‘วิธีบริหารคน’ จาก CEO หญิงของ Sea Thailand ที่ต้องดูแลพนักงานกว่า 4,000 ชีวิต
Business

‘วิธีบริหารคน’ จาก CEO หญิงของ Sea Thailand ที่ต้องดูแลพนักงานกว่า 4,000 ชีวิต

31 มี.ค. 2021
‘วิธีบริหารคน’ จาก CEO หญิงของ Sea Thailand ที่ต้องดูแลพนักงานกว่า 4,000 ชีวิต /โดย ลงทุนเกิร์ล 
ลองจินตนาการว่า ถ้าเราเป็นผู้หญิง แล้วมีเพื่อนร่วมชั้นชวนไปทำงานในสตาร์ตอัปที่ทำธุรกิจเกม เราจะตกปากรับคำหรือไม่ 
เรื่องนี้เกิดขึ้นกับคุณมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ หรือคุณนก 
CEO คนปัจจุบันของ Sea ประเทศไทย 
ซึ่งถ้าพูดถึง Sea เราอาจจะไม่คุ้นเคยกับชื่อนี้มากนัก
แต่จริง ๆ แล้ว ธุรกิจของ Sea กลับใกล้ตัวเรากว่าที่คิด 
ไม่ว่าจะเป็น Garena ผู้ให้บริการเกมออนไลน์ อย่าง ROV
SeaMoney ผู้ให้บริการด้านการเงินออนไลน์ อย่าง AirPay 
และ Shopee แอปพลิเคชันชอปปิงออนไลน์ อันดับต้น ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ธุรกิจเหล่านี้ ล้วนแต่อยู่ภายใต้ร่มของ Sea Limited ทั้งนั้น 
จุดเริ่มต้นของ Sea เกิดขึ้นจากคุณ Forrest Li
โดยเขาได้ก่อตั้งสตาร์ตอัปซึ่งทำธุรกิจเกม ชื่อ Garena ขึ้นมาในปี 2009
ตอนนั้นคุณ Forrest Li ก็ได้ชักชวนคุณนก 
ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ให้มาทำงานด้วยกัน
แต่คุณนกยังอยากอยู่ในสายงานที่ปรึกษาธุรกิจอยู่ จึงยังไม่ได้ตกปากรับคำคุณ Forrest Li 
จนกระทั่งในปี 2012 Garena ก็ได้ขยายธุรกิจมายังประเทศไทย คุณ Forrest Li จึงได้ชักชวนคุณนกอีกครั้ง 
อย่างไรก็ตามในเวลานั้น Garena ก็เริ่มมองเห็นแนวโน้มว่าในอนาคต 
คนจะหันมาใช้บริการต่าง ๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือกันมากขึ้น 
จึงต้องการจะปรับจากการให้บริการผ่านคอมพิวเตอร์พีซีสู่โทรศัพท์มือถือ
และไม่ได้จะหยุดอยู่ที่ธุรกิจเกม เพียงอย่างเดียว 
สุดท้ายคุณนกจึงได้ ตัดสินใจเข้ามาร่วมงานกับ Garena อย่างเต็มตัว ในปี 2014
โดยในตอนที่คุณนกเข้ามาเริ่มงาน ก็ตรงกับช่วงที่บริษัท
กำลังจะเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ซึ่งก็คือ E-wallet ที่ชื่อ AirPay 
คุณนกเล่าให้เราฟังว่า AirPay เป็นการต่อยอดมาจากธุรกิจเกม 
ที่รายได้ส่วนหนึ่งมาจากการเติมเงิน 
ดังนั้น Garena จึงออกบริการที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้เล่น ไม่ต้องออกจากบ้านเพื่อไปเติมเงิน แต่สามารถทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ได้เลย
โดยชื่อของ AirPay ก็มาจากการแปลตรงตัว หรือก็คือ การเติมเงินในอากาศนั่นเอง
ซึ่งในปัจจุบัน AirPay ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ShopeePay แล้ว และอยู่ภายใต้กลุ่มที่ชื่อ SeaMoney 
เพื่อแสดงถึงภาพของการบริการทางการเงิน ที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะการเป็นระบบหลังบ้านให้กับ Shopee 
แอปพลิเคชันชอปปิงออนไลน์ที่เกิดขึ้นมาในปี 2015
อ่านมาถึงตรงนี้คงเห็นแล้วว่า Garena ไม่ได้เป็นเพียงแค่บริษัทเกมอีกต่อไป
คุณ Forrest Li จึงได้เปลี่ยนชื่อเครือบริษัทเป็น Sea Limited เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน
และจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ NYSE ของสหรัฐอเมริกาในปี 2018
การทำธุรกิจของ Sea ค่อนข้างน่าสนใจเลยทีเดียว
เพราะจริง ๆ แล้วตอนที่เริ่มสร้าง AirPay และ Shopee 
Sea ก็ไม่ใช่คนแรกที่เริ่มบุกตลาดนี้ 
แล้วทำอย่างไรให้แบรนด์น้องใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก 
กลายเป็นแบรนด์อันดับต้น ๆ ที่ตอนนี้ไม่ว่าใครก็นึกถึง ?
คุณนกเล่าว่า มีกลยุทธ์หลัก ๆ อยู่ 2 อย่าง คือ 
1. หาความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบรับ
2. สร้าง User Experience ให้คนใช้รู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุด
ซึ่งแม้ว่าจะได้ผลิตภัณฑ์ที่เข้าไปอยู่ในใจผู้ใช้งานได้แล้ว 
ก็ยังต้องคอยติดตามเทรนด์พฤติกรรมหรือความต้องการ ที่เปลี่ยนไปของผู้ใช้งาน
คิดให้เร็ว และลงมือทำให้เร็ว ที่สำคัญคือ หลังจากทดลองอะไรไปแล้ว 
ต้องติดตามด้วยว่าผลตอบรับจากผู้ใช้งานจะเป็นอย่างไร 
เรื่องนี้ถ้าบอกว่าเป็นวัฒนธรรมทั่วไปของสตาร์ตอัป ก็อาจไม่ใช่เรื่องที่แปลกนัก
แต่ปัจจุบัน Sea Limited มีพนักงานกว่า 30,000 คน 
หรือถ้านับเฉพาะในประเทศไทยก็มีพนักงานมากถึง 4,000 คน 
ถือเป็นองค์กรที่เติบโตรวดเร็วมาก และแม้จะมีขนาดใหญ่ 
ก็ยังสามารถคงความเป็นสตาร์ตอัปอยู่ ซึ่งก็คือ การคิดเร็ว ทำเร็ว และปรับตัวเร็ว 
คุณนกเล่าว่า เธอให้ความสำคัญกับเรื่องคนเป็นอย่างมาก 
โดยมองว่า เป็นปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กรให้ไปข้างหน้า 
เพราะถึงแม้เราจะมีแผนงานที่ดี หรือเทคโนโลยีล้ำยุค 
แต่ถ้าไม่มีคนที่เหมาะสม สิ่งเหล่านั้นก็จะเป็นเพียงอุปกรณ์ที่วางอยู่เฉย ๆ
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายมันอยู่ที่ เมื่อทีมใหญ่ขึ้น การที่จะสื่อสารให้ทุกคนเดินไปในทิศทางเดียวกัน ก็เป็นเรื่องที่ยากขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้นสิ่งที่คุณนกทำจึงเป็นการ “ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน”
เพราะอย่างน้อยแม้ว่าจะมีบางคนที่เดินอ้อมไปบ้าง แต่สุดท้ายแล้วก็จะไปเจอกันที่ปลายทางอยู่ดี
นอกจากนั้น วิธีการบริหารงานของคุณนกก็คือ การให้อิสระและความเป็นเจ้าของ
เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าหัวใจสำคัญของการอยู่รอดในยุคนี้ คือ “ความเร็ว” 
ดังนั้นถ้างานแต่ละอย่างจะต้องรายงานผล แล้วรอคำสั่งจากเบื้องบน
ธุรกิจก็จะไม่มีทางปรับตัวได้ทัน จึงต้องมีการให้อำนาจพนักงานให้การตัดสินใจ 
แต่จะทำแบบนี้ได้ ก็ต้องมั่นใจว่าพนักงานจะมีทักษะที่เพียงพอ
ดังนั้นการอัปสกิล รีสกิล จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน 
นอกจาก CEO ที่ต้องดูแลพนักงานกว่า 4,000 ชีวิตแล้ว 
อีกหนึ่งบทบาทของคุณนก ก็คือ การเป็นคุณแม่ของลูกชาย 2 คน 
แล้วคุณนกมีวิธีบริหารจัดการเวลาอย่างไร ?
เธอเล่าว่ากับครอบครัว คุณนกก็ใช้หลักการเดียวกับการบริหารองค์กร
ซึ่งก็คือเรื่อง “ทีม” เพราะการจะทำให้สำเร็จ เราไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว 
อย่างที่องค์กร คุณนกมีทีม ที่คอยช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่การงาน 
ดังนั้นที่บ้านของคุณนก ก็จะมีทีม ที่คอยช่วยดูแลลูก ๆ เวลาที่เธอไม่ว่าง 
นอกจากนั้น การจัดสรรเวลา ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก 
คุณนกจึงมีการล็อกเวลาชัดเจนว่าช่วงเวลาไหนที่ต้องให้กับงาน และช่วงเวลาไหนสำหรับครอบครัว
ซึ่งถ้างานที่แทรกเข้ามาไม่เร่งด่วนจริงๆ 
คุณนกก็จะไม่ยอมแลกเวลาที่ได้อยู่กับครอบครัวอย่างแน่นอน 
เห็นอย่างนี้แล้วถ้าใครกำลังติดปัญหาอะไร 
ลองหา “ทีม” ที่จะมาช่วยแบ่งเบาภาระของเราเหมือนอย่างคุณนกดูนะคะ
แล้วเราอาจจะพบว่า แม้การเดินคนเดียวจะไปได้เร็ว 
แต่ถ้าไปด้วยกันมันอาจจะไปได้ไกลกว่าเดิม
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.