รู้จัก PDM ผู้ปฏิวัติวงการ “เสื่อ” ให้กลายเป็น สินค้าพรีเมียมหลักพัน
Business

รู้จัก PDM ผู้ปฏิวัติวงการ “เสื่อ” ให้กลายเป็น สินค้าพรีเมียมหลักพัน

22 ส.ค. 2022
รู้จัก PDM ผู้ปฏิวัติวงการ “เสื่อ” ให้กลายเป็น สินค้าพรีเมียมหลักพัน /โดย ลงทุนเกิร์ล
“เสื่อ” 1 ผืนของ PDM อาจมีราคาสูงถึง 4,000 บาท
และ “ไม้กวาด” 1 อัน ที่แบรนด์ PDM วางขาย มีราคาเกือบ 1,000 บาท
แต่เห็น PDM ขายสินค้าแพงแบบนี้ รู้หรือไม่ว่า ในปี 2564 บริษัทสามารถทำรายได้ สูงถึง 67 ล้านบาท
ซึ่งนอกจากเสื่อ และไม้กวาดแล้ว PDM ก็ยังมีทั้ง เก้าอี้พับ, ร่ม, ที่รองจาน, พัดลม ไปจนถึงร่วมดีไซน์ลำโพงกับแบรนด์ระดับโลกอย่าง Bang & Olufsen
ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ของ PDM ก็มักจะขายหมดทุกครั้งที่วางขาย รวมทั้งยังมีฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่น
ซึ่งในวันนี้ลงทุนเกิร์ล มีโอกาสสัมภาษณ์คุณดิว-ดุลยพล ศรีจันทร์ และคุณแมน-แมนรัตน์ สวนศิลป์พงศ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ PDM ถึงวิธีการสร้างแบรนด์ให้สินค้าบ้าน ๆ กลายเป็น สินค้าพรีเมียมหลักพันบาท
แล้ว PDM มีกลยุทธ์อะไรบ้าง ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง..
PDM ย่อมาจากคำว่า “Product Design Matters”
หรือแปลง่าย ๆ ว่า “การออกแบบผลิตภัณฑ์นี่มันสำคัญมาก"
ดังนั้น หัวใจหลักของแบรนด์จึงเป็นเรื่อง “การออกแบบ” สินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องช่วยส่งเสริมบ้านให้ดูสวยงาม เปรียบเหมือนกับ “ผงชูรส” ที่ช่วยเสริมรสชาติให้กับอาหาร
ซึ่งหนึ่งในสินค้าสร้างชื่อของ PDM ก็คือ “เสื่อ” ที่ถูกพัฒนาให้ดูทันสมัย และพรีเมียมมากขึ้น เพื่อให้คนรู้สึกอยากใช้เสื่อตกแต่งกลางบ้าน ให้เหมือนกับ “พรม” ในต่างประเทศ ด้วยการเพิ่มลวดลายที่สวยงาม, เพิ่มสีสันให้ทันสมัย, มีพื้นผิวนุ่มนั่งสบาย และพัฒนาคุณภาพวัสดุให้แข็งแรงทนทาน อย่างเส้นด้ายที่นำมาทอ ก็ใช้วัสดุเกรดเดียวกับที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์บนเรือยอชต์เลยทีเดียว
เมื่อคุณภาพมาเต็มขนาดนี้ จึงทำให้เสื่อ 1 ผืนของ PDM มีราคาอยู่ที่ 2,000-4,000 บาท
แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าเสื่อทั่ว ๆ ไปในตลาดถึงหลายสิบเท่า แต่ PDM ก็ยังสามารถขายเสื่อไปได้แล้วกว่า
“1 แสนผืน” นับตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์มา
แต่เมื่อความมุ่งมั่นของ PDM คือ การผลิตสินค้าที่ทำให้บ้านของคนไทยสวยงาม ดังนั้นแบรนด์จึงไม่ได้หยุดอยู่แค่การพัฒนาเสื่อ และได้มีการเพิ่มไลน์ผลิตเฟอร์นิเจอร์ชนิดอื่น ๆ เข้ามาเสริมทัพ
ที่น่าสนใจคือ สินค้าเกือบทั้งหมดถูกจำหน่ายแค่ใน “ช่องทางออนไลน์” และเปิดให้ “พรีออร์เดอร์” สินค้าประมาณ 1-2 เดือน แล้วบริษัทจึงค่อยสั่งผลิตตามจำนวนที่ตลาดต้องการ โดยมีการสต็อกสินค้าที่น้อยมาก ๆ ทำให้ลดต้นทุนค่าเช่าโกดัง แถมยังช่วยลดปัญหา การผลิตสินค้ามากเกินความจำเป็น
นอกจากนั้น PDM ยังเลือกจ้างโรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กว่า 15 แห่ง เพื่อผลิตสินค้าต่าง ๆ ให้กับแบรนด์ ซึ่งเสื่อ 1 ผืนของ PDM ต้องใช้โรงงานผลิตมากถึง 3 แห่งเลยทีเดียว
โดยข้อดี ก็คือ PDM สามารถเลือกโรงงานผลิตสินค้า ให้ตรงตามความเชี่ยวชาญของแต่ละแห่งได้
แต่หากเราย้อนกลับไปในวันแรก ที่ PDM เริ่มวางขายสินค้าเมื่อ 8 ปีก่อน การขายเฟอร์นิเจอร์บน “ตลาดออนไลน์” ถือว่าเป็นแนวคิดที่ท้าทายมาก
เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ มักตัดสินใจซื้อเฟอร์นิเจอร์ จากการเห็นสินค้าจริง ทำให้บางคนต้องเดินทางไปไกลถึงงานแฟร์แถบชานเมือง เพื่อที่จะได้ทดลองและเปรียบเทียบสินค้าจากโรงงานหลาย ๆ เจ้า
ในขณะเดียวกัน สำหรับผู้ผลิต งานแฟร์ก็เป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่รวบรวมกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ไว้ในที่เดียว ทำให้ผู้ประกอบการหลาย ๆ คน สามารถกอบโกยรายได้ เป็นกอบเป็นกำทุก ๆ ปี
ดังนั้น ไอเดียการขายเฟอร์นิเจอร์บนตลาดออนไลน์ของคุณดิว จึงดูเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบหลาย ๆ คนไม่ให้ความสนใจในขณะนั้น
จนกระทั่งเกิดวิกฤติโรคระบาด ที่ทำให้หลาย ๆ คนเห็นว่า ความคิดของคุณดิวมาถูกทาง
เนื่องจากการจัดงานแฟร์หลาย ๆ แห่งถูกยกเลิกหมด ส่งผลให้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ต้องหยุดชะงัก
แต่สำหรับ PDM ที่เริ่มขายบนตลาดออนไลน์มาตั้งแต่แรก ทำให้มีประสบการณ์ก่อนเจ้าอื่น ๆ จนสามารถทำรายได้ที่เติบโตขึ้นทุกปี แม้ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติก็ตาม
เรามาดูผลประกอบการของ บริษัท พีดีเอ็ม แบรนด์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ PDM
ปี 2562 รายได้ 30 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 46 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 67 ล้านบาท
คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยถึง 49% ต่อปี
แต่ในยุคนี้ ที่หลายแบรนด์เริ่มบุกตลาดออนไลน์ และพฤติกรรมของผู้บริโภค ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
อะไรที่ทำให้แบรนด์ PDM ยังคงรักษาการเติบโตไว้ได้ ?
อันดับแรก คือ “Move Fast” ไม่หยุดพัฒนา และลงมือทำอย่างรวดเร็ว
คุณดิวมองว่า ในยุคที่โลกของเราเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การมี Timing ที่ดี ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ
ดังนั้น หากแบรนด์มีไอเดียใหม่ ๆ ก็จะต้องลงมือทำทันที ในระยะเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ และแม้ว่าสินค้าจะยังไม่เสร็จเต็มรูปแบบ แต่แบรนด์ก็จะนำรูปสินค้าดีไซน์ใหม่ มาโพสต์ให้เห็นบนหน้าฟีด พร้อมติดแฮชแทก #ยังไม่ได้ขายดีไซน์เอามันส์
เพราะหากต้องรอให้สินค้าเสร็จเต็มรูปแบบ แล้วค่อยนำมาโพสต์ ก็อาจจะช้าเกินไป หรืออาจมีแบรนด์อื่นที่ชิงทำตัดหน้าไปก่อนแล้ว
รวมถึงการนำดีไซน์ที่ยังไม่เสร็จดีมาโพสต์ ก็ยังช่วยให้แบรนด์ได้รับฟังความคิดเห็นจากลูกค้า และถ้าไอเดียที่คิดมายังดีไม่พอ ก็จะได้รีบนำกลับมาพัฒนาทันที หรือเดินหน้าไปพัฒนาสิ่งใหม่แทน
ส่วนอีกหนึ่งความพิเศษของสินค้า PDM ก็คือ “การร่วมมือ” กับศิลปินและแบรนด์ดังมากมาย ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
สำหรับในประเทศ ก็มี “ไม้กวาดแฮร์รี่” ที่จับมือกับ “บ้านบูรณ์” แบรนด์ไม้กวาดสัญชาติไทย ที่การันตีคุณภาพการส่งออกไปยังหลายประเทศทั่วโลก หรือการได้คุณ Suntur ศิลปินไทยชื่อดัง มาร่วมวาดภาพบน “เก้าอี้นอนรับลม” และ “โต๊ะแคนวาสญี่ปุ่น”
ส่วนในต่างประเทศ ได้ร่วมงานกับ “Bang & Olufsen” แบรนด์สัญชาติเดนมาร์ก ผลิต “ลำโพง” ที่ออกแบบโดยศิลปินระดับโลก และได้คุณ Sini Henttonen ดีไซเนอร์จากประเทศฟินแลนด์ มาร่วมออกแบบเสื่อคอลเลกชันล่าสุด
และอย่างสุดท้ายคือ “การสื่อสารกับลูกค้าอย่างจริงใจ”
เนื่องจาก ผู้บริโภคในปัจจุบัน เริ่มไม่ได้ตัดสินใจซื้อสินค้า ที่ราคา หรือรูปลักษณ์ของสินค้าเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับ “ความจริงใจของผู้ผลิต” มากขึ้น
ดังนั้น PDM จึงเลือกที่จะบอกข้อมูลของสินค้าอย่างโปร่งใส ถึงข้อมูลวัสดุที่ผลิต, ระยะเวลาการรอสินค้า และลงรายละเอียด ไปจนถึงกระบวนการผลิตสินค้า รวมถึงการเล่าสตอรีของสินค้าแต่ละชิ้น เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกอินไปกับสินค้าที่วางขาย
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็อาจจะรู้สึกได้ว่า กลยุทธ์การตลาดของ PDM อาจไม่ได้มีเทคนิคล้ำ ๆ หรือเทคนิคการตลาดที่แพรวพราว
ซึ่งสาเหตุก็เป็นเพราะทีมงานของ PDM ไม่มีใครเชี่ยวชาญด้านการตลาด แต่เป็นเพียงนักออกแบบที่รู้ข้อมูลสินค้าอย่างถ่องแท้ และสามารถถ่ายทอดเรื่องราวของสินค้าไปถึงใจลูกค้าได้
เนื่องจากคุณดิวมองว่า เทคนิคการตลาดไม่มีสูตรตายตัว
แต่ต้องปรับตัวตลอดเวลา เพื่อให้เข้าใจความต้องการของผู้บริโภค ที่มักจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
เพราะในบางครั้ง..
ลูกค้าอาจไม่ได้ต้องการ คนที่จะมาเกลี้ยกล่อมให้ซื้อสินค้า
แต่ต้องการ คนที่เข้าใจว่า สินค้านั้นถูกดีไซน์ขึ้นมาอย่างไร และมันจะตอบโจทย์พวกเขาได้อย่างไร
แล้วปล่อยให้ลูกค้าเป็นคนตัดสินว่า สินค้านั้นคู่ควรกับเงินที่พวกเขาจะจ่ายหรือไม่..
References
-สัมภาษณ์โดยตรงกับคุณดิว-ดุลยพล ศรีจันทร์ และคุณแมน-แมนรัตน์ สวนศิลป์พงศ์ ผู้ก่อตั้ง PDM
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
-http://www.pdmbrand.com/
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.