ทำไม มักก็อลลี เครื่องดื่มอายุพันปีของเกาหลี ถึงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง
Business

ทำไม มักก็อลลี เครื่องดื่มอายุพันปีของเกาหลี ถึงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

15 ก.ค. 2022
ทำไม มักก็อลลี เครื่องดื่มอายุพันปีของเกาหลี ถึงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง /โดย ลงทุนเกิร์ล
“มักก็อลลี” เครื่องดื่มอีกประเภท ที่ปรากฏในฉากซีรีส์เกาหลีอยู่บ่อย ๆ นอกจากโซจู โดยถือเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เก่าแก่อันดับต้น ๆ ในวัฒนธรรมเกาหลี
ที่น่าสนใจคือ แม้จะดูเป็นของเก่าแก่โบราณ
ปัจจุบัน มักก็อลลีกลับกำลังเป็นที่นิยมอีกครั้ง โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นชาวเกาหลีใต้
แล้วอะไรที่ปลุกกระแส ให้เครื่องดื่มที่มีอายุมากกว่าพันปี กลับมาฮิตอีกครั้ง ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
มักก็อลลี คือ เหล้าข้าว
โดยมีหลักฐานว่าชาวเกาหลี มีการดื่ม “เหล้าข้าว” นี้ ตั้งแต่เมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน แม้จะถูกเรียกในชื่อที่แตกต่างกันไป
อย่างในสมัยราชวงศ์โครยอ จะเรียกว่า “อีฮวาจู” มีความหมายว่า เหล้าดอกแพร์ เนื่องจากในช่วงเวลาที่ดอกแพร์บานสะพรั่งในทุก ๆ ปี จะมีการเฉลิมฉลอง ด้วยการดื่มเหล้าและเต้นรำกันตลอดทั้งคืน
นอกจากนี้มักก็อลลียังมีอีกชื่อหนึ่งก็คือ “นงจู” หรือ สุราของชาวนา เพราะเป็นเครื่องดื่มที่ทำได้ง่าย และใช้วัตถุดิบไม่มาก ทำให้ชาวบ้านนิยมทำดื่มกันตามครัวเรือน
โดยวัตถุดิบสำหรับมักก็อลลี จะประกอบไปด้วย 3 สิ่ง ได้แก่ ข้าว, น้ำ และนูรุก (Nuruk) หรือหัวเชื้อที่ใช้ในการหมักสุรา ซึ่งทำมาจากการหมักข้าวสาลี ข้าวเจ้า และข้าวบาร์เลย์เปียก ก่อนนำมาอัดขึ้นรูปเป็นบล็อก และนำมาผสมกับข้าวและน้ำ ก่อนจะหมักทิ้งไว้ จนกลายเป็นมักก็อลลี
ซึ่งจริง ๆ แล้ว อีกหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้มักก็อลลีเป็นที่นิยม ไม่ใช่เรื่องของรสชาติ
แต่เป็นเพราะ คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงแอลกอฮอล์คุณภาพดีที่ผ่านการกลั่นจนใสได้
ทำให้ชาวบ้านต้องหาหนทางใหม่ที่มีราคาถูกกว่า ซึ่งก็คือมักก็อลลีที่มีสีขาวขุ่นแทน นอกจากนี้มักก็อลลียังมีแอลกอฮอล์น้อยกว่าโซจู
ทำให้การดื่มมักก็อลลีจะเมาช้ากว่า และสดชื่นมากกว่า เพราะกระบวนการในการหมัก
ที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จนมีความซ่านิด ๆ เวลาดื่ม
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ประเทศเกาหลี ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น และรัฐบาลญี่ปุ่นในขณะนั้น ก็ได้เรียกเก็บภาษีสุราที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ
ทำให้การกลั่นสุราของครัวเรือนค่อย ๆ ลดลง เหลือเพียงแต่โรงกลั่นขนาดใหญ่
ซึ่งแม้ว่าเกาหลีจะได้รับเอกราช ในปี 1945 แต่ภาษีสุราก็ยังคงอยู่ ประกอบกับในปี 1950-1953 เป็นช่วงที่เกาหลีประสบปัญหา ข้าวยากหมากแพง และ “ข้าว” ถือเป็นสิ่งที่ขาดแคลนอย่างหนัก ทำให้มีข้อห้ามไม่ให้นำข้าวมาหมักเป็นสุรา
และผลที่ตามมาก็คือ มักก็อลลี ซึ่งมีข้าวเป็นวัตถุดิบหลัก ก็มีการผลิตที่ลดลง
จนกระทั่งช่วงปี 1965 รัฐบาลเกาหลีใต้ก็อนุญาต ให้กลับมาผลิตสุราจากข้าวได้อีกครั้ง
มักก็อลลีจึงค่อย ๆ กลับมาสู่สังคมเกาหลีอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ตอนนั้นวัฒนธรรมการดื่มของชาวเกาหลีใต้ ก็เปลี่ยนไปแล้ว โดยเฉพาะหลังจากการแข่งขันโอลิมปิก ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโซลปี 1988 ทำให้ผู้คนหันมานิยมเครื่องดื่มรูปแบบใหม่ อย่างเบียร์แทน
ในขณะที่โซจู มีการปรับตัวเรื่อยมา ตั้งแต่ตอนที่รัฐบาลเกาหลีใต้สั่งห้ามไม่ให้ใช้ข้าวในการหมักสุรา ผู้ผลิตโซจูก็เริ่มหันมาใช้มันฝรั่ง มันเทศ หรือมันสำปะหลังแทน ทำให้ผู้คนยังบริโภคโซจูได้เรื่อย ๆ
นอกจากนี้ภาพจำของมักก็อลลีตั้งแต่ในอดีตก็คือ เครื่องดื่มของชาวนา คนชรา และเป็นเครื่องดื่มโบราณ
ทำให้การดื่มมักก็อลลีไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป
แต่มักก็อลลี ก็ไม่ได้หายไปจากสังคมเกาหลี ไปเสียทั้งหมด
เพราะก็ยังถูกผู้ประกอบการนำมาปรับให้เข้ากับยุคสมัยอยู่เรื่อย ๆ
อย่างบริษัท Kooksoondang เจ้าของมักก็อลลีขวดสีครีม ที่เรามักเห็นกันตามซูเปอร์มาร์เก็ต ก็เปิดตัวสินค้ามักก็อลลีกระป๋อง เป็นครั้งแรกในปี 1996 ก่อนจะค่อย ๆ พัฒนาสินค้าเรื่อยมา
หรือในปี 2009 มักก็อลลีก็เริ่มกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง เนื่องจากมีสูตรใหม่ ๆ ที่ปรับให้ดื่มง่ายขึ้น มีรสชาติหลากหลายขึ้น รวมถึงการทำการตลาดที่สร้างภาพลักษณ์ใหม่ เพื่อดึงดูดนักดื่มรุ่นใหม่
โดยปัจจุบันบริษัท Kooksoondang มีสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริษัทราว 6 ชนิด
และมีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ประมาณ 4,400 ล้านบาท
ซึ่งใหญ่พอ ๆ กับบริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จํากัด หรือเจ้าของเครื่องดื่มแบรนด์ Tipco ในบ้านเรา
นอกจากนั้น ก็ยังมี Boksoondoga แบรนด์มักก็อลลี ที่ก่อตั้งในปี 2009
โดยวางตัวเป็นมักก็อลลีแบบพรีเมียม ที่ใช้กรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม และดีไซน์ขวดที่สวยงาม ช่วยสลัดภาพลักษณ์เครื่องดื่มคนจน รวมถึงส่งเสริมภาพลักษณ์มักก็อลลีในสายตาคนรุ่นใหม่ให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนั้น ความนิยมของมักก็อลลี ยังไม่ได้หยุดเพียงแค่ภายในประเทศเกาหลีใต้เท่านั้น
ในปี 2011 ปริมาณการส่งออกมักก็อลลี คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 176% และที่น่าสนใจคือจุดหมายปลายทางหลักอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 92% เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนสำคัญของมักก็อลลี ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ในปี 2016
เมื่อรัฐบาลเกาหลีใต้ปรับปรุงกฎหมายภาษีสุรา เพื่อเอื้อให้ร้านอาหาร หรือโรงกลั่นขนาดเล็ก สามารถส่งสินค้าของตัวเอง เข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น
และในปี 2017 รัฐบาลยังอนุญาตให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านช่องทางออนไลน์
ทั้งหมดนี้ จึงทำให้ตลาดมักก็อลลีค่อย ๆ เติบโต ทั้งในฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภค
โดยในปี 2020 เกาหลีใต้ มีผู้จดทะเบียนธุรกิจมักก็อลลี รวม 961 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3% และตัวเลขในปี 2019 เอง ก็เพิ่มขึ้นจากปี 2018 เช่นกัน
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ก็เป็นช่วงที่คนหันมาดื่มมักก็อลลีกันมากขึ้นด้วย
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลเกาหลีใต้มีการจำกัดการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่น ๆ แล้วให้จำหน่ายเพียงแค่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกาหลีแบบดั้งเดิมเท่านั้น
ซึ่งรายงานจาก Korea Agro Fisheries and Food Trade Corporation เปิดเผยว่าในปี 2021 ตลาดมักก็อลลีในประเทศเกาหลีใต้ เติบโตขึ้นถึง 52% เลยทีเดียว
เรียกได้ว่า การที่จะทำ “เครื่องดื่มท้องถิ่น” ให้กลายเป็นที่นิยมนั้น
ต้องอาศัยหลาย ๆ ปัจจัย มาประกอบเข้าด้วยกัน
ทั้งในด้านผู้ประกอบการเอกชน หรือแม้แต่ภาครัฐ ต่างก็ต้องมีส่วนร่วมไม่น้อย..
ปิดท้ายด้วยเกร็ดที่น่าสนใจ
อาจมีคนสงสัยว่า ทำไมมักก็อลลีต้องเสิร์ฟในถ้วยทองเหลือง แทนที่จะเสิร์ฟใส่แก้วใส ๆ เหมือนโซจู
คำตอบก็คือ หากตั้งมักก็อลลีทิ้งไว้นาน ๆ จะทำให้ตกตะกอน จึงต้องใช้ถ้วยที่มีทรงเตี้ย เพื่อช่วยให้เกิดการตกตะกอนแยกชั้นได้น้อยกว่า
และเนื่องจากมักก็อลลีมีสีขาวขุ่น ไม่ได้ใสเหมือนโซจู การใช้ถ้วยทองเหลือง ก็จะช่วยให้ตรวจสอบสีของมักก็อลลีได้ง่ายกว่าอีกด้วย
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.