กรณีศึกษา Calm แอปช่วยให้คนหลับง่ายขึ้น มูลค่า 70,000 ล้านบาท ที่แจ้งเกิดด้วย Big Data
Business

กรณีศึกษา Calm แอปช่วยให้คนหลับง่ายขึ้น มูลค่า 70,000 ล้านบาท ที่แจ้งเกิดด้วย Big Data

13 มี.ค. 2023
กรณีศึกษา Calm แอปช่วยให้คนหลับง่ายขึ้น มูลค่า 70,000 ล้านบาท ที่แจ้งเกิดด้วย Big Data /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ว่า 45% ของชาวอเมริกันที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป นอนเฉลี่ยไม่ถึง 7 ชั่วโมง ขณะที่คนอังกฤษ นอนไม่พอถึง 71%
ส่วนในหลาย ๆ ประเทศ ก็มีสถิติพบว่า โดยเฉลี่ยผู้คนล้วนมีชั่วโมงการนอนไม่ถึง 7 ชั่วโมง
ซึ่งการนอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง เพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตลอดจนปัญหาสุขภาพจิต
สำหรับสาเหตุของการนอนน้อย ก็มาจากหลายปัจจัย เช่น เพราะความเครียด, รูปแบบการดำเนินชีวิตของแต่ละคน หรือเกิดความผิดปกติของฮอร์โมน
แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไร การนอนไม่เพียงพอ ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพกาย และจิตใจทั้งสิ้น
คนยุคดิจิทัลส่วนหนึ่ง จึงหาทางออกด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ช่วยในเรื่องการนอน และหนึ่งในเทคโนโลยีที่เข้าถึงง่ายที่สุด คงหนีไม่พ้น แอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน
ซึ่ง Statista เผยว่า เทรนด์การใช้แอปพลิเคชัน ที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตและการนอนหลับ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะปี 2022 ในสหรัฐฯ แอปเหล่านี้ มีรายได้ในรูปแบบ In-App Purchases สูงถึง 28,600 ล้านบาทเลยทีเดียว
และหนึ่งในแอปที่น่าจับตามองมากที่สุด คือ “Calm”
ที่มียอดดาวน์โหลดทั่วโลกไปกว่า 120 ล้านครั้ง
แถม Calm ยังถือเป็นสตาร์ตอัปยูนิคอร์นรายแรก ที่ทำธุรกิจด้านสุขภาพจิต อีกด้วย
แต่กว่าจะเป็น Calm อย่างทุกวันนี้ ช่วงแรก ๆ แอปเริ่มต้น และชูจุดเด่นด้วยฟีเชอร์ฝึกสมาธิ เพื่อช่วยดูแลสุขภาพจิตของผู้ใช้งาน แต่ต่อมา Calm ได้เพิ่มฟีเชอร์ตัวช่วยเรื่องการนอนหลับขึ้นมา ซึ่งกลายเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้ Calm เติบโตจนกลายเป็นยูนิคอร์น
ฟีเชอร์ที่ช่วยเรื่องการนอนของ Calm น่าสนใจอย่างไร ?
แล้วทำไม Calm ถึงเพิ่มฟีเชอร์นี้ขึ้นมา ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Calm ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2012 โดยคุณอเลกซ์ ทิว และคุณไมเคิล สมิธ
เป้าหมายเริ่มต้นของการสร้างแอป คือ ให้บริการที่ช่วยเรื่องการทำสมาธิ และการผ่อนคลาย
ซึ่งภายในแอป มีคลิปเสียงแนะนำวิธีนั่งสมาธิ, เล่าเรื่องสบาย ๆ สร้างพลังบวก รวมไปถึงเพลงหรือเสียง ที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงขยายธุรกิจนั้น คุณทิวและคุณสมิธ มองว่า นอกจากนักพัฒนาแอปแล้ว
ต้องมี Data Scientist หรือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล มาช่วยเสริมความแข็งแกร่ง และขับเคลื่อนธุรกิจด้วย
เพราะในยุคข้อมูลข่าวสาร ใครที่สามารถนำข้อมูลไปต่อยอดได้มากกว่า ก็จะได้เปรียบด้านการแข่งขัน
บริษัทจึงได้ว่าจ้าง Data Scientist มาเป็นพนักงานประจำ
เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์ ประเมิน และหาผลลัพธ์ จากข้อมูล Big Data เพื่อเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้งาน และกำหนดแนวทางที่เป็นประโยชน์ให้กับธุรกิจ
ซึ่งในปี 2016 Data Scientist ของบริษัท พบว่ามีการเข้าใช้งานแอปสูงมาก ช่วงเวลา 4 ทุ่มครึ่งถึง 5 ทุ่ม ในทุก ๆ วัน
เมื่อได้นำข้อมูล มาตั้งสมมติฐาน และวิเคราะห์ต่อ ก็พบว่า ผู้ใช้งานใช้ฟีเชอร์ฝึกสมาธิ เพื่อช่วยให้พวกเขานอนหลับ
ซึ่งจริง ๆ แล้ว วัตถุประสงค์โดยตรงของการทำสมาธิ คือช่วยให้ผ่อนคลาย และจิตใจสงบ
ดังนั้น การใช้ฟีเชอร์ฝึกสมาธิ เพื่อช่วยให้นอนหลับนั้น จึงเป็นอะไรที่ผิดวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ตอนแรก
แต่ข้อมูลชิ้นสำคัญนี้ ทำให้ Calm เล็งเห็นโอกาส และช่องว่างในตลาดที่ควรเข้าไปเติมเต็ม
จึงคิดหมวดหมู่ขึ้นมาใหม่ เพื่อตอบโจทย์เรื่องการนอนหลับโดยเฉพาะ นั่นคือ “Sleep Stories”
โดย Sleep Stories จะเป็นหมวด ที่เล่าเรื่องหลากหลายแนว ตั้งแต่นิทานคลาสสิก, วรรณกรรมชื่อดัง, เรื่องเล่าประสบการณ์
ซึ่งฟังผิวเผินแล้ว ก็อาจดูไม่ต่างอะไรจากแอปสตรีมมิงทั่วไป ที่มีทั้งเพลง และพอดแคสต์ แต่สิ่งที่ Calm ทำต่างออกไป คือ การออกแบบการใช้งาน ที่เข้าใจผู้ใช้งานเป็นอย่างดี
โดยน้ำเสียงของคนเล่าเรื่อง เสียงแบ็กกราวนด์ เสียงดนตรีประกอบ จังหวะในการเล่าเรื่อง การลำดับเรื่อง การเว้นวรรค ล้วนคิดมาเพื่อทำให้ผู้ใช้งานง่วงนอน และเผลอหลับได้สบาย ๆ
ต่อมา หลังจากหมวด Sleep Stories ได้ถูกเพิ่มขึ้น Calm ก็ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น
โดยเมื่อปลายปี 2016 Calm ได้รับเลือกจาก Apple ให้เป็น App of the Year 2017 และ Editors’ Choice 2018 จาก Google Play
ในส่วนของผลประกอบการ ก็เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ปี 2017 มีรายได้ 1,295 ล้านบาท
ปี 2018 มีรายได้ 2,800 ล้านบาท
ปี 2019 มีรายได้ 5,250 ล้านบาท
ปี 2020 มีรายได้ 7,000 ล้านบาท
และปัจจุบันแอป มีจำนวนสมาชิกที่ยอมจ่ายเงิน (Paid Subscribers) มากถึง 4 ล้านคน
โดย Calm ในสหรัฐฯ มีราคาสมาชิกหลายรูปแบบ
ตั้งแต่รายเดือน ราคาประมาณ 520 บาท
รายปี ราคาประมาณ 2,440 บาท
แพ็กเกจกลุ่ม 6 คน รายปี ราคาประมาณ 3,480 บาท
และสมาชิกตลอดชีพ ราคาประมาณ 13,900 บาท
สำหรับในประเทศไทย Calm มีพรีเมียมแพ็กเกจแบบเดียว คือ 1,850 บาทต่อปี หรือตกเดือนละ 154 บาท
ด้วยความสำเร็จของ Calm นี้เอง ทำให้บริษัทได้รับความสนใจจากนักลงทุน จนสามารถระดมทุนได้อย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นยูนิคอร์น ตั้งแต่ปี 2019
ซึ่งตอนนี้สามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้แล้วกว่า 7,600 ล้านบาท และมีมูลค่าบริษัทแตะ 70,000 ล้านบาท ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เท่านั้นยังไม่พอ แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ที่เกี่ยวกับการนอนหลับ กำลังมีแนวโน้มโตเอา ๆ ซึ่งก็ส่งผลให้ Calm ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย
โดย BBC รายงานว่า ปี 2022 ตลาดเทคโนโลยีเกี่ยวกับการนอน มีมูลค่าสูงกว่า 5.3 แสนล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะพุ่งสูงขึ้นไปเป็น 2.3 ล้านล้านบาท ภายในปี 2030
ทั้งหมดนี้ทำให้ Calm เป็นธุรกิจที่น่าจับตามองทีเดียว
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว จะเห็นว่า แม้ Calm จะเป็นธุรกิจ ที่มีแกนหลักมาจากไอเดีย การเป็นตัวช่วยเรื่อง การฝึกทำสมาธิ
แต่บริษัทก็สามารถนำข้อมูล Big Data มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ โดยค้นหาความต้องการ หรือ Pain Point ที่แท้จริงของผู้ใช้งาน จนสามารถพัฒนาฟีเชอร์ในแอปได้อย่างเหมาะเจาะ
และสิ่งนี้เอง ก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ Calm กลายเป็นสตาร์ตอัปที่โตเร็ว และได้รับความสนใจ ทั้งจากนักลงทุนและผู้ใช้งานทั่วโลก นั่นเอง..
-------------------------------------------------------------
Presented by กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป พุ่งเป้าพัฒนาธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) เพื่อเข้ามาเติมเต็มและต่อจิกซอว์เทรนด์ไลฟ์สไตล์ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น หลังจากประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับอย่างดีจากกลุ่มลูกค้าชาวไทยและต่างชาติที่มาใช้บริการร้าน Marimekko Pop-Up Café คาเฟแห่งแรกในโลก พร้อมเดินหน้าปูทางธุรกิจ F&B ภายใต้แบรนด์อื่นในเครือ หวังเจาะตลาดกลุ่มลูกค้า Gen Y - Gen Z มากขึ้น
https://www.facebook.com/TANACHIRA-GROUP-174055739828807/
#TANACHIRA #MarimekkoCafeThailand
-------------------------------------------------------------
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.