“Girl Math” หลักการคำนวณเงิน ที่อาจเป็นข้ออ้าง สำหรับสาวนักช็อป
Business

“Girl Math” หลักการคำนวณเงิน ที่อาจเป็นข้ออ้าง สำหรับสาวนักช็อป

23 ก.พ. 2024
“Girl Math” หลักการคำนวณเงิน ที่อาจเป็นข้ออ้าง สำหรับสาวนักช็อป /โดย ลงทุนเกิร์ล
หากต้องการซื้อของที่ไม่จำเป็น หรือของแพง ๆ สักชิ้น
เชื่อว่า หลายคนจะพยายามหาเหตุผลสารพัด เพื่อมาซื้อของชิ้นนั้น
ซึ่งเรื่องนี้ คล้ายกับ “Girl Math” หลักการใช้เงินของสาว ๆ
ที่ทำให้ตัวเองรู้สึกผิดลดน้อยลง ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ในปัจจุบัน
แล้ว Girl Math คืออะไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Girl Math คือ หลักการในการใช้เงิน ที่ถูกเรียกว่า “มีเฉพาะผู้หญิงเท่านั้นที่จะเข้าใจ”
ซึ่งหลักการนี้ ไม่ได้มีสูตร หรือกฎเกณฑ์ที่ตายตัว
แต่มีคอนเซปต์หลัก ๆ คือ การสร้างชุดความคิด เพื่อหาเหตุผลให้กับการซื้อสินค้าที่ทำให้ตัวเองรู้สึกผิดน้อยลง
โดยจะเน้นไปที่การคำนวณความคุ้มค่า แม้ว่าบางคนอาจจะรู้สึกว่า มันฟังดูไม่ค่อยเข้าท่าสักเท่าไร เช่น
ถ้าต้องการซื้อสินค้าที่มีราคาสูง ให้นำราคาเต็ม มาเฉลี่ยต่อวัน ราคาของสิ่งของนั้น ๆ ก็จะสมเหตุสมผลมากขึ้น
ยกตัวอย่าง หากต้องการซื้อกระเป๋าในราคา 50,000 บาท แล้วรู้สึกว่าแพงเกินไป ให้นำราคาเต็ม มาหารจำนวนวันต่อปี เท่ากับว่า ราคาของกระเป๋า จะตกเพียงวันละ 137 บาทเท่านั้น
ถ้าเมื่อวานไม่ได้ใช้เงินเลยสักบาท วันนี้สามารถใช้เงินได้ 2 เท่า โดยไม่ต้องรู้สึกผิด เพราะเราไม่ได้หยิบเงินจากอนาคตมาใช้ซื้อสินค้าลดราคา ไม่ใช่แค่การประหยัด แต่ยังเป็นกำไร เพราะเราสามารถนำเงินส่วนต่างตรงนั้น ไปซื้อของอย่างอื่นได้อีกถ้าเจอเงินในกระเป๋า และนำเงินนั้นไปซื้อกาแฟ เท่ากับกาแฟแก้วนั้น ราคา 0 บาท เพราะมันจ่ายด้วยเงินที่ถูกลืมไปแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีตรรกะอื่น ๆ เกี่ยวกับ Girl Math อีกมากมาย ที่หลายคนอาจจะมองว่าแปลก
โดยเฉพาะในโลกของ Girl Math ที่ “การจ่ายด้วยเงินสด ถือว่าฟรี เพราะไม่ถือว่าเป็นเงินจริง ๆ” เนื่องจากตัวเลขในบัญชียังคงเท่าเดิม ไม่ได้ลดลง
ซึ่งตรรกะต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ Girl Math ถูกนำมาพูดถึงในวงกว้าง จนกลายเป็นหัวข้อที่หลายคนถกเถียงกันว่า นี่คือแนวคิดที่ดีหรือไม่
เพราะแม้ว่าเทรนด์ Girl Math จะทำให้เรารู้ถึงข้อดี ในการซื้อของนั้น ๆ หรือทำให้เรารู้สึกว่าของชิ้นนั้นคุ้มค่า หลังจากลองหาราคาเฉลี่ยต่อวัน
แต่ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ก็มองว่า เทรนด์ Girl Math เป็นเหมือนข้ออ้างเสียมากกว่า โดยบิดเบือนความจริงในการใช้จ่าย เหมือนว่ากำลังประหยัดเงิน แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่
ซึ่งเทรนด์นี้ ช่วยสร้างความพึงพอใจในระยะสั้น แต่อาจส่งผลต่อสุขภาพการเงินในระยะยาว และอาจจะก่อให้เกิดภาระหนี้สินก้อนโตในอนาคต ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม #Girlmath กลายเป็นไวรัลบน TikTok ตั้งแต่ปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบัน โดยมีทั้งสาว ๆ ที่มาแชร์การคำนวณความคุ้มค่าของสินค้า และคลิปอธิบายความหมายของ Girl Math กันมากมาย
และหลังจากที่เทรนด์ Girl Math เกิดขึ้นได้ไม่นาน กระแส “Boy Math” ก็เกิดขึ้นตามมาติด ๆ
แม้ว่าชื่อ Boy Math จะฟังดูคล้ายกับ Girl Math
แต่จริง ๆ แล้ว ความหมายของ Boy Math ค่อนข้างแตกต่างออกไป
โดย Boy Math เป็นการพูดถึงนิสัยแปลก ๆ รวมถึงล้อเลียนหลักการใช้เงินอย่างไม่คุ้มค่า ของผู้ชายบางคน เช่น
ผ้าเช็ดตัว 1 ผืน สามารถเช็ดได้ทั้งตัวซื้อของบนแอปในราคาเต็ม โดยไม่เก็บโคดลดราคาขี้เกียจเดินไปแสตมป์บัตรจอดรถ และยอมเสียค่าที่จอด
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ สรุปสั้น ๆ ได้ว่า
หากว่า เราเป็นคนที่มีการเก็บออม และมีการแบ่งสัดส่วนในการใช้เงินอย่างชัดเจน
การช็อปปิง โดยใช้หลักการ Girl Math ก็อาจจะไม่ได้มีข้อเสียที่รุนแรงสักเท่าไร
แต่หากว่าการช็อปปิง ต้องใช้เงินมากเกินกำลังที่เรามี
จนต้องหาเหตุผลต่าง ๆ มาทำให้รู้สึกผิดน้อยลง
อาจทำให้หลักการ Girl Math นี้ กลายเป็น “Oniomania” หรือโรคเสพติดการช็อปปิง ภาวะที่ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการซื้อของตัวเองได้
แทนที่จะใช้เงินคลายเครียด
อาจกลายเป็นเครียด เพราะไม่มีเงินจะใช้แทน เลยก็ได้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.