Tipsy Elves สเวตเตอร์เทศกาล ยอดขาย 11,000 ล้าน ที่จงใจออกแบบให้น่าเกลียด
Business

Tipsy Elves สเวตเตอร์เทศกาล ยอดขาย 11,000 ล้าน ที่จงใจออกแบบให้น่าเกลียด

25 ธ.ค. 2023
Tipsy Elves สเวตเตอร์เทศกาล ยอดขาย 11,000 ล้าน ที่จงใจออกแบบให้น่าเกลียด /โดย ลงทุนเกิร์ล
ทุกคนยังจำภาพไวรัลของคุณ Ryan Reynolds ในช่วงคริสต์มาสเมื่อปี 2018 ได้หรือไม่คะ
เมื่อนักแสดงหนุ่มได้โพสต์ภาพบนอินสตาแกรมว่า ไปงานปาร์ตีคริสต์มาส ในธีมเสื้อสเวตเตอร์
พร้อมกับเพื่อนนักแสดงอย่างคุณ Hugh Jackman และคุณ Jake Gyllenhaal
แต่ปรากฏว่ามีเขาคนเดียวที่โดนหลอกให้ใส่เสื้อสเวตเตอร์สีเขียวแดง ผูกด้วยโบสีทองมาร่วมงาน ขณะที่คนอื่นใส่เพียงเสื้อยืดธรรมดาเท่านั้น
ซึ่งสเวตเตอร์ตัวดังกล่าว มาจากแบรนด์ Tipsy Elves ที่ใครเห็นเป็นครั้งแรก ก็คงไม่คาดคิดว่าธุรกิจ “เสื้อสเวตเตอร์คริสต์มาสที่น่าเกลียด” นี้ จะสร้างยอดขายได้มากกว่า 11,000 ล้านบาท เลยทีเดียว
แล้วเรื่องราวของ Tipsy Elves น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่น ขอเท้าความถึงที่มาของ “เสื้อสเวตเตอร์คริสต์มาสที่น่าเกลียด” กันก่อนนะคะ
เสื้อสเวตเตอร์คริสต์มาสที่น่าเกลียด คือ เสื้อสเวตเตอร์ในธีมคริสต์มาส ที่เคยนิยมในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 ซึ่งมักจะมีสีสันฉูดฉาด พร้อมกับลวดลาย เช่น กวางเรนเดียร์, ซานตาคลอส, เอลฟ์, กล่องของขวัญ
โดยที่บอกว่า “น่าเกลียด” นั้น ก็เนื่องมาจาก พวกมันถูกมองว่าเป็นเสื้อผ้าที่ไม่มีรสนิยม และมักจะเป็นของขวัญวันคริสต์มาสจากผู้สูงอายุ ที่ชอบถักเย็บเสื้อหนาว
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เสื้อสเวตเตอร์คริสต์มาสที่น่าเกลียดเหล่านี้ ได้เปลี่ยนตัวเองจากของขวัญสุดเชย ไปเป็นเสื้อผ้าสุดฮิปในงานปาร์ตี
นับตั้งแต่ในปี 2002 เมื่อชายหนุ่ม 2 คนได้เป็นเจ้าภาพจัดงานปาร์ตี “Ugly Sweater” ในเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา เพื่อหาเงินบริจาค เพื่อรักษามะเร็งให้เพื่อนของพวกเขา
ไม่นาน แนวคิดนี้ก็ได้แพร่กระจายไปทั่วแคนาดา สหรัฐอเมริกา รวมถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลกในเวลาต่อมา
จนกระทั่งในปี 2011 จากงานสังสรรค์ในวันหยุดเล็ก ๆ ก็ได้กลายเป็นงานใหญ่ระดับนานาชาติ
ที่มีชื่อว่า “National Ugly Sweater Day” ซึ่งจัดขึ้นทุกวันศุกร์ที่สาม ในเดือนธันวาคมของทุกปี
โดยเป้าหมายของงานเฉลิมฉลองนี้ ก็เพื่อระดมทุน ให้กับองค์กรการกุศล และไฮไลต์ของวันนี้ยังเป็นการสวมใส่ “เสื้อสเวตเตอร์ที่น่าเกลียดที่สุด” ยิ่งดิไซน์ตลก ยิ่งโดดเด่นนั่นเอง
ที่น่าสนใจคือ ในปี 2011 ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซอย่าง Amazon ได้รายงานยอดขายของสเวตเตอร์คริสต์มาสที่น่าเกลียดว่ามีเพิ่มขึ้นถึง 600% และธุรกิจนี้ยังคงเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
แน่นอนว่า “Tipsy Elves” พระเอกของเรานี่เอง ที่เป็นผู้นำด้านเสื้อสเวตเตอร์คริสต์มาสที่น่าเกลียด ในปัจจุบัน
สำหรับ Tipsy Elves เปิดตัวครั้งแรกในปี 2011 มีผู้ก่อตั้งคือ คุณ Nicklaus Morton, คุณ Evan Mendelsohn, คุณ Andy Mullin และคุณ Rich Hampton
เริ่มต้นธุรกิจด้วยการนำ “เสื้อสเวตเตอร์คริสต์มาสที่น่าเกลียด” จำหน่ายทางออนไลน์ เป็นคอลเลกชันแรก
โดยแบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “Nice” เสื้อสเวตเตอร์ที่มีการออกแบบลักษณะตลกขบขัน เหมาะสำหรับสมาชิกในครอบครัว และ “Naughty” ออกแบบในลักษณะหยาบคาย แต่ยังคงความตลกขบขัน
อย่างไรก็ตาม “Naughty” คือแนวทางที่แบรนด์เชี่ยวชาญ แถมยังขายดีที่สุดอีกด้วย
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ จากเสื้อสเวตเตอร์ลายดังของแบรนด์ เช่น
ลาย “Happy Birthday Jesus” ที่มีพระเยซูสวมหมวกกรวยกระดาษ และสวมเสื้อที่เขียนว่า Birthday Boy
หรือลาย “Yellow Snow” ซานตาคลอสกำลังปัสสาวะตามทางเป็นคำว่า Merry Christmas ท่ามกลางหิมะ
ที่น่าสนใจคือ ในปี 2011เพียงปีแรกของการดำเนินธุรกิจ แบรนด์สามารถสร้างยอดขายได้ 13 ล้านบาท และเกือบ 35 ล้านบาทในปีต่อมา
แต่แล้วจุดเปลี่ยนสำคัญของ Tipsy Elves ก็เกิดขึ้นในปี 2013
เมื่อ Tipsy Elves ได้ไปปรากฏตัวใน Shark Tank รายการโทรทัศน์จากสหรัฐอเมริกาที่จะให้ผู้ประกอบการนำเสนอแผนธุรกิจ เพื่อโน้มน้าวกรรมการ ให้มาร่วมลงทุนในธุรกิจของพวกเขา
ซึ่งมันก็ดันไปเตะตาคุณ Robert Herjavec หนึ่งในนักลงทุนและกรรมการรายการ Shark Tank จนตัดสินใจร่วมลงทุนเงินกว่า 3.5 ล้านบาท เพื่อแลกกับหุ้น 10% ของบริษัท
และนับตั้งแต่นั้นมาธุรกิจก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีรายงานว่าในปี 2014 รายได้ของพวกเขาพุ่งขึ้นสูงเกือบ 420 ล้านบาท
โดยที่ผู้รับชมในวันนั้นก็คงไม่คาดคิดว่า เมื่อเวลาผ่านไป Tipsy Elves จะกลายมาเป็นการลงทุน ที่สร้างกำไรมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ของคุณ Robert Herjavec ที่ได้ทำในรายการ Shark Tank
ขณะเดียวกัน จากเสื้อสเวตเตอร์ผู้ชายที่วางตลาดในรูปแบบ Unisex ก็ได้ขยายไปสู่หมวดเสื้อผ้ามากมาย เช่น เสื้อสเวตเตอร์สำหรับบุรุษ ผู้หญิง และเด็กโดยเฉพาะ ไปจนถึง เสื้อฮาวาย, กางเกงขาสั้น, เลกกิง, จัมป์สูท, ชุดนอน, หมวกบีนนี่, ถุงเท้า และชุดสกี
ทั้งนี้ Tipsy Elves ไม่เพียงแค่ให้ความสำคัญกับวันหยุดคริสต์มาสเท่านั้น ด้วยฐานแฟน ๆ ที่เพิ่มขึ้น แบรนด์จึงได้ขยายไปถึงเทศกาลอื่น ๆ เช่น วันฮาโลวีน วันขอบคุณพระเจ้า วันเซนต์แพทริก และอีกมากมาย
เรียกได้ว่า ตอนนี้ Tipsy Elves เป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่แท้จริง ไม่ใช่แค่บริษัทเสื้อสเวตเตอร์คริสต์มาสอีกต่อไป
ปัจจุบัน Tipsy Elves ขายเสื้อสเวตเตอร์ในกว่า 200 ประเทศทั่วโลก และมียอดขายรวมตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์มา มากกว่า 11,000 ล้านบาทแล้ว
จากเรื่องราวทั้งหมด แม้ว่ารูปแบบธุรกิจของแบรนด์อาจจะดูธรรมดาทั่ว ๆ ไป
แต่สิ่งที่ทำให้ Tipsy Elves ประสบความสำเร็จคงเป็น “ความคิดนอกกรอบ” ในการออกแบบสินค้าธรรมดาที่แสนเชยให้ดูทันสมัย
และความแตกต่างนี้ก็ส่งผลให้แบรนด์โดดเด่นอยู่เสมอ..
-----------------------------------
Presented by กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป เดินหน้าขยายธุรกิจหาญ เวลเนสแอนด์ฮอสพิทอลลิตี้ (HARNN Wellness & Hospitality) ครอบคลุมทั้งเวลเนสและสปาภายในประเทศและต่างประเทศในระดับ Regional สร้างให้แบรนด์ไทยเป็นที่รู้จักและสร้างความภูมิใจในระดับสากลรวมกว่า 16 สาขาทั่วภูมิภาค
https://www.facebook.com/TANACHIRA-GROUP-174055739828807/
#TANACHIRA #HARNN #SCapebyHARNN
-----------------------------------
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.