ชะตากรรม ของลูกสาว HUAWEI
EconomyTechnologyBusiness

ชะตากรรม ของลูกสาว HUAWEI

18 ส.ค. 2020
ชะตากรรม ของลูกสาว HUAWEI /โดย ลงทุนเกิร์ล
สงครามเทคโนโลยีกำลังปะทุอย่างดุเดือด ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
ล่าสุด กับประเด็นที่กำลังร้อนแรง เรื่องที่ประธานาธิบดีทรัมป์
ประกาศว่าจะแบน TikTok โซเชียลมีเดียของจีน ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก
ทำให้บริษัทสัญชาติอเมริกัน อย่าง Microsoft หรือแม้แต่ Twitter
เตรียมยื่นข้อเสนอขอซื้อ TikTok จาก ByteDance ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มนี้
แต่ก็ดูเหมือนว่าทางฝั่งจีนจะไม่ยอม โดยมีการกล่าวหาว่า
สหรัฐฯ กำลังรังแกบริษัทเทคโนโลยีของจีน เพื่อที่จะขโมยสิ่งที่เป็นของจีนไป
นอกจาก TikTok แล้ว สหรัฐฯ ยังต้องการที่จะแบน WeChat ของบริษัท Tencent
ซึ่งการกดดันนี้ ยังรวมไปถึงการห้ามบริษัทสหรัฐฯ ทำธุรกรรมกับบริษัทจีนเหล่านี้ด้วย
จริงๆ แล้ว สงครามเทคโนโลยีระหว่างสองประเทศนี้ ได้เริ่มต้นมาสักพักแล้ว
ประเดิมด้วยกรณีของ Huawei
เราคงคุ้นเคยกันว่า Huawei เป็นแบรนด์โทรศัพท์มือถือ
ซึ่งล่าสุด ในไตรมาส 2 ปี 2020 Huawei ก็เป็นแบรนด์ที่ขายโทรศัพท์มือถือได้มากสุดในโลก
ตามมาด้วย Samsung ของเกาหลีใต้ และ Apple ของสหรัฐอเมริกา
นอกจากนั้น Huawei ยังได้สิทธิ์เป็นผู้วางเครือข่าย 5G ในหลายๆ ประเทศ
อย่างไรก็ตาม ทางสหรัฐฯ ได้พยายามโจมตี Huawei
ว่าไม่มีการรักษาความปลอดภัยที่ดี และเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ
รวมถึงมีการกดดันไม่ให้บริษัทในประเทศ และประเทศพันธมิตรทำธุรกิจกับ Huawei
ความขัดแย้งนี้ยังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นที่คุณ Meng Wanzhou โดนจับกุมตัว
แล้วคุณ Meng Wanzhou เป็นใคร?
คุณ Meng Wanzhou เป็นผู้บริหารฝ่ายการเงิน หรือ CFO ของ Huawei
ที่สำคัญคือ เธอยังเป็นลูกสาวของ Ren Zhengfei ผู้ก่อตั้ง Huawei ด้วย
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้เกิดขึ้น เมื่อปลายปี 2018
ศาลสหรัฐฯ ตั้งข้อหา Huawei ว่าละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาต่ออิหร่าน
และคอยสนับสนุนอิหร่านอยู่เบื้องหลัง
จนนำมาสู่การจับกุมตัวคุณ Meng Wanzhou ในวันที่ 1 ธันวาคม 2018 ที่สนามบินนานาชาติแวนคูเวอร์
เธอถูกจับกุมนานถึง 10 วัน ก่อนจะได้รับอนุญาตให้ประกันตัว
ด้วยวงเงิน 10 ล้านดอลลาร์แคนาดา และออกมาสู้คดีต่อ
แต่เรื่องยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะดูเหมือนว่าจีนก็ไม่พอใจกับเหตุการณ์นี้เท่าไรนัก
หลังจากที่คุณ Meng Wanzhou ถูกจับกุมได้ไม่นาน
จีนก็ตอบโต้ด้วยการจับกุมอดีตนักการทูตแคนาดา และนักธุรกิจชาวแคนาดาในจีน
โทษฐานต้องสงสัยเป็นภัยต่อความมั่นคง
ส่วนทางฝั่งแคนาดา ก็มีการปลดทูตแคนาดาประจำประเทศจีน John McCallum
หลังจากที่เขา ได้แสดงความคิดเห็นในเชิงบวกกับสื่อจีนเกี่ยวกับคดีนี้
ซึ่งถือเป็นฑูตคนแรกในประวัติศาสตร์แคนาดา ที่ถูกให้ออกจากตำแหน่ง
ต่อมา เมื่อแคนาดาเตรียมที่จะส่งตัวคุณ Meng Wanzhou ไปยังสหรัฐอเมริกา
ตามกฎหมายการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
จีน จึงกดดันแคนาดาต่อด้วยการกีดกันสินค้าจากแคนาดา เช่น น้ำมันคาโนลา และเนื้อหมู
ซึ่งแน่นอนว่า แคนาดาย่อมจะได้รับผลกระทบไม่น้อย เพราะจีน ถือเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่
ส่วนแคนาดา ก็ตอบโต้กลับด้วยการเลื่อนพิจารณาที่จะให้ Huawei เป็นผู้ติดตั้งเครือข่าย 5G ในประเทศ และยังมีแนวโน้มว่าจะไม่อนุมัติ
ล่าสุดทนายฝั่งคุณ Meng Wanzhou ได้พยายามชะลอการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
โดยอ้างว่าแคนาดาไม่ได้มีกฎหมายคว่ำบาตรอิหร่านในขณะที่เจ้าหน้าที่แคนาดาเริ่มกระบวนการพิจารณาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
ดังนั้นจึงไม่เข้าเกณฑ์ double criminality ที่ต้องเป็นความผิดทั้งประเทศผู้ส่งตัว และประเทศผู้รับ จึงจะสามารถดำเนินการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้
ซึ่งตอนนี้ศาลแคนาดาก็กำลังพิจารณาประเด็นนี้อยู่
และเรื่องนี้ก็คงจะไม่จบลงง่ายๆ
ไม่ต่างจากปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา และจีน
ซึ่งก็คงจะไม่จบลงง่ายๆ เช่นกัน..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.