LVMH เจ้าของ Louis Vuitton และ Dior “ขายผ้าเหลือใช้” ราคาเริ่มต้นแค่ 110 บาท
Business

LVMH เจ้าของ Louis Vuitton และ Dior “ขายผ้าเหลือใช้” ราคาเริ่มต้นแค่ 110 บาท

2 มิ.ย. 2022
LVMH เจ้าของ Louis Vuitton และ Dior “ขายผ้าเหลือใช้” ราคาเริ่มต้นแค่ 110 บาท /โดย ลงทุนเกิร์ล
“92 ล้านตัน” คือปริมาณขยะสิ่งทอ ที่ถูกทิ้งทั่วโลกในทุก ๆ ปี
ซึ่งในจำนวนนี้ ยังรวมถึงผ้าที่ยังไม่ได้แม้แต่ถูกนำมาตัดเป็นชุดด้วยซ้ำ
ปัญหานี้ถือเป็นปัญหาระดับโลก ที่ไม่ว่าธุรกิจขนาดใหญ่ หรือขนาดเล็ก ต่างก็พยายามหาทางแก้ไข
และสำหรับ LVMH พวกเขากลับเลือกที่จะเปิดกิจการใหม่ โดยนำเศษผ้าและเศษหนังจากแบรนด์ที่อยู่ในเครือ เช่น Louis Vuitton, Christian Dior และ Celine มาขายในราคาถูก ผ่านแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า “Nona Source”
แล้ว Nona Source น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Nona Source เป็นไอเดียของคุณ Romain Brabo ผู้ดูแลฝ่ายจัดซื้อและการผลิตวัสดุ ของแบรนด์ Kenzo และ Givenchy
ซึ่งเขาพบกองผ้าจำนวนมาก ที่ถูกวางทิ้งไว้ในโกดังของ LVMH และหลังจากนั้นไอเดียการปัดฝุ่นผ้าเหล่านี้ให้กลับมาเกิดประโยชน์ ก็ผุดขึ้นมาทันที
โดยเขาได้ร่วมมือกับคุณ Marie Falguera ที่รับผิดชอบงานเรื่องวัสดุ และประสานงานด้านสิ่งแวดล้อมให้กับแบรนด์ Kenzo และคุณ Anne Prieur du Perray ซึ่งรับผิดชอบงานด้าน Digital Transformation ของบริษัท LVMH
นำเสนอโปรเจกต์ Nona Source ให้กับ DARE (Disrupt, Act, Risk to be an Entrepreneur)
หรือก็คือ โครงการของ LVMH ที่เปิดโอกาสให้พนักงานในบริษัท สามารถเสนอแนวคิดใหม่ ๆ ให้กับฝ่ายบริหาร และเปลี่ยนมันให้เกิดขึ้นจริง
แล้ว Nona Source ทำงานอย่างไร ?
Nona Source เป็น “แพลตฟอร์มขายต่อวัสดุ” ที่ยังไม่ได้ใช้ จากโกดังของ LVMH ไม่ว่าจะเป็น เศษผ้า หรือเศษหนัง จากแบรนด์ที่อยู่ในเครือ เช่น Louis Vuitton, Christian Dior, Givenchy, Stella McCartney และ Celine
วัสดุเหล่านี้จะถูกนำมาขาย “ถูกกว่าราคาเดิมถึง 70%”
โดยมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 110 บาทต่อเมตร สำหรับผ้าซับใน
ไปจนถึง ราคา 1,840 บาทต่อเมตร สำหรับผ้าแคชเมียร์
ซึ่งราคาอาจเปลี่ยนแปลงไปตามวัสดุที่นำมาขายในแต่ละช่วง
นอกจากนี้ แพลตฟอร์ม “Nona Source” ยังออกแบบมาให้ผู้ใช้งาน สามารถค้นหาวัสดุตามสเป็กที่ต้องการได้ง่าย ๆ ผ่านฟิลเตอร์ และการระบุรายละเอียดที่ชัดเจน ตั้งแต่ สี, ประเภท, น้ำหนัก, ผิวสัมผัส, ลวดลาย, ชนิดของขนสัตว์ ไปจนถึงแหล่งผลิต
และนอกเหนือจากคำบรรยายแล้ว วัสดุแต่ละชิ้นจะถูกถ่ายรูปและวิดีโออย่างละเอียด เพื่อให้ลูกค้าเห็นถึงรายละเอียดของวัสดุเหล่านั้นมากที่สุด
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถซื้อสินค้าใน Nona Source ได้
เพราะทาง LVMH จะขายให้กับเจ้าของธุรกิจบางรายเท่านั้น
อีกทั้งผู้ซื้อยังต้องสร้างบัญชี, ระบุชื่อบริษัท และหมายเลขจดทะเบียนบริษัท ก่อนซื้อสินค้า
ซึ่งเหตุผลที่ LVMH ต้องเข้มงวดกับการขายเศษวัสดุ ก็เพราะต้องการควบคุมให้แน่ใจว่า สินค้าที่ขายไปแล้ว จะอยู่ในมือของคนที่ใช้มันอย่างเหมาะสม และไม่สร้างความเสียหายกลับมาที่ LVMH
อีกทั้ง หากไม่ทำเช่นนี้ ใคร ๆ ก็จะสามารถเข้าถึงสินค้าของ LVMH ได้อย่างง่าย ๆ จนทำให้สินค้าสูญเสียความพิเศษ และหมดราคาการเป็นสินค้าหรูหราไปในที่สุด..
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ Nona Source เปิดตัวในรูปแบบของแพลตฟอร์มได้เพียง 1 ปี
Nona Source ก็เปิดตัวโชว์รูมจัดแสดงวัสดุต่าง ๆ เพื่อให้คนที่สนใจสามารถเข้าชมสินค้าจริง เพื่อประกอบการตัดสินใจ ซึ่งปัจจุบัน Nona Source มีโชว์รูมอยู่ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส และที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ
เรื่องราวของ Nona Source ถือเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
เพราะ Nona Source ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ LVMH สามารถ “ลดค่าใช้จ่าย” ในการเก็บรักษาเศษวัสดุได้เท่านั้น แต่มันยังทำให้วัสดุเหล่านี้ ได้เจอกับคนที่รู้ว่า จะใช้มันให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.