CHA LING สกินแคร์สไตล์จีน ที่ก่อตั้งโดย อดีต CEO ของ Guerlain จากฝรั่งเศส
Health & BeautyBusiness

CHA LING สกินแคร์สไตล์จีน ที่ก่อตั้งโดย อดีต CEO ของ Guerlain จากฝรั่งเศส

18 พ.ย. 2021
CHA LING สกินแคร์สไตล์จีน ที่ก่อตั้งโดย อดีต CEO ของ Guerlain จากฝรั่งเศส /โดย ลงทุนเกิร์ล
จีน หนึ่งในประเทศที่แบรนด์ตะวันตกมักจะกระทบกระทั่งกันเรื่องวัฒนธรรมอยู่เสมอ
ไม่ว่าจะเป็น Dolce & Gabbana, Nike, Zara, Gap, Uniqlo และ H&M ต่างก็เคยประสบปัญหาการถูกแบนสินค้ามาแล้ว
แต่คำถามคือ ทำไมหลาย ๆ แบรนด์ยังคงมุ่งหน้าเข้าไปยังตลาดที่แสนจะท้าทายนี้
ซึ่งคำตอบ อาจจะเป็นเพราะผลประโยชน์ขนาดใหญ่ที่กำลังรออยู่
Nike มีรายได้ในปี 2020 จากจีน 2.0 แสนล้านบาท คิดเป็น 18% ของรายได้ทั้งหมด
Adidas มีรายได้ในปี 2020 จากจีน 1.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 24% ของรายได้ทั้งหมด
Uniqlo มีรายได้ในปี 2020 จากจีน 1.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 23% ของรายได้ทั้งหมด
และไม่เพียงแค่แบรนด์แฟชั่นเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในจีน
แต่แบรนด์ความงามต่างชาติก็สามารถกอบโกยเงินจากตลาดจีนไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
อย่างในกรณีของ The History of Whoo ที่ในปี 2019 ก็สามารถทำยอดขายในประเทศจีนได้สูงถึง 22,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 32% ของรายได้ทั้งหมดอีกด้วย
ซึ่งเราก็คงจะเห็นแล้วว่า ผลประโยชน์จำนวนมหาศาลนั้นทำให้ตลาดจีนดึงดูดให้แบรนด์ต่างชาติ สนใจอยากเข้ามาทำธุรกิจในดินแดนนี้ และหนึ่งในนั้นก็คือ CHA LING แบรนด์สกินแคร์ที่ดูมีความเป็นจีนอย่างชัดเจน แต่กลับมีผู้ก่อตั้งเป็นชายชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่า Laurent Boillot
โดยเขามีดีกรีเป็นถึงอดีต CEO ของแบรนด์ความงามหรูอย่าง Guerlain (เกอร์แลง) และ CEO คนปัจจุบันของแบรนด์คอนญักสัญชาติฝรั่งเศส Hennessy อีกด้วย
นอกจากนี้ CHA LING ยังอยู่ภายใต้เครือบริษัทแบรนด์หรูที่ใหญ่สุดในโลก อย่าง LVMH ที่เป็นบริษัทแม่ของ Louis Vuitton, Christian Dior และ Celine
ทำไมบริษัทตะวันตก ถึงต้องหันมาผลิตสกินแคร์ในแบบฉบับจีน ทั้ง ๆ ที่ความเป็นตะวันตกก็ได้รับการยอมรับอยู่แล้ว ?
แล้วเรื่องราวของแบรนด์ CHA LING จะน่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของ CHA LING นั้นเกิดขึ้นในปี 2016
เมื่อคุณ Laurent Boillot ซึ่งเป็น CEO ของ Guerlain ในขณะนั้น ได้เกิดความคิดที่อยากจะลองบุกตลาด C-Beauty จึงเริ่มทำการศึกษาอุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจัง
ซึ่งในเวลาต่อมา เขาก็ได้พบกับคุณ Josef Margraf นักชีววิทยาชาวเยอรมัน ซึ่งอาศัยอยู่ที่สิบสองปันนา ในมณฑลยูนนาน
ความคิดที่จะสร้างแบรนด์ความงามของคุณ Laurent Boillot จึงได้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น..
โดยพวกเขามองว่าคอนเซปต์ของแบรนด์ควรเน้นไปที่การใช้ “ชาผูเอ่อร์” ที่เก็บได้ใน “ป่า” ที่สิบสองปันนา ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องของการเป็นชาราคาสูงและหายาก มีปริมาณเพียงแค่ 0.1% ของการผลิตชาทั่วโลกเท่านั้น
ที่สำคัญคือ ชาผูเอ่อร์ยังมีความผูกพันกับอารยธรรมจีนมายาวนานกว่า 5,000 ปี และยังได้รับการยอมรับในวงการแพทย์แผนจีนว่ามีสรรพคุณที่ช่วยในการฟื้นฟูและล้างพิษ
ส่วนแพทย์แผนตะวันตกก็ได้นำชาผูเอ่อร์ไปวิจัย และพบจุลินทรีย์เกือบ 50 ชนิด แถมตัวชายังมีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ริ้วรอย และมลภาวะ ซึ่งเหมาะมากกับการนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ความงาม
ดังนั้น คุณ Laurent Boillot จึงเลือกใช้ชาผูเอ่อร์ มาเป็นพระเอกให้กับแบรนด์ CHA LING โดยสินค้าทุกชิ้นจะถูกพัฒนาขึ้นใน “ห้องแล็บของ Guerlain”
ซึ่งในปัจจุบัน CHA LING มีผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ เซรั่ม, ​ครีมทามือ, น้ำหอม, มาสก์ ไปจนถึงน้ำมันนวดตัว และจะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2,250-9,370 บาท
คุณ Laurent Boillot ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในปี 2019 ว่า ยอดขายของ CHA LING เติบโตถึง 2 เท่าในทุก ๆ ปีนับตั้งแต่เปิดตัวมา
แต่อย่างไรก็ตาม คุณ Laurent Boillot ก็ได้เปิดเผยว่า จะขอใช้เวลาในการพัฒนาแบรนด์ CHA LING เพิ่มขึ้นอีกสักระยะหนึ่ง ก่อนที่จะเดินหน้าขยายกิจการอย่างจริงจัง
แล้วแบรนด์ CHA LING ใช้กลยุทธ์อะไร ในการเอาชนะใจผู้บริโภคชาวจีน ?
เรื่องแรก ก็คือ การเข้าใจผู้บริโภคของแบรนด์จริง ๆ
เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการกระทบกระทั่งกันทางวัฒนธรรม เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับแบรนด์ชาติตะวันตกอื่น
CHA LING จึงได้มีการตั้งทีมสื่อสาร และการค้าปลีกที่ศึกษาเรื่องในจีนโดยเฉพาะ เพื่อให้แบรนด์สามารถใช้เวลาในการศึกษาวัฒนธรรม และสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ก็ยังมีการเรียนรู้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกค้า ในการใช้แพลตฟอร์มจีนต่าง ๆ ซึ่งมีรูปแบบที่แตกต่างไปจากแพลตฟอร์มที่เราใช้กันอยู่ทั่วไป
และเหตุผลที่แบรนด์ต้องศึกษาเรื่องนี้ก็เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเริ่มจัดแคมเปญในแต่ละแพลตฟอร์มนั่นเอง
ถัดมาคือ ส่วนผสม สำคัญกว่าต้นกำเนิดของแบรนด์
แม้ว่า CHA LING จะไม่ได้เกิดขึ้นมาจากชาวจีน แต่ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องส่วนผสมที่แสดงถึงวัฒนธรรมจีน ได้เป็นอย่างดี
ประกอบกับโมเดลของ CHA LING จะเน้นไปที่ความยั่งยืนเป็นหลัก
โดยเริ่มตั้งแต่การจ้างคนท้องถิ่นในการเก็บใบชา และมีการทำสัญญาเป็นระยะเวลาถึง 10 ปี กับชาวไร่ว่าจะช่วยให้พวกเขามีรายได้ที่มั่นคงจากการเก็บใบชา
นอกจากนี้ CHA LING ยังได้ช่วยปลูกต้นชากว่า 130,000 ต้น และพืชอีก 8,000 สายพันธุ์ในพื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย โดยการตัดไม้ทำลายป่า และปัญหามลภาวะ
และประเด็นที่สาม ก็คือ การพึ่งพากลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อผู้ติดตาม ซึ่ง CHA LING จะเน้นอยู่ 4 กลุ่มหลัก ๆ คือ
KOC (Key Opinion Customer) กลุ่มผู้ใช้งานจริง ที่สามารถเป็นกระบอกเสียงให้แบรนด์ได้โดยไม่ต้องมีผู้ติดตามจำนวนมาก
แต่กลับมีอิทธิพลสูงต่อบุคคลรอบข้าง อย่างเพื่อนและครอบครัวกลุ่ม Advanced Leader ที่มีผู้ติดตามสูง แต่ไม่อยู่ในสายความงามโดยตรง
อย่างเช่น ศิลปิน และดีไซเนอร์ โดยคนกลุ่มนี้จะช่วยผลักดันให้แบรนด์เกิดการเปลี่ยนแปลง และออกมาจากกรอบเรื่องความงามเดิม ๆกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านความงาม อย่างเช่น Makeup Artist และช่างเสริมสวย
โดยคนกลุ่มนี้จะช่วยแบรนด์ในการสร้าง Engagement และถ่ายทอดเรื่องเกี่ยวกับแบรนด์ให้ผู้ติดตามที่สนใจเรื่องความงามได้ตรงกลุ่มเซเลบริตี ซึ่งรวมถึงดารา นางแบบ ไปจนถึงนักดนตรี
ซึ่งกลุ่มนี้จะเข้ามาช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) ให้กับคนทั่วไปได้รู้จัก CHA LING
จากที่เราได้กล่าวไปข้างต้น ก็คงจะเห็นแล้วว่า ตั้งแต่กระบวนการผลิต ไปจนถึงการตลาดของแบรนด์นั้นมีรายละเอียดที่ลึกซึ้งซ่อนอยู่
แต่คำถามสำคัญก็คือ ทำไมคุณ Laurent Boillot ถึงต้องทำเรื่องยุ่งยาก อย่างการปั้นแบรนด์ใหม่ที่นำเสนอในมุมของวัฒนธรรมจีน ทั้ง ๆ ที่แบรนด์ตะวันตกเองก็ได้รับความนิยมในจีนอยู่แล้ว
ซึ่งเหตุผลของเรื่องนี้ ก็อาจเป็นเพราะ กลุ่มลูกค้าชาวจีนที่ร่ำรวย เริ่มมีแนวโน้มที่จะหันมาซื้อสินค้าความงามจากแบรนด์ในประเทศตัวเองมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนยังมีท่าทีกีดกันสินค้าและวัฒนธรรมจากต่างชาติอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งไม่แน่ว่า ในอนาคตอาจมีมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อยอดขายของแบรนด์ความงามตะวันตกออกมาโดยตรง
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เสียลูกค้ากลุ่มสำคัญอย่างชาวจีนไป
การสร้างแบรนด์ใหม่ ซึ่งมีทั้งรูปลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นจีน ใช้ส่วนผสมจากจีน รวมถึงยังสร้างเครือข่ายที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น
ก็น่าจะทำให้ตัวแบรนด์ CHA LING มีความผูกพันกับความเป็นจีนอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่การยืมชื่อภาษาจีนมาใช้เฉย ๆ เท่านั้น
แต่ถ้าหากถามว่า แล้วจีนจะได้รับประโยชน์อะไรจากแบรนด์ CHA LING
เรื่องแรกเลยก็คือ เราต้องไม่ลืมว่า CHA LING อยู่ภายใต้เครือ LVMH ซึ่งเป็นเจ้าของร้านค้าปลีกเครื่องสำอางรายใหญ่อย่าง Sephora และนี่หมายถึงโอกาสครั้งใหญ่ที่สินค้า C-Beauty จะได้ออกไปโลดแล่นในสายตาชาวโลก
และที่สำคัญคือ ชาวจีนยังจะได้เรียนรู้วิธีการทำการตลาดจากบริษัทฝรั่งเศส ที่เป็นผู้นำในการปั้นแบรนด์ความงามว่า พวกเขาจะมีเทคนิคอย่างไร ที่จะทำให้ชาวต่างชาติยอมรับสินค้าความงามจากประเทศจีน
และถ้าหาก CHA LING สามารถทำได้สำเร็จ ก็อาจเป็นการปูทางให้แบรนด์จีนอื่น ๆ ได้เดินตามรอย
ซึ่งนับตั้งแต่วันแรกที่แบรนด์ CHA LING เปิดตัว ก็ถือเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว
และหนึ่งสิ่งที่เราเห็นได้จากแบรนด์นี้อย่างชัดเจนเลยก็คือ การเคารพวัฒนธรรมของลูกค้า ที่แม้ว่าจุดเริ่มต้นจะไม่ได้มาจากชาวจีนแท้ ๆ แต่หากเราพร้อมที่จะเรียนรู้วัฒนธรรมของลูกค้าเราอยู่เสมอ
เพียงเท่านี้ การเข้าไปอยู่ในใจลูกค้า ก็คงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.