ใครเป็นเจ้าของแมสก์ Welcare ที่ Sold Out แทบทุกวัน
Business

ใครเป็นเจ้าของแมสก์ Welcare ที่ Sold Out แทบทุกวัน

16 มี.ค. 2022
ใครเป็นเจ้าของแมสก์ Welcare ที่ Sold Out แทบทุกวัน /โดย ลงทุนเกิร์ล
เดี๋ยวนี้ถ้าเราจะออกจากบ้านแต่ละที ของที่จำเป็นคงไม่ได้มีแค่โทรศัพท์และกระเป๋าสตางค์
เพราะตอนนี้ “แมสก์” ได้กลายมาเป็นเสมือนอวัยวะที่ 33 ของเราเป็นที่เรียบร้อย
ซึ่งหนึ่งในแบรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในตอนนี้ก็คงจะต้องมีชื่อ Welcare อยู่แน่นอน
เนื่องจากเข้าไปที่ช่องทางร้านออฟฟิเชียลแต่ละครั้ง ก็มักจะขึ้นว่า “Sold Out”
แล้วสงสัยกันไหมคะว่า แบรนด์ Welcare นี้มีที่มาจากไหน และใครเป็นเจ้าของ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Welcare เป็นแบรนด์สินค้าสุขภาพ สัญชาติไทย ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2552 หรือเมื่อ 13 ปีที่แล้ว
ซึ่งเจ้าของแบรนด์ Welcare ก็คือ TPCS หรือ บริษัท ทีพีซีเอส จำกัด (มหาชน)
โดยในปัจจุบัน บริษัท TPCS มีมูลค่าอยู่ที่กว่า 2,400 ล้านบาท
ซึ่งถือเป็นบริษัทในกลุ่มวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย
ดำเนินธุรกิจหลักเป็นผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยสังเคราะห์แบบแผ่น ที่มีความสม่ำเสมอ นุ่มนวล และถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมโรงงาน
เช่น ผ้าบุหลังคา พรมปูพื้นรถยนต์ แผ่นกรองอากาศ แผ่นฉนวนกันความร้อน ซับในยกทรงสุภาพสตรี เสื้อกันหนาว ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์อื่น ๆ
พอฟังแบบนี้แล้ว หลายคนอาจจะรู้สึกไม่ค่อยคุ้นกับชื่อบริษัท TPCS สักเท่าไร
แต่ถ้าหากเราลองไปดูรายชื่อ “ผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรก” ของบริษัท TPCS ก็จะพบว่า ใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด
ข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 09/03/2565
1.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง ถือหุ้น 20%
2.ไทยวาโก้ ถือหุ้น 17%
3.ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล ถือหุ้น 10%
4.สหพัฒนพิบูล ถือหุ้น 9%
5.คุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ถือหุ้น 8%
ทั้ง 5 รายชื่อด้านบนนี้ มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับ “เครือสหพัฒน์” หนึ่งในบริษัทขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดในไทย และในขณะเดียวกัน บริษัท TPCS ยังมีสถานะเป็นบริษัทในเครือสหพัฒน์อีกด้วย
โดยเครือสหพัฒน์ถือเป็นผู้อยู่เบื้องหลังสินค้าในชีวิตประจำวันของเราเกือบทุกคน ไม่ว่าจะเป็น มาม่า, ฟาร์มเฮ้าส์, วาโก้, มองต์เฟลอ, ไลปอนเอฟ และอื่น ๆ อีกมากมาย
กลับมาที่เรื่องของแบรนด์ Welcare ซึ่งเป็นแบรนด์ภายใต้บริษัท TPCS
ปัจจุบัน Welcare มีสินค้าตั้งแต่ หมอนเพื่อสุขภาพ, เครื่องนอน, สินค้าสำหรับเด็ก รวมถึง “แมสก์” ที่กำลังเป็นสินค้ายอดนิยม ในตอนนี้
โดย Welcare ก็มีแมสก์ให้เลือกหลากหลายประเภท เพื่อรองรับการใช้งานที่แตกต่างกันไป เช่น
รุ่น 3D Medical Mask WF-99 แมสก์เกรดทางการแพทย์ ที่มาในรูปทรง 3D ให้เข้ากับรูปหน้า
รุ่น 3 Ply Health Mask หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ แมสก์ Level 1 ซึ่งเหมาะกับการใช้งานทั่วไป
รุ่น Medical Series สำหรับใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งจะแบ่งได้ 2 ระดับ
-Level 2 เหมาะกับการใช้ในหน่วยฉุกเฉิน ทันตกรรม และการรักษาแผลขนาดเล็ก
-Level 3 เหมาะกับการใช้ในทางศัลยกรรม และการรักษาแผลบาดเจ็บขนาดใหญ่
ซึ่งจุดเด่นของแมสก์ Welcare นั้นอยู่ที่ราคาสมเหตุสมผล และเป็นแมสก์แบรนด์แรกของไทย ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐาน จากสถาบันทั้งในไทยและต่างประเทศถึง 4 สถาบัน และยังได้รับการรับรองมาตรฐาน มอก. ครบทั้ง 3 ระดับ
ในขณะเดียวกัน แมสก์ของ Welcare ยังได้รับการพูดถึงบนโลกออนไลน์ ถึงคุณสมบัติที่มีความนุ่ม สบายหน้า สายคล้องหูนิ่ม ไม่ทำให้เจ็บหูเมื่อสวมใส่เป็นเวลานาน ไปจนถึง เรื่องการตัดเย็บที่มีคุณภาพ
ไม่เพียงแต่เสียงติชมเรื่องคุณภาพเท่านั้น
แต่ยอดขายของแมสก์ Welcare ก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน
โดยช่องทางการขายหลัก ๆ ของแมสก์ Welcare จะอยู่บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อย่าง Lazada, Shopee และ JD Central
ซึ่งทางแบรนด์ Welcare จะมีการเติมสินค้าใหม่เข้ามาในแพลตฟอร์มเหล่านี้ทุก ๆ วัน
แต่สำหรับรุ่นยอดนิยม อย่างเช่น 3D Medical Mask WF-99 และแมสก์ทั้ง 3 Level นั้น ก็มักจะ Sold Out
และถ้าหากถามว่าแบรนด์ Welcare นั้นขายดีแค่ไหน เราก็คงจะดูได้จาก รางวัลในปี 2563 ที่ทาง Lazada มอบให้แบรนด์ Welcare ในช่วง Mid-Year Sale ว่าเป็น “Most Valuable Brand” และ “Community Engagement Award”
ส่วนทางด้าน Shopee เอง ก็มีการมอบรางวัล “Best Deal” ให้กับ Welcare ซึ่งเป็นการพิจารณาจากโปรโมชัน และจำนวนคำสั่งซื้อที่สูงที่สุด ในกลุ่ม Health and Wellness จากในงาน “Shopee Brand Conference 2021”
แต่ไม่เพียงเท่านั้น หากเราไปดูสัดส่วนรายได้ กลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับสุขอนามัยและครัวเรือน ของบริษัท TPCS ซึ่งประกอบด้วยสินค้า เช่น แผ่นซัปพอร์ตแผ่นหลัง ข้อมือ และข้อเท้า, ผลิตภัณฑ์เครื่องนอนและเครื่องใช้เด็กอ่อน รวมถึงหน้ากากอนามัย ภายใต้แบรนด์สินค้า Welcare
ปี 2561 รายได้ 58.2 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 58.3 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 183.0 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 256.6 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ในปี 2563 รายได้เติบโตขึ้น 214% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
และต่อมาในปี 2564 รายได้ก็ยังคงเติบโตขึ้นอีก 40%
ซึ่งแม้ว่า สินค้ากลุ่มนี้จะไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัท แต่ในปี 2564 ก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้น และคิดเป็นสัดส่วนถึง 26% ของรายได้ทั้งบริษัท TPCS เลยทีเดียว
แน่นอนว่าการเติบโตเหล่านี้ ย่อมมีที่มาจากวิกฤติโรคระบาดตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่ในทุก ๆ วิกฤติจะมีทั้งคนที่เสียประโยชน์ และได้ประโยชน์จากมัน..
แต่ก็เป็นที่น่าคิดต่อไปว่า หากหลังจากนี้สถานการณ์ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ แบรนด์ Welcare จะกลับไปมีรายได้เท่าก่อนหน้านี้หรือไม่
ซึ่งก็ไม่แน่ว่า วิถีชีวิตของผู้คนในอนาคต อาจจะเคยชินกับการสวมใส่แมสก์ไปตามสถานที่แออัดอย่างขาดไม่ได้..
References:
-เอกสารคำอธิบายและวิเคราะห์ประจำปี 2564 ของบริษัท TPCS
-เอกสาร 56-1 ของบริษัท TPCS ปี 2563
-งบการเงินบริษัท TPCS ประจำปี 2564
-http://www.tpcsplc.com/ir
-https://www.bangkokbiznews.com/pr-news/biz2u/280096
-https://www.set.or.th/set/companyprofile.do?symbol=TPCS&ssoPageId=4&language=th&country=TH
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.