ทำไม แผ่นเสียงถึงเป็นไอเทมขายดีในยุคดิจิทัล
Entertainment

ทำไม แผ่นเสียงถึงเป็นไอเทมขายดีในยุคดิจิทัล

25 ก.ค. 2021
ทำไม แผ่นเสียงถึงเป็นไอเทมขายดีในยุคดิจิทัล /โดย ลงทุนเกิร์ล
ยังจำได้หรือไม่คะว่า ครั้งสุดท้ายที่เราฟังเพลงจากแผ่นซีดีหรือแผ่นเสียงคือเมื่อไร
ในวันที่โลกดนตรีก้าวเข้าสู่ยุค Music Streaming ที่เราสามารถฟังเพลงบนแพลตฟอร์มสตรีมมิง
ได้อย่างง่ายดาย เพียงปลายนิ้วก็สามารถเลือกเพลงโปรด และจัดเพลย์ลิสต์ได้ตามอารมณ์
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีอีกหลายคนที่กลับคิดถึงตัวเลือกแสนคลาสสิกอย่าง “แผ่นเสียง”
ที่ไม่ได้เป็นเพียงกระแสที่เข้ามาและจากไป แต่ความนิยมในแผ่นเสียงนั้นกลับมากขึ้นเรื่อย ๆ
ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จากปรากฏการณ์ที่ศิลปินหลาย ๆ คน ต่างหันมาออกแผ่นเสียงให้แฟนคลับได้สะสม และถึงแม้จะมีราคาสูง แต่เหล่าแฟน ๆ ก็ยินดีที่จะจ่าย เพื่อเสพความสุนทรียบทเพลงจากระบบแอนะล็อกนี้อยู่
ประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องนี้ ยังอยู่ในช่วงวิกฤติโควิด 19 ที่แม้ว่าร้านค้าหลายแห่งจะต้องปิดตัวลง แต่ธุรกิจแผ่นเสียง กลับเติบโตสวนกระแส
โดยสมาคมผู้ประกอบกิจการเพลงของสหรัฐอเมริกา (RIAA) ได้เปิดเผยสถิติในปี 2020 ว่าแผ่นเสียงไวนิลมียอดขายเพิ่มขึ้น 29% จากปี 2019 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 20,522 ล้านบาท และมียอดขายแซงหน้าแผ่นซีดีเป็นครั้งแรกในรอบ 35 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 1986
แล้วแผ่นเสียงน่าสนใจอย่างไร ?
ทำไมยังขายดีในยุคปัจจุบัน ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ก่อนจะเริ่มต้น เราลองมาทำความรู้จักกับแผ่นเสียง หรือ Vinyl กันสักเล็กน้อย
แผ่นเสียง หรือที่เราเรียกง่าย ๆ ว่าแผ่นไวนิลนั้นตั้งชื่อตามวัสดุที่ใช้ผลิต ซึ่งไวนิลเป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ผลิตแผ่นเสียง จึงเป็นที่มาของคำว่า Vinyl หรือที่เรียกว่า Record และบางครั้งก็เรียก Vinyl Record คู่กันไป
โดยแผ่นเสียงสามารถแยกประเภทได้ด้วยขนาด ซึ่งขนาดมาตรฐานที่เป็นที่นิยม คือ
แผ่น LP 33⅓ หรือที่เรียกว่าแผ่น Long Play คือ แผ่นเสียงขนาด 12 นิ้ว ซึ่งมีจำนวนรอบหมุน 33⅓ รอบต่อนาที เป็นขนาดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากบรรจุเพลงได้เป็นจำนวนมาก ครบทั้งอัลบั้มในแผ่นเสียงเดียวแผ่น Single 45 คือ แผ่นเสียงขนาด 7 นิ้ว ซึ่งมีจำนวนรอบหมุน 45 รอบต่อนาที เนื่องจากเป็นแผ่นเสียงขนาดเล็กมีขนาดพื้นที่จำกัด จึงบรรจุเพลงเพียงหน้าละ 1-2 เพลง ในแต่ละด้าน นิยมใช้ตามสถานีวิทยุและในตู้เพลงสมัยก่อน
แล้วอะไรถึงทำให้แผ่นเสียง กลายเป็นสินค้ายอดนิยม ?
ในวันที่โลกหมุนเร็ว ยิ่งกว่าแผ่นเสียงบนเครื่องเล่น
พร้อมกับเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว จนคนจำนวนไม่น้อยอยากใช้ชีวิตให้ช้าลง
ผู้คนจึงโหยหาการมองย้อนกลับไปในเรื่องราวเก่า ๆ ทั้งบรรยากาศ ดีไซน์ และไลฟ์สไตล์
สิ่งที่จับต้องได้อย่าง แผ่นเสียงและเครื่องเล่นแผ่นเสียง จึงหวนกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง
ซึ่งภาวะรู้สึกโหยหาเรื่องราวในอดีตดังกล่าว หรือที่เรียกว่า “Nostalgia” ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในกลุ่ม Baby Boomers และ Gen X ที่เคยผ่านมาในยุคแอนะล็อกเท่านั้น
แต่กลุ่ม Gen Y หรือ Millennials และ Gen Z ก็อยากจะสัมผัสบรรยากาศที่พวกเขาไม่เคยเจอมาก่อนในยุคนี้เช่นกัน
นอกจากนั้น คุณภาพเสียงก็เป็นจุดสำคัญ
บางคนกล่าวว่าเสียงจากแผ่นเสียงดีกว่าไฟล์เพลงดิจิทัล เพราะไม่ต้องบีบอัดไฟล์ให้พอดีกับแพลตฟอร์มสตรีมมิง จึงเก็บรายละเอียดเสียงได้มากกว่า
อย่างไรก็ตาม สำหรับบางคน แผ่นเสียงอาจไม่ได้ให้เสียงที่ดีที่สุด แต่กลับเป็นเสียงที่ถูกใจพวกเขามากที่สุด ซึ่งคุณภาพของเสียงที่เป็นธรรมชาติ ก็ช่วยเติมเต็มจิตใจ เกิดประสบการณ์ร่วมในการเล่นแผ่นเสียง ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลาย และช่วยหลบหลีกความวุ่นวายภายนอกได้ระยะเวลาหนึ่ง
ประกอบกับเสน่ห์ทางกายภาพของแผ่นเสียง
ด้วยลักษณะของแผ่นเสียงที่สัมผัสจับต้องได้ ตั้งแต่การเลือกซื้อ เลือกหยิบแผ่นเสียง การปัดเช็ดฝุ่น การวางแผ่นโปรดลงบนจานหมุน การวางหัวเข็มลงบนร่องแผ่นเสียง ไปจนถึงการมองอาร์ตเวิร์กบนปกที่อาจแฝงเรื่องราวของศิลปิ­นไว้
อีกเหตุผลสำคัญ คือเรื่องของการสะสม และมูลค่าที่อาจเพิ่มขึ้น จากการสะสมแผ่นเสียงของศิลปินที่ชื่นชอบ การสะสมศิลปะบนปกแผ่นเสียง รวมถึงการสะสมสิ่งของวินเทจ
โดยแผ่นเสียงหลาย ๆ แผ่นในตลาดของสะสม ก็มีราคาเพิ่มสูงขึ้น จากความหายากของแผ่นนั้น
เช่น แผ่นเสียงที่ผลิตล็อตแรก, แผ่นที่ผลิตแบบจำกัดจำนวน, แผ่นที่ผลิตในวาระพิเศษ
รวมไปถึงแผ่นเสียงของศิลปินยอดนิยม อาทิ วง Queen, วง The Beatles หรือ Elvis Presley
ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้แผ่นเสียง ไอเทมจากยุคแอนะล็อกกลับมาโลดแล่นอีกครั้งในยุคดิจิทัล
และยังทำให้เห็นว่าสำหรับคนบางคน “ความรู้สึกและความทรงจำ” อาจมีคุณค่ามากกว่า “ความสะดวกสบาย และความรวดเร็ว”
เหมือนกับที่บางคนชอบความรู้สึกชั่วขณะในการวางแผ่นเสียงลงบนเครื่องเล่น
และเพลงที่ออกมาจากแผ่นเสียง คล้ายกับเป็นเสียงที่ได้ย้อนกลับไปคิดถึงความทรงจำในอดีต
หรือบันทึกช่วงเวลาดี ๆ ตรงหน้า​​ก็เป็นได้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.