Flip แพลตฟอร์มที่คล้าย TikTok แต่ขายเครื่องสำอางโดยเฉพาะ
Business

Flip แพลตฟอร์มที่คล้าย TikTok แต่ขายเครื่องสำอางโดยเฉพาะ

19 พ.ค. 2022
Flip แพลตฟอร์มที่คล้าย TikTok แต่ขายเครื่องสำอางโดยเฉพาะ /โดย ลงทุนเกิร์ล
หลายครั้ง เมื่อผู้บริโภคเจอเส้นทางการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ซับซ้อน และหลายขั้นตอน ส่งผลให้ลูกค้าหลายคนถอดใจกับการซื้อของออนไลน์
ซึ่งสิ่งนี้ ทำให้คุณ Nooruldeen “Noor” Agha ตัดสินใจสร้าง Flip แพลตฟอร์มขายเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ความงามแบบครบวงจร
ตั้งแต่การค้นหาสินค้า, คลิปวิดีโอรีวิวสินค้าสั้น ๆ จากผู้ใช้งานจริง และสามารถช็อปได้ทันทีหลังตัดสินใจ
เรียกได้ว่า เส้นทางการซื้อสินค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์ม Flip สามารถตอบโจทย์ประสบการณ์การซื้อสินค้าออนไลน์ในยุคปัจจุบันได้ดีทีเดียว
แล้วแอปพลิเคชัน Flip มีความน่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของแพลตฟอร์ม Flip นั้นมาจาก การที่คุณ Agha สังเกตเห็นว่า โลกอีคอมเมิร์ซในขณะนั้น มีเส้นทางการซื้อสินค้าออนไลน์ ที่ค่อนข้างกระจัดกระจาย
โดยอาจเริ่มจากการที่ลูกค้าเห็นสินค้าจากโซเชียลมีเดีย จากนั้นต้องไปค้นหารีวิวที่เป็นคลิปวิดีโอจากอีกแพลตฟอร์ม เพื่อหาข้อมูล แต่เวลาซื้อสินค้ากลับต้องไปใช้งานอีกแพลตฟอร์ม
เรียกได้ว่า ลูกค้าอาจจะต้องย้ายแพลตฟอร์ม อย่างต่ำ 3 ครั้ง กว่าจะตัดสินใจและได้ซื้อสินค้าสักชิ้น
ซึ่งคุณ Agha ที่เคยทำงานในบริษัทอีคอมเมิร์ซมาก่อน จึงอยากปรับเส้นทางการซื้อสินค้า ให้เข้ากับโลกอีคอมเมิร์ซในปัจจุบัน
นี่เอง จึงเป็นที่มาของแอปพลิเคชัน Flip ในปี 2019
Flip คือ แพลตฟอร์มขายเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ดูแลผิวแบบครบวงจร ที่ผสมผสานระหว่างความเป็นชุมชน และการค้าขายเข้าด้วยกัน
ซึ่งภายในแพลตฟอร์มนี้ จะเต็มไปด้วยคลิปวิดีโอสั้น ๆ ที่พูดถึงสินค้า และการรีวิวเครื่องสำอาง โดยสามารถเลื่อนดูได้อย่างไม่รู้จบ คล้ายกับรูปแบบของแอปพลิเคชัน TikTok
อีกทั้งยังสามารถซื้อสินค้าภายในแพลตฟอร์มได้ทันที โดยไม่ต้องย้ายไปสั่งสินค้า หรือจ่ายเงินที่แพลตฟอร์มอื่น
โดยสินค้าภายในแอปพลิเคชัน Flip ก็มีแบรนด์ความงามชั้นนำกว่า 100 แบรนด์ให้เลือกช็อป เช่น Hourglass, Foreo, Supergoop, Saie, Huxley, Pixi และแบรนด์อื่น ๆ อีกมากมาย
เรียกได้ว่า ลูกค้าสามารถหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และสามารถซื้อสินค้า โดยจบได้ภายในแพลตฟอร์มเดียว
ซึ่งหากถามว่า การซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน Flip แตกต่างจากช่องทางอีคอมเมิร์ซอื่น ๆ อย่างไร ?
อย่างแรก คือ Flip แทบจะเป็นแพลตฟอร์มแรก ๆ ที่ขายผลิตภัณฑ์ความงาม และเครื่องสำอาง โดยการใช้วิดีโอเป็นสื่อหลัก
เนื่องจากปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์มที่ขายผลิตภัณฑ์ความงาม และเครื่องสำอาง ก็มักจะใช้ภาพนิ่งเป็นส่วนใหญ่
ซึ่งข้อดีของการรีวิวสินค้าด้วยวิดีโอ คือสามารถดึงดูดผู้บริโภคได้มากกว่าการรีวิวด้วยภาพนิ่ง อีกทั้งยังสามารถดูได้อย่างเพลิดเพลิน คล้าย ๆ กับที่เรานั่งดูเหล่าบิวตีบล็อกเกอร์รีวิวสินค้า
นอกจากนี้ วิดีโอยังช่วยทลายกำแพงเรื่องภาษา
เพราะลูกค้าสามารถเห็นสินค้าในขณะใช้งานจริงผ่านคลิปวิดีโอ ไม่ใช่แค่การอ่านผ่านข้อความอีกต่อไป
โดยการรีวิวสินค้า ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของแพลตฟอร์ม Flip ก็มาจากเหล่าผู้ใช้งานจริง ที่รีวิวอย่างตรงไปตรงมา เหมือนเพื่อนเล่าให้ฟัง
อีกทั้งการรีวิวจะมีการรวบรวมสินค้าจากทุกแบรนด์ ให้อยู่ที่หน้าแรกของแอปพลิเคชัน และการรีวิวสินค้าที่แบ่งตามแบรนด์ จะอยู่ที่หน้าหลักของแบรนด์นั้น ๆ
เรียกได้ว่า ลูกค้าที่กำลังมองหาสินค้าใหม่ หรือหากต้องการดูสินค้าที่เฉพาะเจาะจง ก็สามารถเลือกดูรีวิวที่สนใจได้ทันที
ถัดมา คือ ผู้รีวิวสามารถสร้างรายได้จากคลิปรีวิว โดยไม่ต้องมีข้อตกลงกับแบรนด์
โดยแพลตฟอร์ม Flip จะให้ค่าตอบแทนกับผู้รีวิวสินค้า โดยวัดจากยอดเข้าชม เพื่อเป็นแรงจูงใจในการรีวิวสินค้าอย่างต่อเนื่อง
แน่นอนว่า ใครก็ตามที่ซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มนี้ ก็สามารถรีวิวสินค้าได้ทันที เพื่อเป็นข้อมูลให้กับคนอื่น ๆ อีกทั้งยังได้ค่าตอบแทน โดยไม่ต้องมีข้อตกลงกับแบรนด์อีกด้วย
นอกจากนั้น ผู้สมัครที่ใช้แพลตฟอร์มนี้ทุกคน หรือที่เรียกว่า Flipper สามารถโหวตว่าชอบหรือไม่ชอบ ให้กับคลิปรีวิวต่าง ๆ และจะได้รับเครดิตเงินคืน เพื่อสะสมเป็นส่วนลดในการซื้อของได้สูงสุดถึง 30 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,040 บาทเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแพลตฟอร์ม Flip จะไม่มีการเปิดเผยรายได้ของบริษัท
แต่มีรายงานว่าในปี 2021 ยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ได้สูงถึง 1 ล้านครั้งเป็นที่เรียบร้อย
รวมถึงเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2021 ที่ผ่านมา แอปพลิเคชัน Flip ได้ประกาศว่า สามารถระดมทุนในรอบ Series A ได้ 970 ล้านบาท
ทำให้ตั้งแต่ก่อตั้ง Flip ได้รับเงินจากนักลงทุน รวม 1,100 ล้านบาท
นอกจากนี้ Flip ยังมีแผนที่จะเพิ่มแบรนด์ความงามประมาณ 20-25 แบรนด์ต่อสัปดาห์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ซึ่งคุณ Agha ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า นี่เป็นอีกหนึ่งความฝันของเขา ในการสร้างแพลตฟอร์มร้านค้าที่ซื่อสัตย์ จริงใจ และทุกคนสามารถพูดได้ว่าอะไรดี หรืออะไรไม่ดี
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมความงาม ที่ปัจจุบัน แบรนด์ต้องจ่ายเงินให้อินฟลูเอนเซอร์เพื่อรีวิวสินค้า
และคุณ Agha ยังเชื่อว่า ในอนาคต อีคอมเมิร์ซจะถูกขับเคลื่อนด้วยประสบการณ์ตรง จากนักช็อปตัวจริงมากกว่า..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.