Daniel Wellington อดีตนาฬิกายอดขาย 8,000 ล้าน ทำไมไม่ฮิตเหมือนเก่า
Business

Daniel Wellington อดีตนาฬิกายอดขาย 8,000 ล้าน ทำไมไม่ฮิตเหมือนเก่า

18 พ.ค. 2022
Daniel Wellington อดีตนาฬิกายอดขาย 8,000 ล้าน ทำไมไม่ฮิตเหมือนเก่า /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ว่า Daniel Wellington ก่อตั้งด้วยเงินทุนประมาณ 830,000 บาท แต่กลับเติบโตจนมียอดขาย 8,300 ล้านบาท ภายในระยะเวลาเพียง 6 ปี
จนได้รับการขนานนามว่า เป็นบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดในยุโรป ณ ช่วงเวลานั้น
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นยอดขายของ Daniel Wellington ก็เริ่มตกลง
แถมในปี 2019 บริษัทยังรายงานว่า ขาดทุนอีกกว่า 750 ล้านบาท
จากจุดเริ่มต้น สู่จุดตกต่ำของ Daniel Wellington เป็นอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Daniel Wellington ก่อตั้งโดยชาวสวีเดน ชื่อคุณ Filip Tysander ในปี 2011
ซึ่งได้ไอเดียการทำแบรนด์นาฬิกา มาจากการเดินทางไปเที่ยวที่ออสเตรเลียหลังเรียนจบ
โดยในตอนนั้น เขาได้พบกับชาวอังกฤษชื่อคุณ Daniel Wellington ที่สวมใส่เรือนนาฬิกา Rolex เข้ากับสายนาฬิกาแบบผ้า
นี่เองจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้น รวมถึงเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ Daniel Wellington
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน
เนื่องจากหลังจากทริปการเดินทางในครั้งนั้น
คุณ Tysander โดนไล่ออกจากงานถึงสองครั้ง
ก่อนจะลงเรียนในหลักสูตรธุรกิจเพิ่มเติม
รวมถึงทำธุรกิจอีก 2 อย่าง นั่นคือ การขายเนกไทและขายนาฬิกาพลาสติก
และในปีที่เรียนจบ คุณ Tysander ได้ใช้เงินเก็บที่หามาได้ ประมาณ 830,000 บาท สร้างธุรกิจที่ 3 หรือก็คือ แบรนด์ Daniel Wellington นั่นเอง
ซึ่งด้วยลักษณะของนาฬิกา ที่ดูมีสไตล์แบบ “ลูกผู้ดี” ในราคาที่เข้าถึงได้ รวมถึงใส่ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง เหตุผลเหล่านี้ จึงทำให้ Daniel Wellington กลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว
นอกจากนั้น ในด้านการตลาดแทนที่จะจ่ายเงินค่าโฆษณาแบบปกติทั่วไป คุณ Tysander ก็เลือกที่จะให้สินค้าไปเลย เพื่อแลกกับการที่เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ จะถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียของพวกเขา ซึ่งในสมัยนั้น ถือเป็นเรื่องที่แบรนด์ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยใช้กัน
ในปี 2014 นาฬิกาของ Daniel Wellington ทำยอดขายได้มากกว่า 1 ล้านเรือน กวาดรายได้ไปถึง 2,400 ล้านบาท และในปีถัดมา ยอดขายของแบรนด์ยังเพิ่มขึ้นเป็นกว่าเท่าตัว แตะ 5,900 ล้านบาท
โดยจุดสูงสุดของ Daniel Wellington เกิดขึ้นในปี 2017 ที่แบรนด์สามารถทำยอดขายไปได้ถึง 8,300 ล้านบาท
แต่หลังจากนั้น ยอดขายของแบรนด์ ก็ลดลงเรื่อย ๆ
ปี 2018 รายได้ 6,900 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 5,900 ล้านบาท
แล้วอะไรคือปัจจัยที่ทำให้นาฬิกา Daniel Wellington ไม่เป็นที่นิยมเหมือนอย่างเคย ?
1.ลูกค้าไม่ได้สนใจแค่เรื่องความคุ้มค่า
ลูกค้ายุคนี้ เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความภักดีต่อแบรนด์ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากลูกค้าพยายามมองหาสิ่งที่ตนเองมองว่า “คุ้มค่า” และมี “คุณค่า” ในเวลาเดียวกัน
สำหรับ Daniel Wellington ที่ทำแบรนด์ออกมาเพื่อความคุ้มค่า โดยอาศัยเพียงสไตล์ที่ดูเรียบง่ายในราคาที่เข้าถึงได้ จึงไม่อาจตอบโจทย์ด้านคุณค่าในระยะยาว
รวมถึงเทรนด์ฟาสต์แฟชั่น ที่ทำให้สินค้าประเภทเครื่องแต่งกายมีราคาถูกลง มีส่วนให้คนเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัวไปเรื่อย ๆ
นาฬิกาของ Daniel Wellington จึงไม่ได้ตอบโจทย์ลูกค้าอีกต่อไป
2.โลกเข้าสู่ยุคของ Smartwatch
รู้หรือไม่ว่า หนึ่งในห้าของประชาชนชาวอเมริกัน หันมาใส่ Smartwatch แทนที่จะใส่นาฬิกาแบบดั้งเดิม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัจจัยด้านสุขภาพ ที่คนหันมาออกกำลังกายมากขึ้น รวมถึงเทรนด์สุขภาพ
ในยุคโรคระบาด ก็ทำให้คนหันมาใส่ Smartwatch กันมากขึ้นเช่นกัน
ที่สำคัญคือ ราคาของ Smartwatch ในยุคนี้ ก็ไม่ได้มีราคาสูง เมื่อเทียบกับสมัยก่อน เช่น Smartwatch ของ Xiaomi ก็มีราคาเริ่มต้นแค่หลักร้อยบาทเท่านั้น
ดังนั้น หลายคนจึงหันมาให้ความสนใจกับนาฬิกาอัจฉริยะเหล่านี้ แทนการใส่นาฬิกาแบบดั้งเดิม
ซึ่งหลังจากนี้ ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า
Daniel Wellington จะสามารถแก้เกม
และกลับมาครองใจลูกค้าอีกครั้งได้หรือไม่
โดยปัจจุบัน ทางแบรนด์ได้เริ่มปรับตัวบ้างแล้ว
อย่างถ้าเข้าไปดูในเว็บไซต์ ก็จะพบว่าแบรนด์ไม่ได้ขายแค่นาฬิกาเพียงอย่างเดียว แต่มีสินค้าจำพวกเครื่องประดับอย่าง สายนาฬิกา, กำไล, สร้อยคอ และแหวน เพิ่มขึ้นมาด้วย
รวมไปถึงมีการเพิ่มคุณค่าให้กับตัวแบรนด์ ผ่านการเลือกใช้วัสดุที่ผ่านการตรวจสอบด้านความยั่งยืน หรือมีสวัสดิการด้านการศึกษาให้กับคนในองค์กร
กล่าวคือ Daniel Wellington กำลังวางภาพลักษณ์ของบริษัทใหม่ ไม่ได้เป็นแค่แบรนด์นาฬิกาอีกต่อไป
แต่เปลี่ยนมาเป็นแบรนด์เครื่องประดับ และหยิบเอาเรื่องความยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในยุคนี้มองหา
มาทำการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น และเน้นการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียเหมือนเดิม..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.