กรณีศึกษา จากยูทูบเบอร์ สู่ เจ้าของธุรกิจชานม Bearhouse
InspirationBusiness

กรณีศึกษา จากยูทูบเบอร์ สู่ เจ้าของธุรกิจชานม Bearhouse

3 ต.ค. 2020
กรณีศึกษา จากยูทูบเบอร์ สู่ เจ้าของธุรกิจชานม Bearhouse /โดย ลงทุนเกิร์ล
หลายคนอาจจะคุ้นตากับชานมที่มีโลโก้รูปหมี
และคงจะทราบดีว่า เจ้าของร้านชานมแบรนด์นี้ ก็คือ Bearhug (แบร์ฮัก) นั่นเอง
ช่องยูทูบที่มีผู้ติดตามกว่า 3.4 ล้านบัญชี
แล้วจากยูทูบเบอร์ กลายมาเป็นเจ้าของธุรกิจร้านชานมได้อย่างไร?
ชานม Bearhouse ขายดีแค่ไหน? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง..
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ “Bearhug” กันสักเล็กน้อยนะคะ
Bearhug คือ ช่องยูทูบ ที่เกิดจากการรวมตัวของ 2 เพื่อนรัก ซึ่งก็คือ
คุณกานต์ อรรถกร รัตนารมย์ จากช่อง Kan Atthakorn 
และคุณซารต์ ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช จากช่อง Sunbeary
คุณกานต์ และคุณคุณซารต์ เริ่มมาทำช่อง Bearhug ด้วยกันตั้งแต่ปี 2018
ซึ่งคอนเทนต์หลักๆ ของช่อง Bearhug ก็คือ การพาไปกิน เที่ยว และไลฟ์สไตล์ทั่วไป
ที่ผ่านมา ช่อง Bearhug มีชื่อเสียงมาจากการพาไปชิมอาหารอร่อยๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
และเป็นที่รู้กันว่า ถ้าพูดถึงเรื่องกิน เราก็คงจะต้องนึกถึงช่อง Bearhug
โดย Bearhug มีโอกาสได้เดินทางไปทั้งไต้หวัน เกาหลีใต้ และประเทศอื่นๆ
ซึ่งนอกจากประสบการณ์ใหม่ที่ได้รับ 
อีกหนึ่งอย่างที่เจอในหลายๆ ประเทศ ก็คือ แถวคนต่อซื้อชานมไข่มุกที่ยาวเหยียด
ดังนั้นเมื่อรวมกับความชอบดื่มชานมเป็นการส่วนตัวของคุณซารต์
ทั้งหมดนี้จึงได้จุดประกายไอเดียธุรกิจให้กับพวกเขา
ในปี 2019 แบรนด์ชานม ที่ชื่อว่า “Bearhouse” (แบร์เฮาส์) ก็ได้เกิดขึ้น
พวกเขาเปิดร้านชานมสาขาแรก ที่สยามสแควร์
Bearhouse มีจุดเด่นที่แตกต่างจากร้านชานมอื่นอยู่ที่ “ไข่มุกโมจิ” ที่ผลิตเอง สดใหม่ทุกวัน
ทำให้ไข่มุกของเขามีความนุ่มนิ่มมากกว่าไข่มุกทั่วไป
เหตุผลที่ทำให้ไข่มุกของ Bearhouse ออกมาในลักษณะนี้ ก็เป็นเพราะ 
คุณกานต์ และคุณซารต์สังเกตว่าร้านชานมไข่มุกส่วนใหญ่ในไทย ใช้วัตถุดิบและไข่มุกที่นำเข้าจากไต้หวัน
พวกเขาจึงตัดสินใจที่จะทำไข่มุกขึ้นเอง และใช้ข้าวไทยเป็นส่วนผสมในนั้นแทน
เริ่มแรก Bearhouse ได้สร้างครัวกลางขึ้นเพื่อทำไข่มุก
แต่เมื่อเวลาผ่านไป จากครัวกลางก็ได้ขยายกลายมาเป็นระดับโรงงาน
พอฟังแบบนี้แล้วหลายคนอาจจะสงสัยว่า แบรนด์ชานม Bearhouse ขายดีแค่ไหน?
เราลองมาดูผลประกอบการของ บริษัท 21 ซันแพสชั่น จำกัด 
เจ้าของ Bearhouse กันสักเล็กน้อย
ในปี 2019 บริษัททำรายได้ไปถึง 16.9 ล้านบาท
นี่ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี สำหรับแบรนด์ชานมแห่งนี้
ในขณะเดียวกัน ปี 2020 นี้ พวกเขายังได้ขยายสาขาเพิ่มอีก 4 แห่ง
ที่สะพานตากสิน, อารีย์, เอสพละนาด และเซ็นทรัลพระราม 9
ทำให้ตอนนี้ Bearhouse มีสาขาทั้งหมด 5 สาขาแล้ว
นอกจากเรื่องการขยายสาขาแล้ว Bearhouse ยังไปร่วมมือกับร้านอาหารญี่ปุ่น “Shinkanzen Sushi” ให้ลูกค้าสามารถสั่งชานมจากร้านอาหารได้
แล้ว Bearhouse ใช้กลยุทธ์อะไร ถึงทำยอดขายได้สูงถึงหลักสิบล้านบาทภายในเวลาไม่ถึงปี
เรื่องแรก ที่เราคงจะปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ “ฐานผู้ติดตาม” ที่สูงหลักหลายล้านจาก Bearhug
เมื่อแฟนๆ เห็นว่าพวกเขาเปิดร้านชานม ก็มาช่วยกันสนับสนุนพวกเขาจนคิวยาวออกไปนอกร้าน
แม้ว่ากลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ จะมาจากการแฟนคลับของ Bearhug
คุณซารต์และคุณกานต์ก็ตั้งใจว่า ร้านชานมแห่งนี้ จะไม่ใช่ธุรกิจที่ทำเพื่อขายแฟนคลับโดยเฉพาะ
แต่พวกเขาอยากให้ลูกค้าเป็นใครก็ได้ ที่ชื่นชอบชานมเหมือนกัน
แล้วยูทูบเบอร์ ที่ไม่ได้มีพื้นฐานหรือความสามารถด้านการทำอาหาร
จะทำให้ธุรกิจชานมออกมาได้ดีได้อย่างไร?
จริงๆ แล้ว ในอีกมุมหนึ่ง ทั้งคุณกานต์ และคุณซารต์ ได้ทุ่มเทให้กับธุรกิจนี้อย่างเต็มที่
เวลาส่วนใหญ่ในชีวิต ถูกนำไปใช้กับการทำธุรกิจชานม มากกว่าการทำยูทูบ
แม้ว่าพวกเขาไม่ใช่นักธุรกิจมืออาชีพ หรือคนที่มีความรู้เรื่องชาโดยตรง
แต่พวกเขาศึกษาและหาความรู้ เพื่อทำธุรกิจ 
ในขณะเดียวกัน พวกเขายังสร้างธุรกิจร้านชานม จากมุมมองของผู้บริโภค
เริ่มจากการใส่ใจกับวัตถุดิบ เล็กๆ น้อย ๆในร้าน
อย่างเช่น น้ำแข็ง ที่ต้องเป็นก้อนเหลี่ยมขนาดใหญ่
เพื่อให้น้ำแข็งละลายช้า และช่วยให้เศษน้ำแข็งไม่ติดขึ้นมาพร้อมไข่มุก
นอกจากนี้ พวกเขายังเดินทางไปถึงแหล่งวัตถุดิบด้วยตัวเอง อย่างเช่น 
ตอนที่ Bearhouse ออกเมนูชาดำยูซุ
ทั้งคุณกานต์และคุณซารต์ ก็ได้ไปถึง สวนส้มยูซุ ที่ญี่ปุ่น เลยทีเดียว
ส่วนใบชาที่ใช้ พวกเขาก็เดินทางไปดูไร่ชาด้วยตัวเอง
แต่ว่าการทำธุรกิจก็อาจจะไม่ได้ราบรื่นมากนัก..
เรื่องแรกคือ หลังจากที่ Bearhouse เปิดโซนขายไอศกรีมเพิ่มเติม
ปรากฏว่าผลตอบรับไม่ได้ดีเท่าที่ควร จนทำให้ต้องปิดกิจการในส่วนนี้ไป
ซึ่งนี่ก็หมายถึงเงินทุน ทรัพยากร และเวลาที่ต้องเสียไปกับกิจการในส่วนนี้
แต่ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ยอมตัดขาดทุน ก่อนที่จะใหญ่จนแก้ไขยาก
เรื่องที่สองคือ ใบชาที่ใช้อยู่เดิม เป็นใบชาที่นำเข้าจากต่างประเทศ 
แต่ในเมื่อมีการระบาดของ COVID-19 ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการขนส่งล้าช้า 
ดังนั้น พวกเขาจึงแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนมาใช้ใบชาจากไร่เชียงราย ที่มีกลิ่นชาเข้มข้นกว่าเดิม
ในขณะเดียวกัน ช่วง COVID-19 ยังกลายตัวเร่งให้ ร้านชานมแห่งนี้ต้องปรับตัวให้ไว
พวกเขาตัดสินใจออกสินค้าใหม่เป็น “ชานมแบบขวด” ที่สามารถส่งไปขายได้ทั่วประเทศ
ซึ่งจะช่วยทดแทนยอดขายในส่วนที่หายไป จากคำสั่งล็อกดาวน์ของรัฐบาล
แล้วเราได้อะไรจากเรื่องทั้งหมดนี้บ้าง?
การทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องที่ทำภายในวันเดียว หรือเดือนเดียวแล้วจบ
แต่มักจะมีปัญหา หรือโจทย์ใหม่ๆ มาให้ต้องแก้อยู่ตลอดเวลา
การตัดสิน และการแก้ปัญหา ต้องเร็วและรอบคอบมากที่สุด
ในขณะเดียวกัน เรื่องราวของ Bearhouse ยังทำให้เราได้เห็นว่า
การเริ่มต้นจากสิ่งที่เรารัก และทุ่มเทกับมันอย่างเต็มที่
ผลตอบแทนของความพยายาม ก็ย่อมที่จะปรากฏให้เราเห็นเหมือนอย่าง Bearhouse
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ถ้าเราสังเกตดีๆ โลโก้หมีม้วนตัวของ Bearhouse จะเป็นวงกลมที่ไม่เรียบ
ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะหมีตัวนี้เป็นตัวแทน ไข่มุกโมจิของที่ร้าน
ที่ไม่ว่าจะพยายามปั้นยังไง ก็ยังมีรอยแตกเล็กๆ ที่ไข่มุกอยู่ดี
เหมือนโลโก้น้องหมีที่เราเห็นนั่นเอง..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.