สรุป เรื่องภาษี ที่ First Jobber ควรรู้
Business

สรุป เรื่องภาษี ที่ First Jobber ควรรู้

10 ธ.ค. 2022
สรุป เรื่องภาษี ที่ First Jobber ควรรู้ /โดย ลงทุนเกิร์ล
ไม่ว่าภาษีจะเป็นเรื่องที่ชวนปวดหัวแค่ไหน
แต่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเรื่องสำคัญที่ First Jobber ต้องทำความเข้าใจ
เพราะภาษีจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต ตราบใดที่ยังมีรายได้
แล้วเรื่องภาษีมุมไหนที่ First Jobber จำเป็นต้องรู้บ้าง ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง..
First Jobber ต้อง “ยื่นภาษี” หรือไม่ ?
เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “การยื่นภาษี” ไม่เท่ากับ “การเสียภาษี”
สำหรับการยื่นภาษีจะเป็นเพียง “การแสดงรายได้”
และผู้ที่ต้องยื่นภาษี ก็คือ คนที่มีเงินได้ ตั้งแต่ 120,000 บาทต่อปีขึ้นไป
แต่หากเรามีเงินได้ ไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี จะไม่ต้องเสียภาษี
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น First Jobber ที่เงินเดือน ไม่ถึงเกณฑ์ “เสียภาษี” แต่ก็ยังต้อง “ยื่นภาษี”
แล้วมีรายได้เท่าไร ถึงจะต้อง “เสียภาษี”
สิ่งที่จะทำให้เรารู้ว่า ต้องเสียภาษีหรือไม่
ไม่ได้ดูจากเงินได้ทั้งหมดที่เราได้รับทั้งปี
แต่ต้องดูจาก “เงินได้สุทธิ” ซึ่งคำนวณจาก
เงินที่เราได้รับมาตลอดทั้งปี
หักค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด
และใช้สิทธิลดหย่อนภาษีไปเรียบร้อยแล้ว
หรือเราสามารถลองคำนวณหา เงินได้สุทธิ แบบเบื้องต้นได้ตามนี้
“เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อนต่าง ๆ = เงินได้สุทธิ”
เมื่อได้ตัวเลขเงินได้สุทธิออกมา
ค่อยนำมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่เราต้องเสียภาษี แต่ละขั้น ดังนี้
0 - 150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี
เกิน 150,000 - 300,000 บาท อัตราภาษี 5%
เกิน 300,000 - 500,000 บาท อัตราภาษี 10%
เกิน 500,000 - 750,000 บาท อัตราภาษี 15%
เกิน 750,000 - 1,000,000 บาท อัตราภาษี 20%
เกิน 1,000,000 - 2,000,000 บาท อัตราภาษี 25%
เกิน 2,000,000 - 5,000,000 บาท อัตราภาษี 30%
เกิน 5,000,000 บาท ขึ้นไป อัตราภาษี 35%
ตัวอย่าง การคำนวณเงินได้สุทธิเบื้องต้น
กรณี A เป็น First Jobber ไม่ได้มีภาระหนี้สินหรือใครที่ต้องเลี้ยงดู มีเงินเดือน เดือนละ 20,000 บาท
A จะมีเงินได้ทั้งปี 240,000 บาท
ลบ ค่าใช้จ่าย 100,000 บาท (กฎหมายอนุญาตให้สามารถหักแบบเหมาได้ 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี)
ลบ ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
และลบประกันสังคม 9,000 บาท*
เท่ากับ เงินได้สุทธิ 71,000 บาท
แปลว่า A ได้รับการยกเว้นภาษี
และหาก A เคยมีรายได้ที่ถูกหัก “ภาษี ณ ที่จ่าย” ก็ยังสามารถขอคืนเงินส่วนนั้นได้ด้วย
เราลองมาดูอีกตัวอย่าง
ในกรณีของ B ที่ไม่ได้มีภาระ
มีเงินเดือน เดือนละ 30,000 บาท
B จะมีเงินได้ทั้งปี 360,000 บาท
ลบ ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 100,000 บาท
ลบ ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
และลบประกันสังคม 9,000 บาท
เท่ากับ เงินได้สุทธิ 191,000 บาท
แต่เงินในส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท จะไม่ถูกนำมาคิดเพราะได้รับการยกเว้นภาษี
ฉะนั้นส่วนที่เกินออกมา จำนวน 41,000 บาท จะถูกคิดภาษีในอัตรา 5% หรือคิดเป็นเงินภาษีที่ต้องจ่าย 2,050 บาท นั่นเอง
ซึ่งถ้าใครอยากรู้ว่า เราสามารถหักค่าใช้จ่าย หรือหักค่าลดหย่อนอะไรได้บ้าง
สามารถเข้าไปดูรายละเอียด ได้ที่นี่เลย
-การหักค่าใช้จ่าย https://www.rd.go.th/556.html
-การหักค่าลดหย่อน https://www.rd.go.th/557.html
ส่วนถ้าใครไม่อยากคำนวณเอง
เราสามารถใช้โปรแกรมคำนวณจาก SET ได้ https://www.set.or.th/project/caltools/www/html/tax/index.html?theme=default
อย่างไรก็ตาม ถ้าคำนวณออกมาแล้วว่าต้องเสียภาษี
ก็ไม่ได้หมายความว่า ต้องควักกระเป๋าเสียภาษีเสมอไป
โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนที่มีเงินได้สุทธิอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กรณี คือ
1.ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องเสียภาษีเพิ่ม
2.ต้องเสียภาษีเพิ่ม
3.ได้เงินคืนภาษี
ส่วนจะเป็นกรณีไหนนั้น ขึ้นอยู่กับว่า ตลอดปีที่ผ่านมา “เราถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว มากกว่าหรือน้อยกว่าภาษีที่เราต้องจ่าย”
เช่น กรณี B ต้องเสียภาษีเป็นเงิน 2,050 บาท แต่ก่อนหน้านี้นายจ้าง ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ส่งกรมสรรพากรไปแล้ว รวมเป็นเงิน 3,000 บาท
แปลว่า B จะสามารถขอคืนภาษีที่จ่ายเกินไปจำนวน 950 บาทได้ ซึ่งเรียกว่า “ได้เงินคืนภาษี”
แต่สมมติ B ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 2,050 พอดีกับภาษีที่เราจะต้องจ่าย
B ก็ไม่ต้องขอคืน และไม่ต้องจ่ายเพิ่ม เพราะหักลบกันไปครบแล้ว
และอีกหนึ่งกรณีคือ ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้น้อยกว่า 2,050 บาท หรือไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เลย
B ก็จะต้องเสียภาษีเพิ่มให้กับกรมสรรพากรจนครบ 2,050 บาท
แล้วเมื่อคำนวณภาษีเรียบร้อย
เราจะต้องยื่นภาษีตอนไหน ?
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
จะต้องคำนวณเงินได้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 31 ธ.ค. ของทุกปี
แล้วค่อยนำไปยื่นภาษีในช่วง 1 ม.ค. - 31 มี.ค. ของ “ปีถัดไป”
โดยแบบฟอร์มที่ใช้ในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับคนที่มีเงินได้จากเงินเดือนประจำ จะมี 2 แบบ คือ
-ภ.ง.ด.91 ใช้สำหรับผู้ที่มีเงินได้ จากงานประจำทางเดียว
-ภ.ง.ด.90 ใช้สำหรับผู้ที่มีเงินได้อื่น ๆ นอกเหนือจากงานประจำ เช่น มีรายได้จากการรับงานฟรีแลนซ์ควบคู่กับงานประจำ
และหลังจากที่เรากรอกแบบฟอร์มครบถ้วนแล้ว
สามารถเลือกยื่นภาษีได้ทั้งหมด 3 ช่องทาง คือ
1.ยื่นเอกสาร แบบกระดาษด้วยตัวเองที่กรมสรรพากร หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
2.ยื่นผ่านระบบ E-Filing เว็บไซต์ www.rd.go.th ของกรมสรรพากร
3.ยื่นผ่านแอปพลิเคชัน RD Smart Tax โดยต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรก่อน จึงจะสามารถยื่นในช่องทางนี้ได้
ทั้งหมดนี้ ก็เป็นข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการเสียภาษี ที่เหล่า First Jobber ควรรู้
ซึ่งเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ สิ่งที่อยากเตือนทุกคนเอาไว้ ก็คือ
“อย่าละเลยการยื่นภาษี” เพียงแค่เพราะมองว่าเราไม่ต้องเสียภาษี
เนื่องจากบางครั้งอาจเป็นการเสียสิทธิ์ที่จะได้ “คืนภาษี”
เพราะเงินได้ที่เรารับ หลาย ๆ ครั้ง จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไปแล้วนั่นเอง..
ส่วนใครที่ต้องเสียภาษี แล้วอยาก “ลดหย่อนภาษี” ก็มีหลากหลายวิธี เช่น
-คนอยู่ในระบบประกันสังคม ก็นำมาลดหย่อนภาษีได้
-ทำประกันชีวิต ที่มีอายุกรมธรรม์ 10 ปีขึ้นไป
-ดอกเบี้ย ที่เรากู้ซื้อที่อยู่อาศัย
-เงินบริจาค
-กองทุน RMF และ SSF
ซึ่งถ้าหากใครอยาก ซื้อกองทุน RMF และ SSF สำหรับยื่นลดหย่อนภาษี ในโค้งสุดท้ายของปีนี้
ลองมาทำความรู้จักกับ “MEGA 10” กองทุนรวมที่จะเข้าไปลงทุนใน หุ้น ของบริษัทเจ้าของแบรนด์ระดับโลกที่หลายคนคุ้นเคยกันดี
โดยบริษัทที่กองทุน คาดว่าจะเข้าไปลงทุน ก็เช่น Apple, Google และ Microsoft, Visa, Mastercard และ Tesla
โดยกองทุนนี้กำลัง IPO วันที่ 8 - 20 ธันวาคม 2565
และจะมีทั้งในรูปแบบ RMF และ SSF ที่เรานำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย
สำหรับใครที่สนใจ สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่ https://finno.me/mega-lt22
คำเตือน: กองทุนรวมนี้มีลักษณะเฉพาะและความเสี่ยงเฉพาะ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะ เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงของกองทุนรวมก่อนตัดสินใจลงทุน ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.talisam.co.th หรือโทร. 02-015-0222
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.