กิมจิแบรนด์ไหน ขายดีที่สุดในเกาหลีใต้ ?
Business

กิมจิแบรนด์ไหน ขายดีที่สุดในเกาหลีใต้ ?

18 ส.ค. 2021
กิมจิแบรนด์ไหน ขายดีที่สุดในเกาหลีใต้ ? /โดย ลงทุนเกิร์ล
กิมจิ อาหารเครื่องเคียง ที่แม้จะไม่ได้เป็นพระเอกของมื้ออาหาร
แต่ก็เป็นจานที่ขาดไม่ได้ บนโต๊ะอาหารของชาวเกาหลี
และนอกจาก กิมจิจะเป็นเมนูสำคัญแล้ว
ทางด้านเศรษฐกิจ กิมจิ ก็ดูจะมีบทบาทไม่น้อย
โดยในปี 2020 ที่ผ่านมานี้ กิมจิได้ถูกส่งออกไปยัง 80 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการส่งออกอยู่ที่กว่า 4,800 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นยอดการส่งออกกิมจิที่มีมูลค่าสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา
นอกจากนี้ Statista ยังได้ประเมินมูลค่าของตลาดกิมจิ ในเกาหลีใต้ ประจำปี 2020 ยังมีมูลค่าสูงถึง 1,500,000 ล้านวอน หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 43,200 ล้านบาท
ซึ่งในแต่ละปี จะมีการบริโภคกิมจิในประเทศเกาหลีใต้ มากถึง 2 ล้านตัน
และผู้ที่เป็นเบอร์หนึ่งในตลาดกิมจินี้ ก็คือ “บริษัท Daesang”
โดยหนึ่งในแบรนด์กิมจิ ที่ขึ้นชื่อที่สุดของบริษัท Daesang ก็คือ “แบรนด์ Jongga”
แล้วเรื่องราวของบริษัท Daesang เจ้าตลาดกิมจิ ในเกาหลีใต้น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
บริษัท Daesang ก่อตั้งขึ้นในปี 1956
หรือเมื่อประมาณ 65 ปีที่แล้ว
ซึ่งในช่วงแรก ๆ บริษัทยังเน้นไปที่การผลิตสินค้าจำพวก ผงชูรส, แป้ง และสารให้ความหวาน
แต่ทว่า ในช่วงที่บริษัทเริ่มก่อตั้งขึ้นนั้น ก็เป็นช่วงเดียวกับที่ประเทศกำลังเผชิญกับ “สงครามเวียดนาม” พอดี ทำให้ทหารเกาหลีหลายนาย ต้องถูกส่งไปรบยังเวียดนาม
และนอกจากอาวุธที่ต้องเอาติดตัวไปแล้ว
กิมจิก็เป็นสิ่งหนึ่ง ที่พวกเขาก็อยากเอาไปด้วย
โดยในสมัยนั้น กิมจิยังเป็นอาหารที่เกือบทุกบ้านต้องทำกินกันเอง ซึ่งพวกเขาจะนิยมหมักกิมจิไว้ในโอ่ง และเมื่อจะทานก็จะตักกิมจิเท่าที่จะทานออกจากโอ่งมาใส่จาน
แต่ถ้าจะให้นำโอ่งหมักกิมจิ ขนส่งไปเวียดนามให้เหล่าทหาร ก็ดูจะไม่ค่อยเหมาะเท่าไร
ดังนั้น ในสมัยนั้น จึงได้เกิดไอเดีย “กิมจิกระป๋อง” ขึ้นในปี 1960
และถือเป็นครั้งแรกที่มีการบรรจุกิมจิลงในหีบห่ออย่างจริง ๆ จัง ๆ
บริษัท Daesang ที่ได้เห็นไอเดียนี้ จึงได้นำมาต่อยอด เป็นแบรนด์กิมจิ แบบที่ใส่อยู่ในห่อพลาสติก ภายใต้ชื่อ Jongga ขึ้น ในปี 1988
และ Daesang ก็ได้ถือเป็น “บริษัทแรก” ที่นำกิมจิมาใส่บรรจุภัณฑ์ เพื่อการค้า
จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้บริษัทอื่น ๆ เริ่มหันมาบรรจุกิมจิขายตาม ๆ กัน
สำหรับในปัจจุบัน แม้ว่าเวลาจะผ่านมาถึง 33 ปีแล้ว
แต่ Daesang ก็ยังอยู่ในใจชาวเกาหลีหลาย ๆ คน
โดย Daesang สามารถครองส่วนแบ่งตลาดกิมจิ ในประเทศเกาหลีใต้เป็นอันดับ 1 มาหลายปีซ้อน
และแบรนด์อย่าง Jongga ก็ยังสามารถส่งออกสินค้าไปยังกว่า 40 ประเทศ ซึ่งคิดเป็น 44% ของจำนวนกิมจิทั้งหมดที่ถูกส่งออก
และในปีนี้ บริษัทก็ได้สร้างโรงงานผลิตกิมจิแห่งใหม่ในอเมริกาเหนือ
เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น โดยลูกค้า 90% ของ Jongga เป็นชาวเกาหลีที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ
แต่ขณะเดียวกัน บริษัทก็ได้เปิดเผยว่า ลูกค้าที่ไม่ใช่ชาวเกาหลีกำลังมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากวัฒนธรรมเกาหลี ที่กำลังขยายตัว
นอกจากนั้น การที่เกิดวิกฤติโรคระบาด ก็ส่งผลให้ผู้คนหันมาบริโภคกิมจิกันมากขึ้น เนื่องจากกิมจิมีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
และกลายมาเป็นหนึ่งในแรงกระตุ้นที่ทำให้ตลาดกิมจิในปีที่ผ่านมาคึกคักกว่าปีก่อน ๆ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบัน Daesang จะยังคงครองอันดับ 1 ในตลาดกิมจิ
แต่ทว่า Daesang ก็ยังมีประเด็นที่น่ากังวลอยู่ไม่น้อย
เพราะหากถ้าพิจารณาจาก ส่วนแบ่งการตลาดย้อนหลังจะพบว่า
ปี 2018 อันดับ 1 Daesang 46.7% อันดับ 2 CJ 34.5%
ปี 2019 อันดับ 1 Daesang 44.5% อันดับ 2 CJ 39.9%
ปี 2020 อันดับ 1 Daesang 42.4% อันดับ 2 CJ 37.8%
จากข้อมูลด้านบนจะเห็นว่า สัดส่วนในตลาดกิมจิ ของ Daesang นั้นค่อย ๆ ลดลงมาตลอด
ในขณะที่คู่แข่งเบอร์ 2 อย่าง CJ ก็ค่อย ๆ ขยับเข้ามาแย่งส่วนแบ่งได้มากขึ้น
ซึ่ง CJ ถือเป็นผู้เล่นที่เรียกได้ว่า ไม่ธรรมดา เลยทีเดียว
โดยถ้าหากเราพิจารณา แค่เฉพาะกลุ่มธุรกิจอาหารที่ CJ ดำเนินกิจการอยู่ จะพบว่า
CJ มีการผลิตอาหาร ตั้งแต่วัตถุดิบพื้นฐานของชาวเกาหลี อย่างโคชูจัง กิมจิ ไปจนถึงอาหารสำเร็จรูป ขนมหวาน และยังเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารรายใหญ่ของเกาหลีใต้
และหนึ่งในแบรนด์กิมจิตัวเอกของ CJ ก็คือ “bibigo” ที่หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกันดี
ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ bibigo ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
เนื่องมาจากลูกค้ากว่า 61.4% ของ bibigo คือ คนอายุระหว่าง 20-30 ปี ที่มักอาศัยอยู่คนเดียว หรืออีกกลุ่มคือ ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก
ดังนั้น bibigo จึงใช้เรื่องฐานลูกค้านี้ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการออกสินค้าให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า อย่างเช่น กิมจิห่อเล็ก ขนาด 500 กรัม ที่เหมาะกับทานคนเดียวได้
และกิมจิรูปแบบใหม่ให้มีความหลากหลายและแปลกใหม่มากขึ้น
เช่น กิมจิผัดเบคอน และกิมจิขาวสำหรับเด็ก ที่ตอบโจทย์กลุ่มเด็ก ๆ และคนรุ่นใหม่
ซึ่งแตกต่างจากแบรนด์ Jongga ของ Daesang ที่กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุเป็นหลัก จึงทำให้แบรนด์ยังคงเน้นผลิตกิมจิแบบดั้งเดิมเอาไว้
ก็น่าติดตามกันต่อไปว่า ความดุเดือดในตลาดกิมจิ จะเป็นอย่างไรกันต่อไป
แต่ไม่ว่าใครจะเป็นผู้นำ ในอนาคตเราก็เห็นแล้วว่า กิมจิมีแต่จะไปไกลมากขึ้นเรื่อย ๆ
ซึ่งนอกจากที่เราจะเห็นเจ้าเครื่องเคียงถ้วยเล็ก ๆ
วางอยู่เคียงข้างเกือบทุกมื้ออาหารของชาวเกาหลีแล้ว
ไม่แน่ว่า ในอนาคตกิมจิอาจจะมาอยู่คู่โต๊ะอาหารของคนชาติอื่น ๆ ด้วยก็เป็นได้..
สำหรับใครที่อยากทำความรู้จักเรื่องของ CJ ให้มากขึ้น สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ https://www.longtungirl.com/1291
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.