะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีบริษัทหนึ่งที่ชื่อว่า Hungryroot
ได้นำเอาเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยเหลือผู้บริโภคที่ประสบปัญหาเหล่านี้
แล้วบริการของ Hungryroot น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Hungryroot ก่อตั้งโดยหนุ่ม ๆ 3 คน ได้แก่ คุณ Benjamin McKean,
คุณ Gregory Struck และคุณ Franklin Becker
โดยไอเดียของ Hungryroot เกิดขึ้นมาจากคุณ Benjamin McKean
ซึ่งเขาอยากจะสร้างธุรกิจอาหาร ที่ช่วยให้ผู้บริโภคได้ทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ในทุก ๆ วัน
โดยโมเดลธุรกิจของ Hungryroot ในตอนแรก จะเป็นการให้บริการอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
เช่น อาหารมังสวิรัติ อาหารปลอดกลูเทน หรือขนมที่ทานแล้วดีต่อสุขภาพ
แต่ในตอนที่ Hungryroot เปิดตัวเป็นครั้งแรกในปี 2015
บริษัทมีสินค้าจำหน่ายเพียงแค่ 6 ประเภทเท่านั้น
และมีเป้าหมายที่จะเป็นตัวช่วยให้ลูกค้าสามารถทำอาหารได้ง่ายดายมากขึ้น
ด้วยการจำหน่ายอาหารแบบพร้อมปรุง (Ready to Cook) ให้กับลูกค้า
ซึ่งในตอนนั้น Hungryroot ก็มีแผนเหมือนกับแบรนด์อื่นทั่ว ๆ ไป
ที่ใฝ่ฝันอยากจะนำสินค้าเข้าไปวางขายใน Whole Foods ห้างสรรพสินค้าที่จำหน่ายแต่สินค้าที่ดีต่อสุขภาพ
แต่สุดท้าย Hungryroot ก็เปลี่ยนใจ และเลือกที่จะทำตลาด
ด้วยการจำหน่ายแบบ D2C (Direct to Customer) ให้ลูกค้าสามารถสั่งผ่านช่องทางออนไลน์ได้โดยไม่ผ่านคนกลาง
เหตุผลที่แบรนด์ตัดสินใจปรับเปลี่ยนวิธีการขายสินค้าก็เป็นเพราะ ปัจจัยด้านจำนวนการผลิต ที่ต้องผลิตให้ได้ตามที่ห้างกำหนด
รวมไปถึง การส่งสินค้าใหม่เข้าไปแข่งขันในห้าง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแบรนด์คู่แข่งอยู่หลากหลาย ดังนั้นย่อมเป็นเรื่องยากสำหรับแบรนด์น้องใหม่ ที่จะเข้าไปเริ่มต้นในนั้น
แต่เมื่อธุรกิจดำเนินไป คุณ Benjamin McKean และทีมงานก็พบว่า
ด้วยจำนวนสินค้าที่มีให้เลือกไม่มาก ทำให้ลูกค้ามีตัวเลือกที่น้อยเกินไป
Hungryroot จึงตัดสินใจ ค่อย ๆ เพิ่มจำนวนสินค้าให้มีจำนวนมากขึ้น
แน่นอนว่าเมื่อสินค้ามากขึ้น ยอดขายก็ย่อมเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี เพราะการทำอาหารแบบ Ready to Cook ส่งนั้น
ก็จะได้เพียงแต่กลุ่มลูกค้าที่ต้องการใส่ใจสุขภาพ ที่ไม่ต้องการทำอาหารเองเท่านั้น
ซึ่งบางกลุ่มอาจจะต้องการทำอาหารทานเองมากกว่า เพื่อให้ทราบกระบวนการปรุงทุกขั้นตอนจริง ๆ
จนในที่สุดหลังจากที่เปิดกิจการมาได้ 4 ปี Hungryroot ก็ตัดสินใจเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่
เปลี่ยนจากการที่ให้บริการสินค้าแบบ Ready to Cook ให้กลายเป็นร้านขายของชำออนไลน์
โดยการร่วมมือกับแบรนด์อื่น ๆ ในการนำเอาสินค้าเข้ามาวางจำหน่ายบนเว็บไซต์
อย่างไรก็ตามการทำแพลตฟอร์มที่ขายของชำออนไลน์ ก็ไม่ได้มีแค่ Hungryroot เท่านั้นที่ทำ
เพราะยังมีบริษัทอื่นที่ให้บริการในรูปแบบนี้อีก ไม่ว่าจะ Kite Hill, Banza และอื่น ๆ
แล้วอะไรที่ทำให้ Hungryroot นั้นแตกต่างจากเว็บไซต์ขายของชำเว็บอื่น ?
หากใครเคยช็อปปิงตามร้านขายของชำออนไลน์มาก่อน จะพบว่าส่วนใหญ่
มักจะเป็นการที่เราเลือกของที่เราต้องการลงในรถเข็น
และของที่เราเลือกนั้น ก็จะถูกส่งมาที่บ้านของเราตามวันและเวลาที่เรากำหนด
แต่สำหรับ Hungryroot ไม่ได้ทำงานแบบนั้น
เพราะบริษัทได้มีการนำเอา AI (Artificial Intelligence) เข้ามาช่วยในการเลือกซื้อสินค้าด้วย
โดยลูกค้าทุกคนจะต้องตอบแบบสอบถามก่อนว่า
พวกเขามีพฤติกรรมการกินแบบไหน ชอบกินอะไรเป็นพิเศษ และมีกรณีพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติมหรือไม่
เช่น เป็นมังสวิรัติ เป็นวีแกน หรือแพ้อาหารอะไรหรือไม่
หลังจากนั้นจึงเลือกว่าต้องการให้ Hungryroot ส่งอาหารมาจำนวนเท่าไร
แล้วระบบจะทำการคำนวณของที่จะส่งมาให้ลูกค้า ว่าในรถเข็นนั้นจะมีสินค้าอะไรบ้าง
โดยลูกค้าเองก็สามารถปรับเปลี่ยน สินค้าที่อยู่ภายในรถเข็นได้เช่นกัน
หลังจากนั้น AI ก็จะเรียนรู้จากการที่เราใช้งาน Hungryroot และในการซื้อครั้งถัดไป
ระบบก็จะจัดสรรอาหารที่เหมาะสมกับเรามากยิ่งขึ้นนั่นเอง
ซึ่งผลตอบรับจากลูกค้า ก็ค่อนข้างดีเลยทีเดียว
โดยลูกค้าของ Hungryroot กว่า 72% รู้สึกพอใจกับการให้ AI คอยจัดการของที่จะส่งมาให้
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบางครั้งผู้ซื้อเองก็ไม่รู้ว่า ตัวเองต้องการซื้ออะไร หรือต้องการทานอะไรกันแน่
การที่มีคนมาคอยจัดการอาหารที่จะซื้อเข้าบ้านในแต่ละสัปดาห์ ก็ดูจะเป็นตัวช่วยที่ไม่แย่นัก
และถ้าหากเราไม่อยากทานอะไร ก็ทำเพียงแค่เปลี่ยนสินค้าเป็นอย่างอื่นที่เราชอบแทน
ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างให้ Hungryroot กับเจ้าอื่น ๆ
และการทำแบบนี้ยังทำให้บริษัท สามารถเก็บข้อมูล พฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้บริโภค
เพื่อนำไปใช้ในการออกแคมเปน หรือพัฒนาบริการให้เข้ากับผู้บริโภคได้อีกด้วย
แล้วกลยุทธ์เหล่านี้ส่งผลอย่างไรต่อผลประกอบการของ Hungryroot ?
ในปี 2020 ที่ผ่านมา Hungryroot มีรายได้ 5,454 ล้านบาท
และในปี 2021 นี้ทางบริษัทก็คาดการณ์ว่าจะมีรายได้ที่เติบโตขึ้นเป็น 9,000 ล้านบาท
เพราะเทรนด์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากการเกิดโรคระบาด
โดยคุณ Benjamin McKean มองว่า ผู้บริโภคกว่า 80% หันมาซื้อของชำออนไลน์มากขึ้นในปี 2020
และก็ยังมีผู้บริโภคอีกหลายคนที่มีแนวโน้มว่าจะยังคงใช้บริการต่อไป แม้ว่าจะไม่มีโรคระบาดแล้วก็ตาม
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
Hungryroot มีการระดมทุนมากว่า 5 ครั้ง โดยสามารถระดมทุนได้กว่า 2,000 ล้านบาท
และมีการประเมินมูลค่าบริษัท Hungryroot ว่ามีมูลค่าอยู่ที่ 23,000 ล้านบาท
หรือมีมูลค่าใกล้เคียงกับ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จํากัด (มหาชน) เลยทีเดียว
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.