ทำไม LVMH ยังเลือกขาย “ขนสัตว์” ในวันที่สังคมรณรงค์ให้เลิกใช้
Business

ทำไม LVMH ยังเลือกขาย “ขนสัตว์” ในวันที่สังคมรณรงค์ให้เลิกใช้

30 พ.ค. 2022
ทำไม LVMH ยังเลือกขาย “ขนสัตว์” ในวันที่สังคมรณรงค์ให้เลิกใช้ /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ ในทุก ๆ ปี จะมีสัตว์กว่า 100 ล้านตัว ที่ถูกฆ่า เพื่อนำ “ขน” ไปใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่น
และถ้าหากใครยังนึกภาพความโหดร้ายของอุตสาหกรรมขนสัตว์ไม่ออก
หนึ่งในตัวอย่าง ความทารุณที่เกิดขึ้นก็คือ ที่ประเทศจีน มีการทำฟาร์มขนกระต่ายพันธุ์ Angora ด้วยการจับพวกมันมัดเท้าทั้ง 4 ข้าง แล้วขึงไว้บนโต๊ะ หลังจากนั้นพวกเขาก็จะใช้มือ “กระชากขน” ของพวกมันออกมา “ทั้งเป็น” และกระต่ายก็จะดิ้นรนด้วยความเจ็บปวด..
นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวของความโหดร้ายในอุตสาหกรรมขนสัตว์ ที่ทำให้ทั้งผู้บริโภค และแบรนด์ต่าง ๆ เริ่มเปลี่ยนมาใช้ทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสัตว์มากขึ้น
แต่ในทางกลับกัน บริษัทเจ้าของพอร์ตแบรนด์หรูที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง LVMH กลับเลือกที่จะใช้ขนสัตว์แบบสวนกระแสสังคม
แล้วทำไม LVMH ยังเลือกขาย “ขนสัตว์” ในวันที่สังคมรณรงค์ให้เลิกใช้ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
อย่างที่ทราบกันดีว่า “แกะ” บางสายพันธุ์ไม่สามารถผลัดขนได้เองตามธรรมชาติ
ดังนั้น มันจึงต้องอาศัยมนุษย์คอยตัดขนให้อยู่ตลอด เพราะไม่เช่นนั้น ขนของมันก็จะหนา และหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนส่งผลเสียต่อสุขภาพของมัน
แต่จริง ๆ การที่แกะไม่สามารถผลัดขนได้เอง ก็เป็นผลมาจาก “มนุษย์”
เพราะปกติแล้ว แกะป่าที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ มันก็สามารถผลัดขนได้เอง โดยไม่ต้องง้อมนุษย์
แต่สำหรับแกะเลี้ยง โดยเฉพาะสายพันธุ์ Merino ที่มนุษย์นิยมนำขนไปใช้ทำเสื้อผ้า กลับไม่สามารถผลัดขนได้เอง เนื่องจากแกะ Merino ถูกมนุษย์ผสมพันธุ์ขึ้น จนได้เป็นแกะที่มีขนเยอะ และนุ่มมาก จนได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในขนแกะที่ดีที่สุด
แต่ในทางกลับกัน แกะ Merino ก็ถูกเรียกว่าเป็น “ฝันร้ายของการวิวัฒนาการ” เนื่องจากแกะ Merino จะไม่สามารถอยู่รอดได้เองในธรรมชาติ หากปราศจากการตัดขน โดยมนุษย์..
นอกจากกรณีของแกะ Merino แล้ว การเก็บขนสัตว์บางประเภทก็ยังมีการฆ่าสัตว์ แล้วถลกหนัง เพื่อให้ได้เส้นขนที่อยู่ติดกับผิวหนัง หรือบางกรณีก็อาจมีการทำฟาร์มสัตว์ ด้วยการเลี้ยงสัตว์ในกรงแคบ และสกปรก ราวกับว่ามันเป็นเพียงเครื่องจักรผลิตขน ที่ไร้ชีวิตจิตใจ
ความโหดร้ายทั้งหมดนี้ ทำให้หลายคนตัดสินใจเลิกซื้อสินค้าที่ทำมาจากขนสัตว์ และกดดันให้บริษัทต่าง ๆ ยุติการทารุณกรรมสัตว์
ซึ่งหนึ่งในกรณีที่เกิดขึ้นจริง ก็คือ Canada Goose แบรนด์เสื้อกันหนาวระดับโลก ที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพในการกันหนาว เนื่องจากมีการใช้ขนสัตว์ โดยเฉพาะขนห่านคุณภาพเยี่ยม ที่ช่วยรักษาความอบอุ่นได้ดี
แต่สิ่งที่ตามมาก็คือ การถูกกดดันจากผู้บริโภค และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรต่าง ๆ อยู่ตลอด
จนในที่สุด บริษัทก็ได้ประกาศว่า ได้ยุติการซื้อขนสัตว์ไปแล้วในปี 2021 และตั้งเป้าที่จะเลิกผลิตสินค้าด้วยขนสัตว์ให้ได้ภายในปี 2022 นี้
ซึ่งนี่ถือเป็นข่าวใหญ่แห่งวงการขนสัตว์เลยก็ว่าได้ ที่แบรนด์ใหญ่ ๆ ออกมาหันหลังให้กับการใช้ขนสัตว์
แต่ในขณะเดียวกัน บริษัทเจ้าของพอร์ตแบรนด์หรูที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่าง LVMH กลับเลือกทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม และยังประกาศว่าบริษัทไม่มีแผนที่จะเลิกใช้ขนสัตว์ในเร็ว ๆ นี้อีกด้วย
แล้วทำไม LVMH ถึงยังคงเดินหน้าใช้ขนสัตว์ ?
คุณ Antoine Arnault ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายภาพลักษณ์ และสิ่งแวดล้อมของ LVMH รวมถึงยังเป็นลูกชายคนโตของคุณ Bernard Arnault เจ้าของบริษัท LVMH ได้ให้คำตอบในเรื่องนี้ว่า
1.เนื่องจากต้นตอของการต่อต้านขนสัตว์ ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องการทารุณกรรมสัตว์
แต่สำหรับ LVMH ที่ถึงจะมีการใช้ขนสัตว์ แต่บริษัทก็ได้เน้นย้ำในการใช้ขนสัตว์จากแหล่งผลิตที่มีจริยธรรม และตรวจสอบได้
อย่างกรณีของ Loro Piana แบรนด์ที่ขายเสื้อผ้าขนสัตว์โดยเฉพาะ ซึ่งอยู่ในเครือ LVMH ก็พยายามทำทุกขั้นตอนให้เป็นมิตรต่อสัตว์มากที่สุด
โดยเริ่มตั้งแต่ การเลี้ยงสัตว์ ที่เลี้ยงในพื้นที่กว้าง รวมถึงสร้างเขตอนุรักษ์สัตว์ เพื่อให้สัตว์ได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติมากที่สุด และยังเป็นการปกป้องพวกมันจากการถูกมนุษย์ไล่ล่า เนื่องจากขนสัตว์บางประเภทมีราคาสูง จนเป็นที่หมายปองของใครหลายคน
ส่วนขั้นตอนการเก็บขน หากเป็นแพะ พวกเขาก็จะค่อย ๆ หวีขนมันอย่างเบามือ และนำเอาขนที่หลุดร่วงออกมาไปใช้ทอผ้า และแพะบางสายพันธุ์ก็จะถูกเก็บขน แค่ปีละ 200-250 กรัมต่อหนึ่งตัว
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการยืนยันกับผู้บริโภคว่า ขนสัตว์ที่นำมาใช้ มาจากแหล่งที่มีความรับผิดชอบจริง ๆ
LVMH จึงร่วมมือกับ IFF (International Fur Federation) เปิดตัว Furmark เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถสแกนป้ายที่อยู่ในเสื้อขนสัตว์ เพื่อดูถึงที่มาของขนสัตว์ ว่ามาจากแหล่งผลิตไหน
2.หากมีการเลิกใช้ขนสัตว์ จะส่งผลกระทบกับการจ้างงาน ผู้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านี้
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์, โรงฟอกสี, โรงทอ ไปจนถึงบริษัทที่ผลิตสินค้าต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมขนสัตว์
3.ถ้าหาก LVMH ไม่ขายขนสัตว์ ผู้บริโภคก็จะซื้อผลิตภัณฑ์จากขนสัตว์อยู่ดี แต่อาจไปซื้อจากแหล่งผลิตที่ไม่มีความรับผิดชอบแทน
เพราะถึงแม้ว่าจะมีคนบางกลุ่มที่ต่อต้าน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ให้ “มูลค่า” กับขนสัตว์แท้ ๆ และมองว่ามันเป็นสินค้าหรูหรา รวมไปถึงเรื่องคุณภาพของขนสัตว์แท้ ๆ ก็ยังยากที่ขนเทียมจะเลียนแบบได้
ดังนั้น ถึง LVMH จะไม่ขายขนสัตว์ แต่สุดท้ายความต้องการตรงนี้ก็ยังไม่ได้หายไปไหน..
เพราะสุดท้ายแล้ว มันก็อาจจะขึ้นอยู่กับ “ผู้ซื้อ”
และที่บริษัทเหล่านี้ยังผลิตสินค้าออกมาขายได้เรื่อย ๆ ก็เป็นเพราะมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการ
แต่ถ้าหากในวันหนึ่ง ผู้คนไม่ให้คุณค่ากับสิ่งนี้แล้ว
พวกเขาจะผลิตขึ้นมาขายใคร..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.