รู้จัก Paisley ลวดลายที่อยู่บนเดรสสีแดง ของ ลิซ่า BLACKPINK
Fashion

รู้จัก Paisley ลวดลายที่อยู่บนเดรสสีแดง ของ ลิซ่า BLACKPINK

30 ส.ค. 2021
รู้จัก Paisley ลวดลายที่อยู่บนเดรสสีแดง ของ ลิซ่า BLACKPINK /โดย ลงทุนเกิร์ล
หลังจากที่เราได้เห็นรูปโปรโมตอัลบั้มเดี่ยวของสาวลิซ่าวง BLACKPINK
เหล่าแฟนคลับก็ต่างออกมาคาดเดาคอนเซปต์ในการเปิดตัวฉายเดี่ยวครั้งแรกว่าจะเป็นอย่างไร
แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์ไม่แพ้กัน นั่นก็คือ ชุดเดรสสีแดงลาย Paisley (เพสลีย์) ที่สาวลิซ่าใส่ในรูปโปรโมตอัลบั้ม
ซึ่งหลายคนก็ออกความเห็นว่า ลายของผ้าชุดนี้ มีความคล้ายกับแฟชั่น Bandanas หรือผ้าโพกหัว ที่เคยฮิตอยู่ช่วงหนึ่งในประเทศไทยบ้านเรา
นอกจากนั้นยังมีแฟนคลับอินเตอร์อีกหลายชาติ ที่ออกมาบอกว่าลวดลายของผ้านี้ มีวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับประเทศของตัวเองเช่นกัน
สรุปแล้วลวดลาย Paisley มีต้นกำเนิดมาจากอะไร ?
แล้วทำไมหลายคนถึงคุ้นชินกับผ้าลวดลายนี้ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
“Bandanas” คือ “ผ้าที่ใช้โพกหัว” หรือ “ผ้าสำหรับผูกไว้ที่คอ” มาจากคำว่า “bāṅdhnū” ในภาษาฮินดู ที่มีความหมายว่า “ใช้สำหรับผูก” ซึ่งตัวผ้านี้ก็มีรากฐานเก่าแก่มาจากประเทศทางแถบเอเชียใต้ และทางตะวันออกกลาง ตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 17
Bandanas แทรกซึมอยู่ในประวัติศาสตร์ของหลายประเทศ จึงไม่แปลกใจว่าทำไมแฟน ๆ ทั่วทุกมุมโลกถึงคุ้นตาดีกับผ้าชนิดนี้
ซึ่ง Bandanas เป็นเหมือนเครื่องหมายแสดงถึงอัตลักษณ์ของกลุ่มคนในหลายวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น คาวบอย, ชาวไร่, กะลาสี, ไบเกอร์, กลุ่มอันธพาล หรือแม้แต่กลุ่ม LGBTQ+ เองก็เช่นกัน
ผ้า Bandanas เริ่มต้นเป็นที่นิยมตั้งแต่ในสมัยศตวรรษที่ 18 เมื่อผ้าเป็นที่ต้องการในกลุ่มผู้หญิงชนชั้นสูง โดยถูกนำมาใช้เป็นผ้าคลุมไหล่ และกลายเป็นสินค้าขายดีจนขาดตลาด
ซึ่งลวดลายที่นิยมที่สุดในสมัยนั้น ก็คือ “ผ้าลายลูกน้ำ” หรือที่เรียกว่า เพสลีย์ (Paisley)
ที่แต่เดิมมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย ราว ๆ 2,000 ปีก่อน โดยมีชื่อเดิมว่า “Boteh” เป็นแพตเทิร์นของชาวเปอร์เซียโบราณ
โดยชื่อของเพสลีย์ ก็มาจากในช่วงแรกที่การนำเข้า Bandanas จากเปอร์เซียและอินเดียมีราคาแพง
ทำให้คุณ Paterson พ่อค้าสุดหัวหมอ ในเมืองเพสลีย์ ประเทศสกอตแลนด์ สั่งให้ช่างทอผ้าลอกเลียนแบบลายลูกน้ำ และออกวางขาย ซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดี และกลายเป็นช่องทางหลักในการขายผ้าลายลูกน้ำ จนถูกเรียกว่า เพสลีย์ ในปัจจุบัน
ต่อมาผ้า Bandanas ก็เริ่มถูกใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น และพอเริ่มแพร่ความนิยมเข้ามาที่สหรัฐอเมริกา มันก็กลายเป็นเหมือน “สัญลักษณ์” และ “แรงขับเคลื่อน” ของการเรียกร้องสิทธิทางการเมือง
อันดับแรก คือ สัญลักษณ์ในการแสดงถึง “สิทธิแรงงาน”
โดยในปี 1921 กลุ่มแรงงานเหมืองถ่านหิน ที่เวสต์เวอร์จิเนีย เคยนำ Bandanas สีแดงมาโพกหัวเพื่อประท้วง และเรียกร้องสิทธิเรื่องการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมกับสหภาพแรงงาน
ซึ่งหลังจากการประท้วงจบลง แม้จะมีผู้ประท้วงล้มตาย แต่ก็เป็นการเคลื่อนไหวที่สร้างแรงกระตุ้นให้กับสหภาพแรงงานได้ทั่วประเทศ
ต่อมาในสมัยช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ้า Bandanas ได้เป็นลัญลักษณ์แสดงถึง “การรักชาติ” ของคนอเมริกัน
อย่างการทำโปสเตอร์ “Rosie the Riveter” โดยใช้รูปผู้หญิงโพกหัวสีแดง กับท่าทางมั่นใจ พร้อมกับวลีว่า “เราทำได้” เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ผู้หญิงออกมาทำงานในโรงงานผลิตยุทโธปกรณ์ และโรงงานอื่น ๆ เพื่อทดแทนแรงงานชายที่ออกไปสู้รบในสงคราม
ซึ่งผ้าโพกหัวสีแดงลายจุดนี้ ก็ถูกออกแบบโดย Elephant Brand ที่ปัจจุบันยังดำเนินการอยู่ภายใต้ New York Accessory Group บริษัทในสหรัฐอเมริกา และมีอายุกว่า 147 ปี
นอกจากนั้น ผ้า Bandanas ยังถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการ “แสดงตัวตน”
อย่างกลุ่ม LGBTQ+ จะนำสีผ้าพันคอที่หลากหลายสี ใส่ไว้ด้านหลังกระเป๋าเพื่อแสดงรสนิยมทางเพศของตนเอง เพราะในยุคนั้นเรายังไม่สามารถแสดงออกได้อย่างเปิดเผย
หรือในยุค 80 ที่มี 2 กลุ่มอันธพาลชื่อดังอย่างกลุ่ม “Bloods” และกลุ่ม “Crips” ก็จะใช้สีของผ้า Bandanas “สีฟ้า” และ “สีแดง” ในการแยกฝ่ายพรรคพวก
จนมาถึงยุค 90 เป็นต้นมา ที่ผ้า Bandanas เริ่มเข้ามาสู่วงการแฟชั่น
โดยเราจะเริ่มเห็นคนดังหลาย ๆ คน นำมาเป็นเครื่องประดับ
และในปี 2017 The Business of Fashion สื่อแฟชั่นชั้นนำจากสหราชอาณาจักร ก็เคยออกมารณรงค์ให้เหล่าดีไซเนอร์, นักเขียน และอินฟลูเอนเซอร์ ร่วมกันผูกผ้า Bandanas สีขาว เพื่อแสดงถึง “ความเท่าเทียม” และ “การเชื่อมสัมพันธ์” ของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะแตกต่างกันที่สีผิว, เพศ หรือศาสนาก็ตาม
เรื่องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แฟชั่น Bandanas กลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง โดยมีหลายแบรนด์ดังเลือกนำผ้า Bandanas ไปโพกหัวบนรันเวย์แฟชั่นโชว์ ในปี 2019
ส่วนในวงการดนตรี Bandanas ก็เป็นสัญลักษณ์ที่นักร้องแนวฮิปฮอปมักนำไปโพกหัว และเอาไป Mix & Match การแต่งตัว เช่น A$AP Rocky, Rihanna หรือลิซ่า BLACKPINK ที่นำไปตัดเย็บให้เป็นชุดเดรสสีแดง
สำหรับประเทศไทยเอง แฟชั่นผ้า Bandanas ก็ถือว่าเป็นกระแสในช่วงปลายยุค 90 ซึ่งลายที่นิยมอันดับต้น ๆ ก็ยังคงเป็นลายเพสลีย์เช่นเดียวกัน
และถ้าเกิดใครยังมีผ้าเหล่านั้นเก็บไว้อยู่ หากลองหยิบมาดูอาจพบว่า ปลายผ้าจะมีตัวอักษรสีดำ “Hav-A-Hank Made in USA”
ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเพราะ Hav-A-Hank เป็นอีกหนึ่งในแบรนด์ผู้ที่ผลิต Bandanas แบรนด์แรก ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่มานานกว่า 75 ปี แล้วนั่นเอง
โดยปัจจุบัน Hav-A-Hank อยู่ใน The Bandanna Company บริษัทที่ผลิตผ้าพรินต์ลวดลายอันดับต้น ๆ ของสหรัฐอเมริกา และส่งออก Bandanas ไปหลายประเทศทั่วโลก
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวของ Bandanas ผ้าที่เป็นมากกว่าผ้าโพกหัว หรือแฟชั่นธรรมดา ๆ
เนื่องจากถูกนำมาใช้สื่อถึง “อัตลักษณ์” และ “วัฒนธรรม” ของกลุ่มคนในหลายประเทศทั่วโลก มามากกว่า 100 ปี..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.