รู้จัก “CIRCULAR” แบรนด์แฟชั่นของคนไทย ที่ทำเสื้อผ้า จากขยะ 100%
Business

รู้จัก “CIRCULAR” แบรนด์แฟชั่นของคนไทย ที่ทำเสื้อผ้า จากขยะ 100%

1 ก.ค. 2023
รู้จัก “CIRCULAR” แบรนด์แฟชั่นของคนไทย ที่ทำเสื้อผ้า จากขยะ 100% /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้ไหมว่า ? ในแต่ละปี อุตสาหกรรมแฟชั่น ผลิตเสื้อผ้าใหม่ ๆ ออกมา หลัก 100 ล้านชิ้น จึงทำให้ทุก ๆ ปี เกิดกองขยะจากสิ่งทอขึ้น เป็นจำนวนมหาศาล
ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ ขยะมหาศาลที่ว่านี้ มีเพียง 1% เท่านั้น ที่ถูกนำไปรีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าใหม่..
ซึ่งเรื่องนี้ ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียทางธุรกิจ ของคนไทย ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งใน 1% นั้น เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาขยะจากเสื้อผ้า และลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
ธุรกิจที่เรากำลังพูดถึงนี้ ก็คือ “CIRCULAR”
แบรนด์แฟชั่นของคนไทย ที่ผลิตเสื้อผ้าทุกตัวขึ้นมา จากขยะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าเก่า 100% แบบไม่เติมสีใหม่ และไม่ฟอกย้อม
วันนี้ลงทุนเกิร์ล มีโอกาสได้พูดคุยกับ “คุณวัธ-จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์” ผู้อยู่เบื้องหลังเสื้อผ้าแฟชั่นใจกลางสยามสแควร์ ที่ถ้าไม่บอกก็คงไม่รู้เลยว่า เสื้อผ้าทั้งร้านผ่านการรีไซเคิลมาแล้วทั้งนั้น
เรื่องราวของแบรนด์ CIRCULAR เกิดขึ้นในปี 2020
โดยคุณวัธ ทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด หรือ SC GRAND ซึ่งเป็นธุรกิจรีไซเคิลสิ่งทอ ที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 50 ปี
เริ่มตั้งแต่รุ่นคุณยาย ที่ทำธุรกิจซื้อขายเศษด้ายและเศษผ้าในอุตสาหกรรมแฟชั่น
ตามมาด้วยรุ่นคุณแม่ ที่ทำโรงงานปั่นด้ายจากเศษด้ายและเศษผ้า เพื่อผลิตเป็นสินค้าทั่วไป เช่น ไม้ถูพื้น
โดยคุณวัธมองว่า โมเดลธุรกิจที่ครอบครัวกำลังทำอยู่ มีต้นทุนสูง และแข่งขันในตลาดได้ยาก จึงอยากหาโอกาสใหม่ ๆ ให้ผ้ารีไซเคิล สามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น
คุณวัธจึงตัดสินใจเข้ามาบริหารบริษัทต่อ และยังคงใช้เทคโนโลยีรีไซเคิลผ้าที่ SC GRAND ทำได้ดีอยู่แล้ว มาเป็นจุดแข็ง เพื่อต่อยอดในการทำ Sustainable Fashion Brands
จนในที่สุด ก็ได้สร้างแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่น “CIRCULAR” ขึ้นมา โดยมีความตั้งใจที่จะสื่อสารให้คนรู้ว่า ผ้ารีไซเคิล 100% ก็สามารถทำเป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้จริง ๆ
“เราตั้งใจดิไซน์เสื้อผ้าให้ Minimal แต่ Classy เพื่อให้สามารถใช้ซ้ำในชีวิตประจำวันได้ แต่ถ้าเบื่อแล้วก็ส่งกลับมารีไซเคิลได้เช่นกัน” คุณวัธกล่าว
แล้วเสื้อผ้า CIRCULAR ต่างจากเสื้อผ้าทั่วไปอย่างไร ?
แน่นอนว่า จุดที่ทำให้ CIRCULAR ต่างจากแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นทั่วไปอย่างชัดเจน คือ วัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิตผ้า ที่ทำมาจาก “ขยะ”
แต่ขยะ ณ ที่นี้หมายถึง Textile Waste หรือขยะสิ่งทอ ซึ่งเป็นวัสดุที่หลงเหลืออยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็นเศษด้ายจากโรงงานทอผ้า เศษผ้าจากโรงงานตัดเย็บ หรือแม้แต่เสื้อผ้าเก่าที่มีคนนำมาบริจาค
โดย CIRCULAR จะนำขยะเหล่านี้ มาคัดแยกตามเฉดสี จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลขึ้นรูป เป็นเส้นด้ายขึ้นมาใหม่
ก่อนจะนำไปถักทอด้วยวิธีการต่าง ๆ ให้ออกมาเป็นเนื้อผ้าตามที่ออกแบบไว้ ซึ่งสามารถถักทอออกมาเป็นผ้าหลากหลายชนิด สามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ถุงเท้า
พอบอกว่าเสื้อผ้าเหล่านี้ผ่านการรีไซเคิลมา โดยไม่มีเส้นใยผ้าใหม่สักเส้น หลายคนคงสงสัยแล้วว่า เนื้อผ้าจะนุ่มสบายเหมือนกับเสื้อผ้าที่ผลิตขึ้นใหม่หรือไม่ ?
ต้องบอกว่า หลังจากการได้สัมผัสเนื้อผ้า ด้วยมือของทีมงานลงทุนเกิร์ลเอง คำตอบคือ “ไม่แตกต่างกัน”
ทว่า จุดด้อยของเสื้อผ้าที่มาจากการรีไซเคิล 100% คือเนื้อเฉดสีของผ้า จะไม่สามารถควบคุมให้เป็นสีที่ต้องการได้แบบเป๊ะ ๆ
เพราะกระบวนการรีไซเคิล ไม่มีการเติมสีเข้าไปเพิ่ม หรือทำการฟอกย้อมใหม่ พูดง่าย ๆ คือขยะสีไหน ก็จะทำออกมาได้เสื้อผ้าใหม่สีนั้นนั่นเอง
หากมองในเรื่องของการดิไซน์ CIRCULAR ก็ถูกออกแบบมาอย่างประณีต โดยทุกผลิตภัณฑ์จะมีแรงบันดาลใจจากสิ่งที่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
คุณวัธยกตัวอย่างกางเกงตัวหนึ่ง ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากทะเลสาบ COMO ในประเทศอิตาลี
เบื้องหลังของกางเกงตัวนี้คือ การทำงานร่วมกันของดิไซเนอร์และฝ่ายโรงงาน ที่จะต้องหาวิธีผลิตขยะที่มีอยู่ ให้สามารถผสมสีกันออกมาใกล้เคียงกับสีฟ้าอมเขียว คล้ายกับผิวน้ำของทะเลสาบแห่งนี้ให้ได้มากที่สุด
เรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของ CIRCULAR ที่สีสันของผ้าจะไม่ซ้ำกัน และมีเพียงตัวเดียวในโลก
ที่สำคัญ กระบวนการผลิตเสื้อผ้ารีไซเคิล 100% ของ CIRCULAR ยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
โดยกระบวนการผลิตผ้าจากฝ้ายทั่วไป จะต้องเริ่มจาก
การปลูกฝ้าย > ปั่นด้าย > ถักทอ > ฟอกย้อม > ตัดเย็บ
แต่กระบวนผลิตผ้าของ CIRCULAR จะมีขั้นตอนน้อยกว่า
โดยจะเหลือแค่ การปั่นด้าย > ถักทอ > ตัดเย็บ
ซึ่งกระบวนการผลิตที่หายไป 2 ขั้นตอน อย่าง “การปลูกฝ้าย” และ “การฟอกย้อม” ปกติแล้วจะต้องใช้น้ำสะอาดเฉลี่ย 2,000 ลิตร ต่อการผลิตเสื้อยืดหนึ่งตัว
เทียบเท่ากับปริมาณน้ำที่มนุษย์ใช้ดื่มตามปกติ เป็นเวลา 3 ปี เลยทีเดียว
ดังนั้น การตัดขั้นตอนเหล่านี้ไป ก็เป็นการลดการใช้น้ำสะอาดได้มหาศาล รวมถึงลดการใช้สารเคมีในกระบวนการฟอกย้อม ที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำอีกด้วย
แม้ CIRCULAR จะเปิดแบรนด์แฟชั่นเต็มตัว มาได้เพียงไม่กี่ปี
แต่ในช่วง 1 ปีล่าสุด ก็สามารถสร้างยอดขายจากหลักหมื่นบาท เป็นหลักแสนบาท เท่ากับมีการเติบโต 10 เท่าใน 1 ปี
ถึงจะไม่ได้เป็นตัวเลขที่สูงมาก แต่สะท้อนถึงการตอบรับที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะถ้าเปรียบเทียบจากในช่วงแรกที่โรงงานตัดเย็บ รวมถึงผู้บริโภคไม่กล้าใช้ผ้ารีไซเคิล เพราะมีข้อจำกัดเยอะกว่าการซื้อผ้าผลิตใหม่อันคุ้นเคย
แล้ว CIRCULAR ทำอย่างไร ให้คนเปิดใจให้เสื้อผ้าจากการรีไซเคิล ?
คุณวัธได้แชร์กลยุทธ์การสื่อสารที่ทำให้ CIRCULAR เป็นที่รู้จักมากขึ้น 3 ส่วนหลัก ได้แก่
-การ Collaboration กับแบรนด์ต่าง ๆ ให้คนรู้จัก เช่น ร่วมกับสายการบิน Thai Smile ในการนำยูนิฟอร์มเก่าของแอร์โฮสเตส มารีไซเคิลเป็นเสื้อโปโลตัวใหม่ เพื่อขายให้กับผู้โดยสารบนเครื่องบิน
และ Collaboration กับกางเกงยีนแบรนด์ Selvedgework โดยนำเศษผ้ายีน ที่ผลิตในแต่ละคอลเลกชัน มาผลิตเป็นผ้ายีนตัวใหม่
-การสร้างคอมมิวนีตีให้ลูกค้ามีส่วนร่วมกับแบรนด์ เช่น โปรแกรม Circular T-shirt Club ที่ลูกค้าสามารถนำเสื้อผ้าเก่า มาแลกรับส่วนลดตัวละ 100 บาท ต่อการซื้อเสื้อผ้าในร้าน 1 ตัว แบบไม่จำกัด เก็บไว้ใช้ได้เรื่อย ๆ
รวมถึงให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการออกแบบเสื้อผ้าด้วยตัวเอง โดยบริการรับผลิตเสื้อผ้ารีไซเคิล ที่ Customize คู่สีและรูปแบบของเสื้อผ้าได้
นอกจากนี้ 1% ของยอดขาย CIRCULAR จะบริจาคให้กับองค์กรระหว่างประเทศ “1% for the Planet” เท่ากับว่า ลูกค้ามีส่วนในการช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ทุกครั้งที่ซื้อเสื้อผ้าจากที่นี่
-สร้างความคุ้นเคยด้วยการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการเปิดหน้าร้านที่ตึก CIRCULAR สยามสแควร์ ซอย 2 รวมถึงช่องทางออนไลน์บน Instagram, TikTok และ Facebook ที่ชื่อว่า Circularclub
เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน และสื่อสารข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเสื้อผ้ารีไซเคิล ที่จะทำให้ผู้บริโภคอยากเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์เข้าสักวัน
เรียกได้ว่ากลยุทธ์การสื่อสารของ CIRCULAR นั้น ประสบความสำเร็จไปในระดับหนึ่งแล้ว สะท้อนได้จากยอดขายที่เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ในระยะเวลาไม่นาน
อีกทั้งกำลังเป็นการส่งสัญญาณบอกด้วยว่า คนไทยเริ่มหันมาสนใจสินค้ากลุ่ม Sustainable Fashion Brands มากขึ้นกว่าเดิมแล้ว..
แล้วคุณล่ะ เคยลองสวมใส่เสื้อผ้าจากขยะรีไซเคิล 100% หรือยัง ?
References:
-สัมภาษณ์พิเศษกับคุณวัธ-จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ Managing Director Circular
-https://www.facebook.com/circularclub.th
-https://www.circularoem.com/ourstory
-https://theroundup.org/textile-waste-statistics/
-https://sustainablecampus.fsu.edu/blog/clothed-conservation-fashion-water
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.