The YES แพลตฟอร์มช็อปปิง ที่แค่ตอบ “ใช่” และ “ไม่” แต่ระดมทุนได้ 1,000 ล้าน
Business

The YES แพลตฟอร์มช็อปปิง ที่แค่ตอบ “ใช่” และ “ไม่” แต่ระดมทุนได้ 1,000 ล้าน

28 เม.ย. 2022
The YES แพลตฟอร์มช็อปปิง ที่แค่ตอบ “ใช่” และ “ไม่” แต่ระดมทุนได้ 1,000 ล้าน /โดย ลงทุนเกิร์ล
ในยุคที่ข้อมูลทุกอย่างถูกย้ายเข้ามาอยู่ในโลกออนไลน์
ข้อดีก็คือทำให้เราสามารถค้นหาสิ่งที่ต้องการได้ง่าย ๆ เพียงปลายนิ้ว
แต่ในทางกลับกัน ข้อมูลที่เยอะเกินไป
ก็กลายมาเป็นอุปสรรคในการค้นหาสิ่งที่เราต้องการได้เช่นกัน
ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่หลาย ๆ คนอาจจะเคยพบเจอ ก็คือ บางครั้งเราอยากจะเลือกซื้อเสื้อผ้าสักชิ้น แต่พอเวลากดค้นหาทีไร ระบบก็มักจะแนะนำแต่ร้าน หรือแบรนด์ดัง ๆ ขึ้นมาให้เรา
ทั้ง ๆ ที่เสื้อผ้าจากแบรนด์เหล่านี้ อาจไม่ใช่สไตล์ที่เราต้องการก็ตาม
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ คุณ Julie Bornstein และคุณ Amit Aggarwal จึงได้เริ่มคิดค้น “The YES” แพลตฟอร์มช็อปปิง ที่รู้ใจเรา ได้จากการตอบ “ใช่” หรือ “ไม่” เท่านั้น
แพลตฟอร์ม The YES น่าสนใจอย่างไร ?
และอะไรที่ทำให้ The YES ระดมทุนได้กว่า 1,000 ล้านบาท ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
The YES ก่อตั้งโดยคุณ Julie Bornstein และคุณ Amit Aggarwal ในปี 2018
ทั้งคู่ได้รวมตัวกันและก่อตั้ง แพลตฟอร์มช็อปปิงรูปแบบใหม่ ที่อาศัยการตอบ “ใช่” หรือ “ไม่” มาช่วยในการประมวลผล
โดยผู้ใช้งานจะต้องตอบคำถามเบื้องต้น เช่น ชอบใส่เสื้อแบบไหน กางเกงทรงอะไร หรือชอบสีโทนไหน
หลังจากนั้น ระบบก็จะคัดเลือกเสื้อผ้าที่คิดว่าเราน่าจะชอบขึ้นมาให้ ซึ่งผู้ใช้งานก็มีหน้าที่เพียงแค่ตอบว่า “ใช่” หรือ “ไม่” ก่อนจะเลือกสินค้าชิ้นที่ชอบลงตะกร้าในขั้นตอนต่อไป
ซึ่งการทำงานของ The YES ก็จะคล้าย ๆ กับการที่เรามีผู้ช่วยสไตลิสต์ส่วนตัว หรือก็คือระบบที่จะคัดกรองสินค้าขึ้นมา แนะนำให้เหมาะกับผู้ใช้งานแต่ละคนโดยเฉพาะ
ในขณะเดียวกัน สินค้าใน The YES ก็จะมีให้เลือกตั้งแต่แบรนด์ทั่ว ๆ ไป อย่าง Everlane ไปจนถึงแบรนด์หรูอย่าง Gucci
ที่น่าสนใจคือ ก่อนหน้าที่แอปพลิเคชัน The YES จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2020 บริษัทก็สามารถระดมทุนได้กว่า 1,000 ล้านบาท จากบริษัทด้านการลงทุน เช่น Comcast Ventures, Bain Capital Ventures, Forerunner Ventures และ True Ventures
ซึ่งเหตุผลที่ทำให้นักลงทุนเหล่านี้ ตัดสินใจวางเดิมพันเป็นเงินก้อนใหญ่ ไว้กับบริษัทที่ยังไม่ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ ก็เป็นเพราะประสบการณ์ของผู้ก่อตั้ง
อย่างคุณ Julie Bornstein ที่เคยเป็นผู้บริหารระดับสูง ให้กับหลากหลายบริษัทชั้นนำ
ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่ง COO หรือก็คือ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ในบริษัท Stitch Fix ธุรกิจสไตลิสต์ส่วนตัว ที่มีผู้ใช้งานหลักหลายล้านคน
นอกจากนี้ เธอยังเคยเป็นถึง CMO หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด
และ CDO หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายดิจิทัล ของร้านค้าปลีกเครื่องสำอางระดับโลกอย่าง Sephora
รวมไปถึง เคยรับตำแหน่ง Head of E-Commerce ให้กับ Urban Outfitters ร้านค้าปลีกสินค้าแฟชั่นรายใหญ่ ที่อยู่ในตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
แต่ไม่ได้มีเพียงแค่ประสบการณ์การทำงานของผู้ก่อตั้งเท่านั้น ที่ทำให้ The YES สามารถระดมทุนได้ถึงหลักพันล้านบาท
เพราะอีกปัจจัยสำคัญก็คือ “เทคโนโลยี” ที่ The YES นำมาใช้ ก็เป็นอัลกอริทึม ซึ่งถูกออกแบบมาให้ สามารถเรียนรู้ความชอบของผู้ใช้งานแต่ละคนได้อยู่ตลอด
โดยในทุก ๆ ครั้งที่ผู้ใช้งานตอบ “ใช่” หรือ “ไม่” กับเสื้อผ้าแต่ละชิ้นที่ระบบแนะนำมาให้
ระบบก็จะเรียนรู้ว่า ผู้ใช้งานคนนั้นชอบ และไม่ชอบสินค้าแบบไหน ทำให้สามารถคัดเลือกเสื้อผ้าที่ตรงใจลูกค้าแต่ละคนได้มากยิ่งขึ้น ในครั้งถัด ๆ ไป
แต่ถ้าถามว่า เหตุผลทั้งหมดที่เรากล่าวมานี้ จะเพียงพอให้นักลงทุนยอมจ่ายเงินลงทุนระดับพันล้านบาทหรือไม่
คำตอบก็คงจะเป็นคำว่า “ไม่”
เพราะทรัพยากรที่แท้จริง และซ่อนอยู่เบื้องหลังแพลตฟอร์มนี้ก็คือ “ข้อมูล” ของผู้ใช้งานแต่ละคน ซึ่ง The YES จะได้มาจากการตอบคำถามของผู้ใช้งาน
และแม้ว่า ข้อมูลจะเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่กลับสามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างมหาศาล โดยข้อมูลของผู้ใช้งานเหล่านี้ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการตลาด และคาดการณ์แนวโน้มต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น
แม้แพลตฟอร์มทั่วไป จะมีระบบการเก็บข้อมูลที่ดี หรือระบบจะสามารถเรียนรู้ และทำความรู้จักผู้ใช้งานได้มากเช่นกัน
แต่ถ้าหากตัวแพลตฟอร์มถูกออกแบบมาให้ใช้งานยาก หรือซับซ้อนเกินไป
สุดท้าย มันก็จะกลายมาเป็นอุปสรรค ที่ทำให้ลูกค้าไม่อยากเข้าใช้งาน
ดังนั้น นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไม The YES ถึงมีทางเลือกให้ลูกค้าเพียงแค่ “ใช่” และ “ไม่” ซึ่งก็เป็นเพราะว่า พวกเขาต้องการมอบประสบการณ์ ที่ง่าย ไม่ซับซ้อน และสะดวกสบายที่สุดให้แก่ลูกค้า
ซึ่งการสร้างแพลตฟอร์มให้ออกมาเรียบง่ายแบบนี้นี่แหละ คือสิ่งที่ ยากที่สุด..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.