วิเคราะห์ โมเดลธุรกิจ Owndays ร้านแว่นตาจากญี่ปุ่น ที่ขยายไปในหลายประเทศ
Business

วิเคราะห์ โมเดลธุรกิจ Owndays ร้านแว่นตาจากญี่ปุ่น ที่ขยายไปในหลายประเทศ

30 มิ.ย. 2022
วิเคราะห์ โมเดลธุรกิจ Owndays ร้านแว่นตาจากญี่ปุ่น ที่ขยายไปในหลายประเทศ /โดย ลงทุนเกิร์ล
เชื่อว่าผู้ที่มีปัญหาสายตา หรือคนที่กำลังมองหาแว่นตาดี ๆ สักอัน
คงไม่มีใครไม่เคยเห็น Owndays ร้านแว่นตาบรรยากาศอบอุ่น ที่มักจะเห็นตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำในไทย
แล้วเคยสงสัยกันไหมว่า เชนร้านแว่นตา Owndays มาจากไหน ?
ร้านแว่นตา Owndays เป็นบริษัทค้าปลีกแว่นตาจากประเทศญี่ปุ่น
ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1989 หรือเมื่อ 33 ปีที่แล้ว
โดยจุดเด่นของแบรนด์ ก็คือ ความตั้งใจที่จะส่งมอบแว่นสายตา 1 อัน ให้ได้ภายใน 20 นาที
เริ่มตั้งแต่การวัดสายตา การประกอบแว่น ไปจนถึงการส่งมอบให้ลูกค้า
และในปัจจุบัน Owndays มีร้านแว่นตามากกว่า 450 สาขาในญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฮ่องกง อินเดีย ไปจนถึงดูไบ
ส่วนในประเทศไทย ร้านแว่นตา Owndays ก็มีอยู่ถึง 31 สาขา
และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัท โอนเดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็มีผลประกอบการอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
ปี 2562 รายได้ 393 ล้านบาท กำไร 27 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 594 ล้านบาท กำไร 45 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 539 ล้านบาท กำไร 32 ล้านบาท
ซึ่งถ้าลองหารเฉลี่ยดูแล้ว Owndays 1 สาขา จะมีรายได้ราว 17 ล้านบาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจอีกข้อหนึ่งของ Owndays ก็คือ “การขยายธุรกิจ”
เพราะหากเราพูดถึงธุรกิจที่มีความเฉพาะทางอย่างร้านแว่นตา การขยายธุรกิจโดยที่ยังคงคุณภาพไว้ได้นั้น ถือว่ายากกว่าธุรกิจประเภทฟาสต์แฟชั่น หรือร้านอาหารทั่วไปมาก
เนื่องจากต้องอาศัยบุคลากรเฉพาะทาง ที่ต้องได้รับการฝึกฝน และเรียนรู้จนเกิดความเชี่ยวชาญ
แต่พอเห็น Owndays สามารถขยายธุรกิจ แล้วประสบความสำเร็จได้แบบนี้
ก็คงอดสงสัยกันไม่ได้แล้วว่า Owndays ทำได้อย่างไร ?
1.กลยุทธ์ House Brand ที่ทำให้ควบคุมคุณภาพได้เองทั้งหมด
ทาง Owndays ได้มีการนำระบบ SPA (Specialty store retailer of Private label Apparel) ที่ Uniqlo ใช้บริหารงาน มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจของตัวเอง
โดยระบบ SPA นี้ คือการดำเนินธุรกิจด้วยตนเองแบบครบวงจร ตั้งแต่การสรรหาวัสดุ การวางแผน
การออกแบบพัฒนาสินค้า การผลิตสินค้า ไปจนถึงการจัดจำหน่ายจนถึงมือลูกค้า
ซึ่งระบบ SPA ของทาง Owndays ก็สะท้อนออกมาได้จากแว่นตาทุกอันในร้าน ที่เป็นแบรนด์ในเครือของ Owndays ทั้งหมด กว่า 15 แบรนด์ เช่น แบรนด์ AIR Ultem, Graph Belle, +NICHE, Lillybell และอื่น ๆ
รวมถึงเลนส์ที่ร้าน Owndays เลือกใช้ ก็ไม่ใช่เลนส์ชื่อดังอย่าง Hoya หรือ Essilor
แต่เป็นเลนส์ที่ผลิตโดยโรงงานที่เป็นพันธมิตรกับบริษัท และตีเป็นแบรนด์ของบริษัทเอง
แล้วการใช้ระบบ SPA ที่พยายามจัดการทุกอย่างเองนั้น มีข้อดีอย่างไร ?
-ทำให้เราสามารถจัดการการผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการ
-สามารถดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องขึ้นตรงกับซัปพลายเออร์
-สามารถควบคุมต้นทุนได้ ทำให้ขายปลีกได้ในราคาที่ถูกกว่า
2.ระบบราคาที่ง่ายต่อการเข้าใจ
หากเราเดินเข้าไปในร้าน Owndays ก็จะรู้ว่า ราคาของแว่นตาที่นี่จะถูกจัดไว้เป็นเซต แบบกรอบพร้อมเลนส์ ที่เรียกว่าระบบ “Simple Price” ทำให้ลูกค้าและพนักงานเข้าใจได้ง่าย
ซึ่งระบบนี้ เกิดขึ้นจากการที่ทางบริษัท ต้องการจะลดความกังวลของลูกค้า เวลาที่เดินเข้าไปในร้านแว่นตาแล้วจะต้องกังวลกับค่าเลนส์ ที่มักจะมีราคาสูงลิ่ว
ทาง Owndays จึงรวมทั้งราคากรอบ และราคาเลนส์ให้มาอยู่ด้วยกันเลย ทำให้เข้าใจได้ง่าย และมั่นใจได้ว่า จะไม่มีการคิดเงินค่าอะไรเพิ่มเติมอีกในภายหลัง
3.มีการสร้างมาตรฐานภายในองค์กร ด้วยคอร์สอบรมพนักงานภายในองค์กร
ทางแบรนด์ Owndays จะมีการจัดคอร์สฝึกอบรม และทดสอบพนักงาน แล้วแบ่งเป็น Grade ที่บ่งบอกถึงระดับความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ
โดยเริ่มต้นจาก Staff แล้วไล่ขั้นไปเป็นพนักงาน 3rd Grade, 2nd Grade และขั้นสูงสุดคือ 1st Grade
ซึ่ง Staff จะหมายถึงขั้นทดลองงาน
และพนักงานระดับ 1st Grade หมายถึง พนักงานที่มีความรู้ในระดับสูง ที่สามารถส่งต่อความรู้ให้กับเพื่อนร่วมงานได้
ตรงนี้เอง ที่เป็นระบบภายในที่ทางบริษัทใช้ เพื่อให้ง่ายต่อการขยายธุรกิจไปในหลายประเทศ และหลายภูมิภาค
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ แทนที่จะไปควานหาแรงงานฝีมือในตลาดที่มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ก็รับคนใหม่ที่มีใจรัก เข้ามาฝึกให้เก่งแทนไปเลย
4.บริการหลังการขายตลอดชีพ และการทำ Loyalty Program ที่ทำให้ลูกค้ากลับมาอีกครั้ง
อาจกล่าวได้ว่า Owndays เป็นหนึ่งในร้านแว่นตา ที่มีบริการหลังการขายที่ดีที่สุด แถมยังมี Loyalty Program ที่แข็งแกร่ง สามารถเรียกคนให้กลับมาใช้บริการอีกครั้งได้ง่าย
เช่น บริการเปลี่ยนนอต เปลี่ยนแป้นจมูก หรือดัดแว่นฟรีตลอดอายุการใช้งาน
-บริการลดราคาเลนส์ใหม่ 50% ถ้าหากเสียหายจากการใช้งาน
-เปลี่ยนเลนส์ใหม่ให้ฟรี หากไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเลนส์สี หรือเลนส์โปรเกรสซิฟได้
นอกจากนี้ อีกหนึ่ง Key Success Factors ที่สำคัญของ Owndays ก็คือการจัดหน้าร้าน ที่เป็นสไตล์มินิมัลแบบญี่ปุ่น มีกลิ่นหอมที่ออกแบบมาเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า บวกกับความตั้งใจให้ภายในร้านมีสีเขียวจากต้นไม้ปลอม
เพราะสีเขียว เป็นสีที่มีงานวิจัยมากมายออกมายืนยันว่า สามารถทำให้กล้ามเนื้อตาที่อ่อนล้า คลายความตึงเครียดลงได้
ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็คือกลยุทธ์ที่ร้านแว่นตา Owndays ใช้ในการขยายธุรกิจไปในหลาย ๆ ประเทศ
โดยโมเดลนี้ บางส่วนก็มีความคล้ายกับร้านแว่นท็อปเจริญ ร้านแว่นตาที่น่าจะมีสาขาเยอะที่สุดในประเทศไทย ที่เน้นขยายสาขาให้ครอบคลุมไว้ก่อน
และเน้นการรับพนักงานใหม่เข้าไปรับการอบรมคอร์สเรียนของทางบริษัทเอง
อย่างไรก็ดี จริง ๆ แล้วประเทศไทยมีหลักสูตรช่างแว่นตา (Optician) ของสมาคมส่งเสริมวิชาการแว่นตาแห่งประเทศไทย และในระดับมหาวิทยาลัยก็มีคณะทัศนมาตรศาสตร์ (Optometry) หรือหมอสายตาแล้วในบางแห่ง
ซึ่งทั้งสองหลักสูตร น่าจะสามารถเป็นมาตรฐานที่ดีในวงการแว่นตาได้
จึงน่าติดตามต่อไปว่า ในอุตสาหกรรมแว่นตาของไทย มูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทนี้ จะมีกฎหมายอะไรออกมาควบคุมให้เข้มงวดขึ้นหรือไม่
เพราะอย่างทางสหรัฐฯ ก็จะมีกฎหมายควบคุม ว่าร้านหรือหน่วยงานที่สามารถวัดสายตาได้ จะต้องมีนักทัศนมาตร หรืออาชีพผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการตรวจวัดสายตาเป็นผู้ดำเนินการให้
คล้าย ๆ กับว่าหากเราจะเข้ารับการวินิจฉัยโรค ผลก็ต้องมาจากหมอเฉพาะทางเท่านั้น..
Sponsored by JCB
เอกสิทธิ์สไตล์ญี่ปุ่นเหนือระดับกับบัตรเครดิต JCB สามารถติดตามข้อมูลที่น่าสนใจ ทั้งเกร็ดความรู้จากประเทศญี่ปุ่น และสิทธิพิเศษเฉพาะผู้ถือบัตรเครดิต JCB ได้ www.facebook.com/JCBCardThailandTH และ LINE Official Account : @JCBThailand (https://bit.ly/JCBTHLine)
#JCBใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา #JCBThailand #JCBOwnHappinessOwnStory
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.