LUSH Cosmetics แบรนด์ไร้บรรจุภัณฑ์ แต่สร้างยอดขาย 30,000 ล้านบาท
Business

LUSH Cosmetics แบรนด์ไร้บรรจุภัณฑ์ แต่สร้างยอดขาย 30,000 ล้านบาท

10 พ.ย. 2021
LUSH Cosmetics แบรนด์ไร้บรรจุภัณฑ์ แต่สร้างยอดขาย 30,000 ล้านบาท /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่คะว่า ในแต่ละปี เราใช้ถุงพลาสติกมากถึง 5 แสนล้านใบบนโลก
และขยะพลาสติกอย่างน้อย 8 ล้านตัน จะถูกทิ้งลงในมหาสมุทร
หากนึกภาพง่าย ๆ จะเทียบเท่ากับรถบรรทุกขยะทิ้งขยะเต็มคันรถลงสู่ทะเลทุก 1 นาทีนั่นเอง
ซึ่ง LUSH Cosmetics (ลัช คอสเมติก) ก็เป็นแบรนด์เครื่องสำอางที่ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว
และมีเป้าหมายสนับสนุนการลดใช้พลาสติกอย่างจริงจัง
ด้วยการขายสินค้า “เปลือยเปล่า” ไร้บรรจุภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์หลัก
และไม่น่าเชื่อว่า แม้แต่ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความประณีตในการห่อบรรจุภัณฑ์อย่างประเทศญี่ปุ่น
LUSH Cosmetics ก็ยังสามารถเข้าไปตีตลาด และประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจได้
แล้วเรื่องราวของ LUSH Cosmetics น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
LUSH Cosmetics คือแบรนด์เครื่องสำอางออร์แกนิกแฮนด์เมดชื่อดัง สัญชาติอังกฤษ
มีผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว, ใบหน้า, ผม, ร่างกาย, น้ำหอม ไปจนถึงผลิตภัณฑ์วีแกน
ก่อตั้งขึ้นที่เมือง Poole ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ ในปี 1995 หรือเมื่อ 26 ปีที่แล้ว
โดยคุณ Mark Constantine และคุณ Mo Constantine สองสามีภรรยา ร่วมกับเพื่อนอีก 4 คน ได้เปิดร้านเครื่องสำอางทำมือเล็ก ๆ ผลิตจากส่วนผสมจากธรรมชาติ และตั้งชื่อว่า LUSH Cosmetics ในเวลาต่อมา
อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า LUSH Cosmetics เป็นธุรกิจ “สินค้าแฮนด์เมด” หรือ “สินค้าทำมือ”
เชื่อว่าหลายคนเมื่อได้ยินคำว่าแฮนด์เมด อาจนึกถึงธุรกิจขนาดเล็กเพียงเท่านั้น
แต่สำหรับ LUSH Cosmetics กลับเป็นแบรนด์เครื่องสำอางทำมือที่เติบโตระเบิด
จนปัจจุบันมีสาขามากถึง 937 แห่ง ใน 47 ประเทศทั่วโลก
และมีรายงานว่าในเดือนกรกฎาคม ปี 2019 - เดือนมิถุนายน ปี 2020
LUSH Cosmetics สามารถกวาดยอดขายไปสูงถึง 36,450 ล้านบาท
โดยในประเทศไทย LUSH Cosmetics ก็ได้บินตรงจากประเทศอังกฤษเข้ามาเปิดตัวครั้งแรก
ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2016 ที่ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์
และสามารถขยายสาขาไปถึง 7 สาขาด้วยกัน ทั้งในกรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา และเชียงใหม่
แล้วคำถามที่ตามมาคือ จุดเด่นอะไรที่ทำให้แบรนด์เติบโตอย่างก้าวกระโดด ?
แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้น “กลิ่น” อันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น
ที่ไม่ว่าใครเดินผ่านหน้าร้าน คงต้องหันมองหาที่มาของกลิ่นหอมเตะจมูกอย่างแน่นอน
รวมถึง “หน้าตาสินค้า” ที่อัดแน่นไปด้วยสีสันสดใส หลากหลายรูปทรงการออกแบบ
ดึงดูดให้เราเข้าไปดูใกล้ ๆ จนรู้ตัวอีกทีคงได้เสียเงินให้ร้านนี้เป็นที่เรียบร้อย
อีกทั้ง LUSH Cosmetics ใช้ “ส่วนผสมออร์แกนิก” จากธรรมชาติ เช่น ผัก, ผลไม้, ถั่ว และงา
และ “ผลิตด้วยมือ” (แฮนด์เมด) ทั้งหมด ไม่ใช้เครื่องจักรอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องอีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น LUSH Cosmetics ยังโด่งดังในเรื่อง “ความสดใหม่” ของผลิตภัณฑ์
ซึ่งแบรนด์เชื่อว่า ยิ่งส่วนผสมในเครื่องสำอางสดมากเท่าไร ประสิทธิภาพก็จะดีขึ้นมากเท่านั้น
ที่สำคัญ ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดล้วนปราศจากสารกันเสีย แม้ว่าจะทำให้มีวันหมดอายุค่อนข้างเร็ว
แต่แลกกับความปลอดภัยและคุณภาพสดใหม่ ก็ถือได้ว่าคุ้มค่ามากทีเดียว
อีกสิ่งที่น่าสนใจ คือ เมื่อเดินเข้ามาในร้านจะเห็นสินค้าวางเรียงรายกันมากมาย
ซึ่งผลิตภัณฑ์จำนวนหนึ่งก็วางกองตามตะกร้า โดยไม่มีบรรจุภัณฑ์ห่อหุ้ม
ทางแบรนด์เรียกสินค้าประเภทนี้ว่า สินค้า “Naked” หรือ “เปลือย”
โดยผลิตภัณฑ์ของ LUSH Cosmetics กว่า 40% ไร้บรรจุภัณฑ์
ขายในรูปแบบก้อนห่อด้วยผ้า หรือใส่ถุงรีไซเคิล
เนื่องจากแบรนด์ คำนึงถึง ความจริงที่ว่าผู้บริโภคต้องการตัวผลิตภัณฑ์ ไม่ใช่บรรจุภัณฑ์
ซึ่งที่ผ่านมา บางครั้งผู้บริโภคก็เสียเงินให้ค่าบรรจุภัณฑ์ ที่ภายหลังจะกลายเป็นขยะ มากกว่าค่าสินค้าจริงเสียอีก
แน่นอนว่า แบรนด์จึงสามารถนำงบประมาณในส่วนค่าบรรจุภัณฑ์นี้ ไปใช้กับวัตถุดิบคุณภาพสูงแทน
โดยต้นทุนการผลิตสินค้าเครื่องสำอางส่วนใหญ่คือ 80% สำหรับบรรจุภัณฑ์ และ 20% คือวัสดุในการผลิต
ตรงข้ามกับ LUSH Cosmetics ที่ใช้ต้นทุนไม่เกิน 20% สำหรับบรรจุภัณฑ์ และ 80-100% สำหรับวัสดุในการผลิต
ซึ่งสินค้าเปลือย ในรูปแบบก้อนของ LUSH Cosmetics ก็ไม่ได้มีเพียงสบู่ บับเบิลบาร์ หรือบาทบอมบ์ เท่านั้น แต่แชมพู เจลอาบน้ำ โลชันบำรุงผิว และอีกหลายผลิตภัณฑ์ก็อยู่ในรูปแบบก้อนเช่นเดียวกัน
เช่น แชมพูในรูปแบบก้อนของแบรนด์ สามารถสระผมได้มากถึง 100 ครั้ง หรือเทียบเท่าแชมพูในขวดพลาสติกขนาด 250 กรัม 3 ขวดด้วยกัน
ถ้านับจากยอดขายแชมพูก้อนสำหรับสระผมอย่างเดียว
LUSH Cosmetics ช่วยโลกลดขวดพลาสติกไปได้เกือบ 6 ล้านขวดแล้ว
มากไปกว่านั้น การจัดวางสินค้าแบบเปลือย ทำให้ลูกค้าได้เห็นเนื้อสัมผัสผลิตภัณฑ์โดยตรง
และภายในร้าน LUSH Cosmetics ยังมีอ่างล้างมืออยู่ในหลาย ๆ จุด ที่พนักงานยินดีให้ลูกค้าได้ทดลองผลิตภัณฑ์ ช่วยสร้างประสบการณ์ ความรู้สึกที่ดีแก่ผู้บริโภคอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แบรนด์ก็ยังไม่สามารถละทิ้งบรรจุภัณฑ์ได้ 100%
เพราะสินค้าที่อยู่ในรูปแบบของเหลวหรือครีม ยังคงต้องอาศัยบรรจุภัณฑ์ในการส่งต่อถึงมือลูกค้า
แต่แบรนด์ก็ยังไม่ทิ้งพันธกิจด้านการจัดการบรรจุภัณฑ์
ด้วยการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่ ๆ จากวัสดุรีไซเคิล ที่สามารถนำไปใช้ซ้ำ รีไซเคิล หรือย่อยสลายได้
เช่น บรรจุภัณฑ์กระปุกสีดำที่หลายคนอาจคุ้นตา ก็พัฒนาจากพลาสติกรีไซเคิล 100%
อีกทั้ง ลดการตกแต่งที่ตัวบรรจุภัณฑ์ ที่แบรนด์มองว่าสิ้นเปลืองทรัพยากร และสร้างขยะอีกด้วย
รวมถึงส่งเสริมให้ผู้บริโภคนำบรรจุภัณฑ์มาคืน ซึ่งจูงใจลูกค้าโดยการที่ให้ลูกค้าสามารถนำกระปุกครีมมาสก์หน้าที่ใช้แล้ว 5 ใบ มาแลกเป็นผลิตภัณฑ์ กระปุกใหม่ได้
เพื่อที่บริษัทจะนำบรรจุภัณฑ์ไปรีไซเคิล และนำกลับมาใช้ใหม่ ไม่เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรและสร้างปัญหาขยะให้โลกอีกด้วย
นอกจากนี้ แบรนด์ยังไม่สนับสนุนและไม่มีการทดลองผลิตภัณฑ์กับสัตว์ใด ๆ
ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่ LUSH Cosmetics ให้ความสําคัญอย่างมาก
โดยจะเลือกส่วนผสมจากบริษัทที่ไม่ได้ทำการทดสอบกับสัตว์
และเมื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ก็จะทดสอบกับอาสาสมัครที่เป็นมนุษย์เท่านั้น
ทั้งนี้ แบรนด์ยังมีโครงการเพื่อการกุศลอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านสิทธิมนุษยชน, สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
สุดท้ายนี้ จะเห็นได้ว่า LUSH Cosmetics เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของแบรนด์ที่ดำเนินธุรกิจ
ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
รวมถึงแสดงออกถึงความจริงใจให้ลูกค้าสัมผัสได้ โดยสะท้อนผ่านผลิตภัณฑ์อีกด้วย
จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไม LUSH Cosmetics ถึงสามารถสร้างชื่อเสียงผลิตภัณฑ์ที่แข็งแกร่ง
จนแทบจะไม่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์เลยด้วยซ้ำ..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.