ทำไม “นมแมลงสาบ” ถึงอาจเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ ของมนุษย์ในอนาคต
Food

ทำไม “นมแมลงสาบ” ถึงอาจเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ ของมนุษย์ในอนาคต

9 ก.ค. 2023
ทำไม “นมแมลงสาบ” ถึงอาจเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ ของมนุษย์ในอนาคต /โดย ลงทุนเกิร์ล
เปิดหัวมาแบบนี้ อย่าเพิ่งร้องยี้ !
เพราะปัจจุบัน มีหลายงานวิจัยพบว่า “นมแมลงสาบ” เป็นแหล่งโปรตีน ที่มีสารอาหารสูงกว่านมวัวถึง 4 เท่า
ซึ่งอาจกลายเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของมนุษย์ในอนาคตอีกด้วย
แล้วนมแมลงสาบได้มาอย่างไร และมีประโยชน์แค่ไหน ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
“นมวัว” เป็นแหล่งโปรตีนสำคัญ ที่ผู้คนทั่วโลกนิยมบริโภค แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถบริโภคนมวัวได้
โดยจากสถิติพบว่า ทุกวันนี้มีทารกที่เกิดใหม่ราว 3% ทั่วโลกที่มีอาการแพ้นมวัว
อีกทั้งยังพบว่า คนไทยประมาณ 3% เป็นโรคแพ้นมวัว
ซึ่งในปี 2564 มีเด็กเกิดใหม่ในประเทศไทย อยู่กว่า 544,000 คน
ดังนั้นถ้าคิดคร่าว ๆ ในจำนวนนี้ ก็จะมีทารกที่แพ้นมวัวไปแล้ว 16,320 คน
แน่นอนว่า หากรวมตัวเลขประชากรหรือเด็กเกิดใหม่ทั่วทั้งโลก ก็จะมีคนที่แพ้นมวัวอยู่มหาศาล..
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดงานวิจัยค้นคว้าแหล่งโปรตีนใหม่ ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่แพ้โปรตีน ออกมาอยู่เป็นระยะ ๆ
และหนึ่งในนั้นก็คือโปรตีนจาก “นมแมลงสาบ”
การค้นพบครั้งนี้ เริ่มต้นมาจาก ทีมงานจากสถาบันชีววิทยาสเต็มเซลล์และเวชศาสตร์ฟื้นฟูในอินเดีย ที่กำลังศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการของ “นมแมลงสาบ” ในฐานะซูเปอร์ฟูดชนิดใหม่ของโลก
โดยเบื้องต้นพบว่า เมื่อเทียบนมแมลงสาบ กับนมวัว ในปริมาณที่เท่ากัน
นมแมลงสาบ จะมีโปรตีนสูง 4-5 เท่า แถมยังมีสารอาหารอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายรวมอยู่ด้วย
ทีนี้ หลายคนคงสงสัยแล้วว่า แมลงสาบ มีนมด้วยเหรอ ?
ก่อนอื่นต้องบอกว่า ตระกูลแมลงสาบนั้น มีมากกว่า 5,000 สายพันธุ์ ซึ่งแมลงสาบที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ ก็ไม่ใช่แมลงสาบที่เราเห็นกันอยู่ตามบ้านเรือนทั่วไป
แต่เป็นสายพันธุ์ที่เรียกว่า “แมลงสาบด้วงแปซิฟิก (Pacific Beetle cockroach)” ที่มักพบอยู่แถบฮาวาย
หน้าตาของ แมลงสาบด้วงแปซิฟิก จะมีลำตัวหนาและมนคล้ายด้วง แต่มีส่วนหัวที่มีหนวดยาวอ่อน ๆ สองหนวดเหมือนแมลงสาบทั่วไป
แต่ความพิเศษคือ แมลงสาบสายพันธุ์นี้ จะออกลูกเป็นตัว นั่นทำให้ร่างกายของพวกมัน สามารถสร้างผลึกโปรตีนออกมาคล้ายกับนมของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่เลี้ยงลูกด้วยนม
ซึ่งต่างจากแมลงสาบทั่วไป ที่ออกลูกด้วยการวางไข่เป็นกลุ่ม
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะสามารถรีดนมแมลงสาบออกมาได้เหมือนรีดนมวัว
ที่เป็นแบบนั้นเพราะแมลงสาบไม่มีเต้านม และพวกมันจะสร้างผลึกโปรตีนเหล่านี้ไว้ในลำไส้ เพื่อเป็นอาหารให้ตัวอ่อนตั้งแต่อยู่ในท้อง
ดังนั้น การจะได้นมแมลงสาบออกมา จะต้องสกัดจากแม่แมลงสาบที่กำลังมีลูกเท่านั้น
จากการทดลองพบว่า แมลงสาบ 1,000 ตัว สามารถสกัดนมแมลงสาบ ออกมาได้ 100 มิลลิลิตร
หรือจินตนาการง่าย ๆ คือ เป็นปริมาณที่เติมไม่เต็มกล่อง แลคตาซอยกล่องเล็ก 6 บาท (125 มล.) ด้วยซ้ำ
แต่ถึงจะสกัดออกมาได้ในปริมาณน้อย นมแมลงสาบ กลับมีจุดเด่นคือ มีโปรตีนมากกว่านมวัวถึง 4 เท่า
ด้วยปริมาณโปรตีนที่สูง ทำให้ไม่จำเป็นต้องดื่มในปริมาณมากเท่ากับนมวัว นั่นเอง
โดยนมแมลงสาบปริมาณ 100 มิลลิลิตร ให้พลังงานประมาณ 232 กิโลแคลอรี
อีกทั้งยังพบสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น, โปรตีน, คาร์โบไฮเดรต, ไขมัน และกรดอะมิโน
จากการวิจัย ที่ค้นพบสารพัดคุณประโยชน์ จึงคาดว่านมแมลงสาบ จึงอาจจะเข้าสู่กระบวนการทำให้เป็นผงหรืออยู่ในรูปแบบอื่น ๆ ที่สามารถผสมกับอาหาร หรือบรรจุใส่แคปซูลรับประทาน เหมือนกับอาหารเสริมแทน
อย่างไรก็ตาม หากนมแมลงสาบสามารถประสบความสำเร็จ ในการเป็นโปรตีนทางเลือกใหม่ของมนุษย์ได้จริง
คงต้องทลายอุปสรรคใน 2 เรื่องหลัก ๆ ให้ได้ก่อน นั่นคือ
1) กำแพงใจของผู้บริโภค
เพราะต้องยอมรับว่า ณ ตอนนี้ คงไม่มีใครอยากลองยกดื่มนมแมลงสาบ เหมือนนมวัวเท่าไรนัก ด้วยภาพจำที่ว่า แมลงสาบเป็นสัตว์ที่สกปรกและน่าขยะแขยง
ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรในการสื่อสาร และให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและการยอมรับ จากผู้บริโภคในวงกว้าง
2) กำลังการผลิต
โดยต้องสามารถสเกล หรือทำให้เกิดการผลิตในปริมาณที่มากได้เพียงพอกับความต้องการ และมีต้นทุนที่ต่ำพอ (Economies of Scale) เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย
แต่ทั้งนี้ ต้องย้ำว่า นมแมลงสาบ ยังไม่มีการผลิตออกมาในเชิงพาณิชย์ และยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองเท่านั้น
ซึ่งในอนาคตหากมีวิธีการสกัดที่ดีกว่า หรือมีข้อสนับสนุนไปในทางที่ดีมากพอ จนสามารถก้าวข้ามอุปสรรคที่พูดไปก่อนหน้านี้ได้
นมแมลงสาบ ก็มีโอกาสก้าวขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งแหล่งโปรตีนที่น่าสนใจของโลก ในฐานะของซูเปอร์ฟูด ที่วันหนึ่ง เราก็อาจจะพึ่งพามันก็เป็นได้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.