ทำไม บางคนถึงชอบดูหนังที่เคยดูแล้วซ้ำ ๆ ทั้งที่แค่เริ่มต้น ก็รู้ตอนจบแล้ว
Lifestyle

ทำไม บางคนถึงชอบดูหนังที่เคยดูแล้วซ้ำ ๆ ทั้งที่แค่เริ่มต้น ก็รู้ตอนจบแล้ว

17 ก.ค. 2021
ทำไม บางคนถึงชอบดูหนังที่เคยดูแล้วซ้ำ ๆ ทั้งที่แค่เริ่มต้น ก็รู้ตอนจบแล้ว /โดย ลงทุนเกิร์ล
เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมต่อให้มีกองทัพหนังและซีรีส์ให้เลือกฟินตั้งมากมาย แต่บางคนถึงยังไม่ยอม Move On จากหนังหรือซีรีส์เรื่องโปรด ทั้งที่เคยดูจบไปแล้ว แต่ถ้ามีโอกาสเมื่อไร ก็ยังอยากกลับไปดูซ้ำ ๆ
ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อน ยุคที่ยังไม่มีสตรีมมิงให้เลือกเสพความบันเทิงได้ตามใจ จนเวลานอนแทบไม่พอ การจะดูหนังเรื่องโปรดซ้ำ ก็มีไม่กี่ทางเลือก ถ้าไม่ซื้อตั๋วเข้าไปดูในโรงภาพยนตร์อีกรอบ ก็อาจต้องอดใจรอ ซื้อแผ่นมาเก็บไว้ หรือรอสถานีโทรทัศน์หรือช่องเคเบิลนำกลับมาฉาย
แต่พอมีแพลตฟอร์มสตรีมมิง เรื่องที่เคยยาก หรือเป็นอุปสรรคก็ง่ายแค่ปลายนิ้ว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่หากมีสตรีมมิงเจ้าไหน จะนำหนังหรือซีรีส์ในความทรงจำ มาเสิร์ฟถึงหน้าจอ ก็ทำให้บางคนอดใจไว้ไม่อยู่ ต้องขอกดเข้าไปดู หรือเก็บไว้ในทำเนียบ Watchlist
แล้วทำไมคนเราถึงมีความสุขกับการเสพความบันเทิงรสชาติที่คุ้นเคย ?
โดยที่ไม่รู้สึกเบื่อ ทั้งที่เดาทางหนังได้ทั้งเรื่อง แถมบางครั้งยังรู้สึกสนุกกว่าตอนที่ดูครั้งแรกด้วยซ้ำ
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
แน่นอนว่า เหตุผลที่ทำให้คอหนังหรือคอซีรีส์บางคนยอมปันใจ สละเวลาที่จะดูหนังหรือซีรีส์เรื่องใหม่ ๆ พาตัวเองมาย้อนวัยหวาน ดื่มด่ำกับหนังหรือการ์ตูนที่อาจจะเคยดูสมัยเด็ก หรือเคยดูเมื่อหลายปีก่อน
ก็เพราะหนังหรือการ์ตูนเรื่องนั้น เป็นเรื่องโปรดที่เคยประทับใจ แถมยังลืมไม่ลง หรือบางครั้งอาจจะมีเหตุการณ์บางอย่างที่กระตุ้นให้คิดถึงพล็อตของหนังเรื่องนั้น หรือหนังเรื่องนั้นอาจจะกำลังมีภาคต่อ เลยจูงใจให้อยากกลับไปดูอีกครั้ง
ที่สำคัญ ต่อให้เปิดมาก็พอจะจำเค้าโครงเรื่องได้ว่า หนังเริ่มต้นตรงไหน จบอย่างไร มีจุดไคลแมกซ์ตรงไหน จนหลายคนอาจจะมองว่า แล้วความสนุกหรืออรรถรสในการชมจะอยู่ตรงไหน
แต่เชื่อเถอะว่า ลองได้ตกหลุมรักหนังหรือการ์ตูนเรื่องไหนแล้ว ต่อให้เนื้อเรื่องจะเดาทางได้ จนแทบไม่เหลือความรู้สึกตื่นเต้นอีกแล้ว
เพราะอย่าลืมว่าบางครั้ง ความสนุกและความบันเทิงก็มาในรูปของความสุข ที่ได้ชื่มชมตัวละครที่รักหรือพล็อตที่ชอบ
นอกจากความชอบ อีกเหตุผลที่ทำให้บางคนมีความสุขกับการใช้หนัง​หรือการ์ตูนที่เคยดูตอนเด็ก ๆ ก็เพราะกิจกรรมนี้ เหมือนเป็นการพาตัวเองนั่งไทม์แมชชีน ย้อนเวลาไปดื่มด่ำกับความรู้สึกหรือช่วงเวลาดี ๆ ในอดีต ซึ่งแม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ก็พาให้อบอุ่นหัวใจได้
โดยภาวะที่กล่าวมานี้​เรียกว่า “Nostalgia”
หรือ ภาวะรู้สึกโหยหา อาลัยอาวรณ์อดีตที่นึกถึงแล้วชวนให้มีความสุข สบายใจ
และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ Nostalgia ถูกหยิบมาเป็นธีมในการทำแคมเปนการตลาด
เช่น คอนเสิร์ต “แกรมมี่ แฮปปี้ เฟสติวัล ตอน ปาร์ตี้ รียูเนี่ยน” ที่ยกทัพศิลปินยุค 90 จากจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่มาสร้างความบันเทิง
นอกจากนี้ยังรวมไปจนถึง การออกแบบแหล่งท่องเที่ยวในธีมย้อนยุค อย่างตลาดน้ำ หรือเมืองโบราณ
เช่น เมืองมัลลิกา ร.ศ. ๑๒๔ ที่จังหวัดกาญจนบุรี ออกแบบเป็นเมืองย้อนยุควิถี​ชีวิตชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ 5
อีกเหตุผลสำคัญ ที่ดูเหมือนว่า น่าจะตอบโจทย์กับสถานการณ์ตอนนี้ได้เป็นอย่างดี คือในช่วงเวลาที่สถานการณ์ไม่เป็นใจแบบนี้
คนส่วนใหญ่มักเลือกใช้ความบันเทิง เพื่อปลดล็อกตัวเองจากสถานการณ์ที่ชวนเครียด
แต่แทนที่จะเลือกชมหนังหรือซีรีส์เรื่องใหม่ ๆ ที่เพิ่งออนแอร์
ซึ่งแม้จะได้อรรถรสในเรื่องความสดใหม่ ไม่ต่างจากการพาตัวเองออกจาก Comfort Zone ตื่นเต้นกับเรื่องราวที่ไม่อาจคาดเดาว่าตอนต้น ตอนจบ และจุดไคลแมกซ์จะเป็นอย่างไร
บางคนกลับเลือกจะยูเทิร์นมาดูหนัง ซีรีส์ หรือการ์ตูน ที่คุ้นเคย แม้จะจดจำรายละเอียดไม่ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยการดูที่รู้ตอนต้นกับตอนจบ ก็ทำให้ดูได้อย่างผ่อนคลาย ไม่จำเป็นต้องเปิดรับข้อมูลใหม่ ๆ เข้ามาให้หนักสมอง รู้ว่าจุดไหนคือจุดพีก จุดฮา จุดเศร้า
ก็ช่วยเติมเต็มความรู้สึกและจิตใจในวันที่สิ่งรอบตัวอาจยากจะควบคุม แต่อย่างน้อยความบันเทิงที่อยู่ตรงหน้าก็เป็นสิ่งที่เราควบคุมได้
ลองหลับตาแล้วนึกภาพตาม การที่เลือกหยิบหนัง ซีรีส์ หรือการ์ตูนเรื่องโปรดมาดู อย่างน้อยก็การันตีได้ว่า ช่วงเวลาจากนี้ เราจะไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการผิดหวังว่า เสียเวลาดูไปแล้ว หนังกลับไม่ได้สนุกแบบที่คิด หรือตอนจบไม่ถูกใจ นักแสดงเข้าไม่ถึงบทบาท เป็นต้น
หรือเราอาจจะได้เก็บรายละเอียดของเนื้อเรื่องที่พลาดไปจากการดูครั้งก่อน ๆ
แถมต่อให้ไม่ตั้งใจดู ก็เข้าใจเนื้อเรื่อง และไม่พลาดตอนสำคัญ เพราะรู้อยู่แล้วว่าตรงไหนคือจุดสำคัญ จุดพีกของเรื่อง
อีกมุมที่น่าสนใจ คือ บางครั้งเมื่อคนเราอายุมากขึ้น มีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น มุมมองที่มีต่อโลกก็เปลี่ยนไป
ดังนั้น การที่เรากลับไปดูหนัง ฟินกับซีรีส์เรื่องเดิม ๆ ก็เหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้เก็บเกี่ยวรายละเอียดระหว่างทาง หรือดื่มด่ำกับสิ่งที่เคยมองข้ามไปมากขึ้น
เหมือนอย่างที่ American University และ University of Arizona ได้เคยทำการศึกษาด้วยการสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า ทำไมบางคนถึงได้ดูหนัง อ่านหนังสือ หรือไปในที่ท่องเที่ยวเดิม
ผลที่ได้ คือ การที่เราดูหนังที่รู้ว่า ตรงไหนฮา ​ตรงไหนซึ้ง
ทำให้สมองของเราไม่ต้องคาดเดา ไม่ต้องลุ้นกับสิ่งที่จะเจอตรงหน้า
ขณะเดียวกัน การพาตัวเองกลับไปรับรู้เรื่องเดิม ๆ ด้วยความรู้สึกที่ไม่เหมือนเดิม ยังเหมือนเป็นการได้สำรวจความคิดตัวเองอีกครั้ง ว่าเรามีมุมมองต่อโลกและการใช้ชีวิตอย่างไร
มาถึงตรงนี้ คงพอเห็นภาพแล้วว่า ทำไมบางครั้งคนเราก็ยังเลือกที่จะดูหนังเรื่องเดิม ๆ
เพราะต่อให้ใครจะมองว่า การดูหนังหรือซีรีส์เรื่องเดิม ๆ ไม่คุ้มค่ากับเวลาที่ต้องเสียไป แทนที่จะเอาเวลาไปท่องอาณาจักรความบันเทิงที่กว้างใหญ่ มีกองทัพหนังหรือซีรีส์ มากมายพร้อมเสิร์ฟให้ดูกันจนตาแฉะ
แต่สำหรับบางคน แค่ได้อิ่มเอมกับรสชาติความบันเทิงที่คุ้นเคย ก็มีความสุขแล้ว
ไม่ต่างจากการที่เราสั่งเมนู “ข้าวผัดกะเพรา” ทุกครั้งที่แวะไปร้านอาหารตามสั่งเจ้าประจำ ฟังดูน่าเบื่อ แต่ก็ฟินทุกคำที่ตักเข้าปาก
แล้วเพื่อน ๆ ล่ะ อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว มีชื่อหนังหรือซีรีส์เรื่องไหนที่เคยดูแล้ว แต่คิดถึงจนอยากกลับไปดูซ้ำ ผุดขึ้นในใจบ้างหรือยัง ?
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.