ทำไม Starbucks ถึงมีลูกค้า เอาเงินมาฝากไว้ มากถึง 55,000,000,000 บาท
Business

ทำไม Starbucks ถึงมีลูกค้า เอาเงินมาฝากไว้ มากถึง 55,000,000,000 บาท

8 พ.ค. 2023
ทำไม Starbucks ถึงมีลูกค้า เอาเงินมาฝากไว้ มากถึง 55,000,000,000 บาท /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้ไหมว่า ปัจจุบัน Starbucks มีเงินในบัตรสมาชิก รวมกันมากกว่า 55,200 ล้านบาท แถมมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญ เงินก้อนนี้ ยังเป็นเงินที่ทิ้งไว้ค่อนข้างนานแบบไม่ต้องรีบใช้อีกด้วย
ทำไมลูกค้าถึงยอมนำเงินมาเติมไว้ในบัตรสมาชิก Starbucks Rewards Card ไว้มากขนาดนี้ ?
แล้ว Starbucks ได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้บ้าง ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
บัตรสมาชิก เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้ลูกค้าอยากกลับมาใช้บริการซ้ำ เพื่อรับสิทธิประโยชน์ที่มากกว่าลูกค้าทั่วไป
แน่นอนว่าบัตรสมาชิกของ Starbucks ก็มีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์แบบนั้นเช่นกัน
จริง ๆ แล้ว ระบบสมาชิกของ Starbucks หรือชื่อทางการว่า “Starbucks Rewards Card” ถือเป็นหนึ่งในระบบสมาชิกที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก และกลายเป็นกรณีศึกษาทางธุรกิจที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงหลายครั้ง
โดยในปี 2022 “Starbucks Rewards Card” มีจำนวนเงินที่ถูกเติมเอาไว้มากถึง 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 55,200 ล้านบาท
ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในปี 2016 ที่เงินส่วนนี้มีอยู่ประมาณ 38,500 ล้านบาท
แล้วอะไร ที่ทำให้ลูกค้าเติมเงินในบัตร Starbucks ทิ้งไว้
ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีผลตอบแทน เหมือนอย่างการนำเงินไปฝากธนาคารแล้วได้ดอกเบี้ย
อีกทั้งถ้าเติมเงินไปแล้ว ก็ไม่สามารถแลกคืนกลับเป็นเงินสดได้ด้วย
ต้องบอกก่อนว่า Starbucks กำหนดขั้นต่ำในการเติมเงินเพียง 100 บาท และสามารถเติมเงินให้พอดีกับการซื้อในแต่ละครั้งได้ แต่สมาชิกก็ยังยินดีที่จะเติมเงินเข้าไปสำรองไว้ในบัตรมากกว่าการซื้อในแต่ละครั้งอยู่ดี
เช่น หากเราอยากซื้อเครื่องดื่ม 1 แก้ว ในราคา 130 บาท แทนที่จะควักเงินสด 130 จ่ายไปเลย หรือเติมเงินเข้าบัตร Starbucks เพียง 200 บาท
บ่อยครั้ง เรากลับเลือกที่จะเติมเงินเข้าบัตรเผื่อไว้ เป็นจำนวน 500 บาท หรือ 1,000 แทน..
สิ่งที่สนับสนุนให้พฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้น คือ “การตลาด” และ “ระบบ” ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกได้ถึงความคุ้มค่าที่จะจ่ายค่าเครื่องดื่มผ่านบัตรสมาชิก และเต็มใจที่จะเติมเงินก้อนใหญ่ฝากไว้ในบัตร ไม่ว่าจะเป็น
-ระบบ Starbucks Rewards Card ที่ออกแบบให้ใช้งานง่าย
แม้การใช้จ่ายผ่านบัตร Starbucks จะต้องเติมเงินเข้าไปก่อนใช้จ่าย แต่ก็สามารถเติมเงินได้ไม่ยาก และไม่ได้กำหนดเงินขั้นต่ำในการเติมที่สูง จนยากต่อการตัดสินใจ
ซึ่งบัตรสมาชิกที่ว่านี้ ก็ไม่ได้จำเป็นต้องใช้ในรูปแบบ Card จริง ๆ แต่ยังสามารถล็อกอินบัตรเข้าไปในแอปพลิเคชันบนมือถือ ที่สะดวกต่อการใช้จ่ายและจัดการบัตร รวมถึงสามารถสั่งออร์เดอร์เมนูต่าง ๆ ได้ในแอปด้วย ทั้งแบบดิลิเวอรี และแบบ Pick-up ที่ร้าน Starbucks
ที่สำคัญ แอปนี้ยังทำระบบรองรับการเพิ่มจำนวนบัตรได้หลาย ๆ ใบ แถมยังโอนเงินจากบัตรหนึ่งไปรวมกับอีกบัตรได้ คล้ายกับการโอนเงินต่างบัญชีของตัวเองผ่านแอปธนาคาร ซึ่งการทำแบบนี้มีส่วนทำให้ลูกค้ารู้สึกยืดหยุ่นในการใช้งาน
แต่แค่ใช้ง่ายก็คงยังไม่พอ ถ้าคุณจะเอาเงินไปฝากไว้กับใครสักคน เพื่อเก็บไว้ใช้ทีหลัง ก็คงต้องเลือกคนที่ไว้ใจและเชื่อใจมาก ๆ เช่นเดียวกันกับลูกค้า Starbucks
-มีความเชื่อมั่นในแบรนด์
ปฏิเสธไม่ได้ว่า Starbucks ถือเป็นแบรนด์ชั้นนำในระดับโลก ด้วยภาพลักษณ์และ Brand Loyalty ทำให้ลูกค้าไว้วางใจที่จะฝากเงิน และทิ้งเงินก้อนไว้ในระบบ แม้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายในทันที
ซึ่ง Starbucks ก็ยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าเพิ่มขึ้นไปอีก เช่น มีบริการอายัดบัตรผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ กรณีทำบัตรสมาชิก (ที่ลงทะเบียนไว้แล้ว) สูญหาย เหมือนกับบริการของธนาคารด้วย
-คิดว่าเงินที่เติมไป ถึงอย่างไรก็ได้ใช้อยู่ดี
อีกหนึ่งสาเหตุที่คนยอมเติมเงินค้างไว้ในบัตร นอกจากเครื่องดื่มและขนมที่ซื้อซ้ำ ๆ ได้ทุกวันแล้ว Starbucks ยังออกสินค้าใหม่ ๆ มาล่อตาล่อใจให้ซื้ออยู่เสมอ
ไม่ว่าจะเป็นแก้วทัมเบลอร์ แก้วมัค ที่ออกคอลเลกชันใหม่ถี่ยิบ มีรุ่นแรร์ออกมาให้ซื้อสะสม หรือจะเป็นของที่ระลึก ไปจนถึงเมล็ดกาแฟ ที่ชวนให้ได้ใช้เงินในบัตรอยู่บ่อย ๆ
ดังนั้น สมาชิกของ Starbucks หลาย ๆ คน จึงรู้สึกว่า
ไหน ๆ ก็ต้องใช้จ่ายอยู่แล้ว ตอนเติมเงินเข้าไป ก็เติมเผื่อ ๆ ไว้สำหรับใช้จ่ายในอนาคตทีเดียวไปเลย
ได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น
Starbucks ใช้ระบบ Starbucks Rewards ที่ให้ลูกค้ารับดาวสะสม เมื่อใช้จ่ายผ่านบัตร Starbucks Rewards Card เพื่อแลกรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้สมาชิกได้รับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น เช่น สมาชิก Gold Level สามารถรับเครื่องดื่มและขนมเค้กฟรีในเดือนเกิด
แล้ว Starbucks ได้ประโยชน์จากการเติมเงินทิ้งไว้ในบัตร ของลูกค้า มากแค่ไหน ?
อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า เงินที่เติมเข้ามาในระบบ ไม่สามารถแลกกลับเป็นเงินสดได้ หมายความว่า จำนวนเงินกว่า 55,200 ล้านบาทนี้ ตกเป็นของ Starbucks อย่างแน่นอน เพียงแค่ “ได้รับเงินก่อน ให้ของทีหลัง”
หรือบางครั้ง Starbucks ก็ได้รับเงินส่วนนี้ไปฟรี ๆ เพราะลูกค้าไม่ได้ใช้ เช่น มีคนให้ Starbucks Gift Cards (บัตรของขวัญ) แล้วลืมใช้ หรือบางครั้งใช้ไปแล้ว แต่ยังเหลือเงินจำนวนเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่ในบัตรแล้วไม่ได้ใช้ต่อ
ซึ่งเงินเหล่านี้เมื่อสะสมกันมากเข้า ก็กลายเป็นเงินจำนวนไม่น้อย ที่ค้างอยู่ในระบบได้เช่นกัน
นอกจากนี้ อีกหนึ่งประโยชน์ที่ Starbucks จะได้รับคือ กระแสเงินสด หรือเงินก้อน ที่สามารถนำไปใช้บริหารกิจการ หรือต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น นำไปลงทุนในหุ้นกู้ โดยที่ Starbucks ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้า เพื่อเป็นผลตอบแทนใด ๆ เลย
และด้วยความที่มีลูกค้า นำเงินมาฝากไว้ด้วยมากขนาดนี้
จึงทำให้ Starbucks ได้รับอีกฉายาว่าเป็น ธนาคารที่ขายกาแฟ..
-----------------------------------------------
Presented by กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป พุ่งเป้าพัฒนาธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) เพื่อเข้ามาเติมเต็มและต่อจิกซอว์เทรนด์ไลฟ์สไตล์ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น หลังจากประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับอย่างดีจากกลุ่มลูกค้าชาวไทยและต่างชาติที่มาใช้บริการร้าน Marimekko Pop-Up Café คาเฟแห่งแรกในโลก พร้อมเดินหน้าปูทางธุรกิจ F&B ภายใต้แบรนด์อื่นในเครือ หวังเจาะตลาดกลุ่มลูกค้า Gen Y - Gen Z มากขึ้น
https://www.facebook.com/TANACHIRA-GROUP-174055739828807/
#TANACHIRA #MarimekkoCafeThailand
-----------------------------------------------
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.