Loop Mission สตาร์ตอัปที่ผลิต เบียร์, น้ำผลไม้ ไปจนถึง อาหารสุนัข ด้วย “ขยะอาหาร”
Business

Loop Mission สตาร์ตอัปที่ผลิต เบียร์, น้ำผลไม้ ไปจนถึง อาหารสุนัข ด้วย “ขยะอาหาร”

31 พ.ค. 2022
Loop Mission สตาร์ตอัปที่ผลิต เบียร์, น้ำผลไม้ ไปจนถึง อาหารสุนัข ด้วย “ขยะอาหาร” /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ว่า 14% ของอาหารที่เก็บเกี่ยวได้ทั่วโลก กลับถูกนำไปทิ้งลงถังขยะ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เคยถูกกินมาก่อน จนทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่าง “ก๊าซเรือนกระจก” ซึ่งกว่า 8-10% ของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก็มีต้นตอมาจากขยะอาหารในหลุมฝังกลบ
จากปัญหาเหล่านี้ ก็ได้จุดไอเดียธุรกิจ และเกิดเป็น “Loop Mission” สตาร์ตอัปที่จะเข้ามาช่วยต่อชีวิตอาหารที่ใกล้ถูกทิ้ง ให้กลายมาเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าได้ หลักร้อยล้านบาท
และที่น่าสนใจ คือ Loop Mission ยังได้รับการสนับสนุนจาก “รัฐบาลแคนาดา” อีกด้วย
Loop Mission น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของ Loop Mission เกิดขึ้นจากการพบกันของคุณ Julie Poitras-Saulnier และคุณ David Côté ซึ่งเขาเป็นเจ้าของเชนร้านอาหารมังสวิรัติ และบริษัทคอมบูชะ ส่วนคุณ Saulnier ว่าที่ภรรยาในอนาคต ก็เป็นคนที่มีประสบการณ์การทำงาน ในเรื่องสิ่งแวดล้อมมาแล้วในหลายองค์กร ทำให้ทั้งคู่มักจะพบเจอกับปัญหาขยะอาหารคล้าย ๆ กัน
ดังนั้น ทั้งสองจึงตกลงที่จะมาแก้ปัญหานี้ร่วมกัน ด้วยการก่อตั้ง Loop Mission ขึ้นในปี 2016
โดยเงินทุนในการทำธุรกิจครั้งนี้ มาจากการ “ขายบ้าน” ของคุณ Saulnier และการ “ขายธุรกิจ” ของคุณ Côté
ส่วนสินค้าแรกของ Loop Mission ก็คือ น้ำผักผลไม้สกัดเย็น 4 รสชาติ และวางขายในราคาประมาณ 130 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ถูกกว่าครึ่งหนึ่งจากท้องตลาด
โดยวัตถุดิบทั้งหมด จะมาจากผักและผลไม้ที่กำลังจะกลายเป็นขยะ
เนื่องจากขายไม่หมด หรือรูปร่างหน้าตาไม่สวยงามตามมาตรฐาน
อย่างเช่น สีผิดเพี้ยน รูปร่างบิดเบี้ยว ไปจนถึงเรื่องขนาดที่อาจจะเล็กหรือใหญ่จนเกินไป
ซึ่งแม้ว่าลักษณะเหล่านี้ อาจไม่ส่งผลต่อคุณภาพของวัตถุดิบ แต่มันกลับส่งผลให้ยากต่อการขาย ทำให้เหล่าร้านค้า และผู้ผลิตต้องทิ้งวัตถุดิบเหล่านี้ไปโดยเปล่าประโยชน์
โดยหลังจากวางขายน้ำผลไม้สกัดเย็นไปได้ไม่นาน ผู้ก่อตั้งทั้งสอง ก็เริ่มได้รับการติดต่อจากเกษตรกร, ร้านขายของชำ, ร้านเบเกอรี และโรงงานผลิตอาหาร ให้ทั้งคู่ช่วยกำจัดเศษอาหารที่เหลือทิ้ง
พอเรื่องเป็นแบบนี้ Loop Mission จึงได้ออกผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตามมา เช่น
-น้ำผลไม้สกัดเย็น จากผักและผลไม้ที่ใกล้ถูกทิ้ง
-เบียร์ จากการหมักขนมปังใกล้หมดอายุ ผสมกับผลไม้
-จิน จากเปลือกมันฝรั่ง
-สบู่ จากน้ำมันใช้แล้ว นำมาทำความสะอาด แล้วผสมกับผลไม้
ส่วนสาเหตุที่ Loop Mission มีการใช้ผลผลิตจาก “พืช” อยู่ในทุกสินค้า ก็เป็นเพราะว่าในจำนวนขยะอาหารทั้งหมดทั่วโลกนั้น จะมาจากพืชเป็นหลัก
อีกประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ แม้ว่าวัตถุดิบทั้งหมดที่ Loop Mission ใช้ จะเป็นสินค้าที่ใกล้ถูกทิ้ง ซึ่งปกติแล้ว ผู้ประกอบการที่นำสินค้าเหล่านี้ไปทิ้ง จะต้อง “เสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ”
แต่แทนที่ Loop Mission จะขอรับบริจาคมาแบบฟรี ๆ เพื่อประหยัดต้นทุน
พวกเขากลับเลือกวิธี “ซื้อ” วัตถุดิบในราคาที่ถูกกว่า ราว 30-40% ของราคาเต็ม
ซึ่งเป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประหยัดค่ากำจัดขยะ และยังได้เงินกลับมา ไปพร้อม ๆ กัน
ส่วนเหตุผลที่ Loop Mission เลือกที่จะจ่ายเงินซื้อวัตถุดิบเหล่านี้ ก็เพราะต้องการกระตุ้นให้ร้านค้า ยอมมาเข้าร่วมกับ Loop Mission และยังเป็นการให้มูลค่ากับผลผลิตเหล่านั้น โดยการทำให้มันไม่ใช่ของเหลือทิ้ง แต่เป็นสินค้าชิ้นหนึ่งที่มีมูลค่า ที่ผู้คนจะไม่มองว่า ตัวเองกำลังบริโภคของเหลือใช้ หรืออาหารจากขยะ
เพราะจริง ๆ แล้วผลผลิตที่กลายมาเป็นขยะอาหาร ก็ไม่ได้เกิดจากการเน่าเสีย เพียงแต่เป็นผลผลิตที่หน้าตาไม่สวย หรือมาจากร้านค้าที่สั่งสินค้ามาขายมากเกินไป จนขายไม่หมด
อย่างไรก็ตาม ถึง Loop Mission จะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อผลผลิตที่กำลังจะหมดอายุ
แต่ราคาสินค้าของ Loop Mission ก็ยังถูกกว่าสินค้าประเภทเดียวกันที่ขายในท้องตลาด
เพื่อดึงดูดลูกค้าให้หันมาซื้อสินค้า และสินค้าส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้าที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการประหยัดเงิน หรือมองหาทางเลือกที่ดีต่อโลก
โดยในปัจจุบัน สินค้าของ Loop Mission มีวางจำหน่ายทั้งแบบออนไลน์ และตามร้านค้าขนาดเล็ก ไปจนถึงห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เช่น
-Sobeys ห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของแคนาดา
-Whole Foods Market ห้างสรรพสินค้าที่เน้นขายสินค้า เพื่อคนรักสุขภาพ
แล้วธุรกิจของ Loop Mission สามารถทำเงินไปได้เท่าไร ?
ตามที่ผู้ก่อตั้ง Loop Mission เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ในปีแรกที่ดำเนินธุรกิจ พวกเขาทำรายได้อยู่ที่ 34 ล้านบาท และ 3 ปีต่อมา รายได้ก็ก้าวกระโดดขึ้นมาเป็น 170 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยถึง 124% เลยทีเดียว
นอกจากนี้ พวกเขายังได้ต่อยอดแผนธุรกิจที่ชื่อ “Loop Synergies” ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจแบบ B2B
โดยเป็น “บริการให้คำปรึกษา” แก่ร้านขายของชำ และผู้ผลิต ที่ต้องการหาวิธีลดขยะอาหารที่เกิดจากธุรกิจของตัวเอง และยังสามารถนำกลับมาสร้างมูลค่าได้อีกครั้ง
ซึ่งทางบริษัทจะเข้าไปช่วยหาวิธีในการยืดอายุของอาหารเหลือทิ้ง ให้กลายเป็น “ผงผัก, ผลไม้อบแห้ง, น้ำผลไม้ ไปจนถึงปูเร (purée) หรือก็คือ การนำอาหารปรุงสุกจากผักหรือผลไม้ มาบดให้อยู่ในรูปครีมหรือของเหลว แล้วนำไปแช่แข็ง เพื่อให้สามารถเก็บไว้ใช้ได้อีกนาน
ถัดมาที่อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ
เมื่อเดือนเมษายน ปี 2022 นี้ รัฐบาลกลางแคนาดา ได้ให้เงินสนับสนุนแก่ธุรกิจ Loop Mission ไปถึง 41 ล้านบาท และยังมีรัฐบาลของรัฐเกแบ็ก ซึ่งเป็นรัฐที่ตั้งสำนักงานของ Loop Mission ก็ยังได้ให้เงินกู้กับบริษัทแห่งนี้ อีกเป็นจำนวนเงินมากกว่า 116 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนธุรกิจ Loop Mission ในการสร้างโรงงานแห่งใหม่ สั่งซื้อเครื่องจักร และสานต่อแผนการขยายธุรกิจไปยังสหรัฐอเมริกา
นอกจากจะไปได้สวยในแง่ของการดำเนินธุรกิจแล้ว
Loop Mission ก็ยังสามารถทำตามเป้าหมายที่อยากให้โลกดีขึ้นได้เช่นกัน
โดยพวกเขาช่วยให้ ผักและผลไม้กว่า 8,000 ตัน ไม่ต้องไปจบลงที่หลุมฝังกลบ
ลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกไปแล้ว 6,000 ตัน
และขนมปังมากกว่า 1 ล้านแผ่น ไม่ถูกทิ้งไปอย่างเสียเปล่า
เรื่องราวของ Loop Mission ถือเป็นอีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
เพราะในขณะที่ทั่วโลก กำลังเจอกับปัญหาราคาอาหาร และต้นทุนการผลิตที่กำลังสูงขึ้นเรื่อย ๆ
แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็โยนอาหารทิ้ง อย่างเปล่าประโยชน์ไปทุก ๆ วันเช่นกัน
ดังนั้นสิ่งที่ Loop Mission ทำ จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ธุรกิจหนึ่งเท่านั้น
แต่พวกเขาอาจกลายมาเป็น จิกซอว์ชิ้นใหม่ ที่ช่วยหยุดอาหารเหล่านี้ให้ไม่ไปถึงหลุมฝังกลบ และยังช่วยให้ผู้คนได้บริโภคอาหารในราคาที่ถูกลง รวมไปถึงช่วยให้ร้านค้า และผู้ผลิตไม่ต้องแบกรับภาระจากต้นทุนสินค้าที่ขายไม่หมด จนมากเกินไป..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.