เส้นทาง 133 ปี ของ Lorenz Snack-World เจ้าของขนมซองแดง Crunchips
Business

เส้นทาง 133 ปี ของ Lorenz Snack-World เจ้าของขนมซองแดง Crunchips

28 มี.ค. 2022
เส้นทาง 133 ปี ของ Lorenz Snack-World เจ้าของขนมซองแดง Crunchips /โดย ลงทุนเกิร์ล
ถ้าพูดถึงแบรนด์มันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ ชื่อแรก ๆ ที่เรานึกถึง ก็น่าจะเป็น “เลย์” จากบริษัท PepsiCo
แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในประเทศเยอรมนี เลย์ กลับครองส่วนแบ่งตลาดมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบเพียง 3% เท่านั้น
ข้อมูลนี้เป็นส่วนแบ่งตลาดในปี 2016
โดยเจ้าตลาดอันดับ 1 ผู้ครองสัดส่วนตลาด 43% ก็คือ Intersnack เจ้าของแบรนด์ เช่น Ultje, funny-frisch และ Chio
อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจของเรื่องนี้อยู่ที่อันดับ 2 ซึ่งมีส่วนแบ่ง 21%
และบริษัทนั้นก็คือ Lorenz Snack-World บริษัทขนมขบเคี้ยว เจ้าของขนมซองแดงที่เราคุ้นตาอย่าง Crunchips
ที่สำคัญอีกอย่างคือ ปัจจุบันบริษัทนี้ มีอายุมากถึง 133 ปีแล้ว
จุดเริ่มต้นของ Lorenz Snack-World เป็นมาอย่างไร ?
และเส้นทางธุรกิจของ Lorenz Snack-World น่าสนใจขนาดไหน ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ในปี 1889 ที่เมืองฮันโนเฟอร์ ประเทศเยอรมนี คุณ Hermann Bahlsen ได้ก่อตั้งบริษัท Hannoversche Cakesfabrik ด้วยพนักงานเพียง 10 คนเท่านั้น
2 ปีต่อมา บริษัทก็ได้เปิดตัวบิสกิตเนย “Leibniz Cakes” ออกจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์แรก
จนกระทั่งปี 1893 บิสกิตเนยที่ว่านี้ ก็กลายเป็นที่ต้องการอย่างมากในเยอรมนี จนบริษัทต้องจ้างพนักงานมากขึ้น จาก 10 คน กลายเป็น 100 คน
และในปีเดียวกัน คุณ Hermann Bahlsen ยังได้รับรางวัลเหรียญทองที่งาน World Exhibition ในชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา จนทำให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ต่อมา บริษัทก็ได้เริ่มขยายสายผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายมากขึ้น โดยหันมาผลิตขนมขบเคี้ยวที่มีรสชาติเค็มอย่าง อเมริกันแครกเกอร์ ต่างจากเดิมที่มีเพียงขนมหวานเท่านั้น
นอกจากนี้ บริษัทยังสร้างชื่อเสียงในฐานะ บริษัทที่ใช้เทคนิคการผลิตที่ทันสมัย ด้วยการเป็นเจ้าแรกในยุโรปที่ผลิตขนมด้วยเครื่องจักรระบบสายพาน
หลังจากนั้น คุณ Hermann Bahlsen ก็ได้เปลี่ยนชื่อผลิตภัณฑ์จาก Leibniz Cakes กลายเป็น “Leibniz Keks”
โดยเป็นการสร้างคำศัพท์ภาษาเยอรมันขึ้นมาใหม่ว่า “Keks” ที่มีความหมายว่า “บิสกิตหรือคุกกี้แห้ง” ซึ่งก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง จนได้เข้าไปอยู่ในพจนานุกรมภาษาเยอรมัน เลยทีเดียว
อีกทั้ง เปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Hannoversche Cakesfabrik ให้เป็น H. Bahlsens Keksfabrik
และภายใต้ชื่อใหม่ บริษัทก็ได้กระจายสินค้าออกไปทั่วเยอรมนี โดยมีโกดังสินค้าใน 26 เมืองทั่วประเทศ ส่งออกไปจำหน่ายอีกกว่า 31 ประเทศทั่วโลก รวมถึงจ้างพนักงานมากถึง 1,700 คน
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่นาน บริษัทก็ไม่วายต้องเผชิญอุปสรรคครั้งใหญ่
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้น และได้ขัดขวางเส้นทางการเติบโตของบริษัท เนื่องจากขนมไม่ใช่สินค้าที่กองทัพทหารเยอรมนีต้องการ
อีกทั้งผลกระทบจากสงคราม ทำให้ช่วงเวลานั้นบริษัทเริ่มขาดแคลนวัตถุดิบ, ผู้บริโภคในประเทศประหยัดค่าใช้จ่าย และบริษัทยังถูกตัดออกจากตลาดส่งออกสินค้า อีกด้วย
แล้วเรื่องราวก็ย่ำแย่ขึ้นไปอีก เมื่อคุณ Hermann Bahlsen เสาหลักของบริษัทมาเสียชีวิตลง ในปี 1918
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ทายาทรุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นลูก ๆ ของคุณ Hermann Bahlsen ได้แก่ คุณ Hans, คุณ Werner และคุณ Klaus ต้องเข้ามารับช่วงต่อในบริษัททันที
โดยผู้บริหารรุ่นใหม่ทั้ง 3 คน ต้องกอบกู้บริษัทในช่วงเวลาหลังสงคราม มิหนำซ้ำยังเป็นช่วงที่ประเทศเยอรมนีเกิดภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม 3 พี่น้องก็ฟื้นคืนบริษัทขึ้นมาได้สำเร็จอีกครั้ง ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตให้ทันสมัย
และแทนที่เครื่องจักรเก่าของบริษัท ด้วยเครื่องจักรใหม่ที่ทันสมัย
ต่อมาในปี 1935 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ขนมขบเคี้ยวรสเค็มกำลังเป็นที่นิยม บริษัทจึงได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาดอย่าง ขนมปังอบกรอบชนิดแท่ง “Salzletten” อีกหนึ่งสินค้ายอดนิยม มาจนถึงปัจจุบัน
แต่แล้ว.. ตระกูล Bahlsen ก็ต้องเจอกับศึกหนักอีกครั้ง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้น
ขณะนั้น พนักงานจำนวนมากของบริษัทถูกเกณฑ์เข้ากองทัพทหาร ส่งผลให้บริษัทต้องหยุดกิจกรรมการวิจัยและพัฒนาทั้งหมด และลดกลุ่มผลิตภัณฑ์เหลือเพียง 11 รายการ
อีกทั้งโรงงานและโกดังสินค้าก็เสียหายอย่างมาก จากผลกระทบของสงคราม
ซึ่งก็เป็นอีกครั้งที่พวกเขาพยายามพลิกฟื้นบริษัทด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัย จนทำให้บริษัทมีเครื่องจักรผลิตมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ ที่ได้มาตรฐานและทันสมัยที่สุด
โดยในช่วงเวลานั้น ความต้องการของมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีทหารชาวอเมริกันจำนวนมาก ที่ประจำการอยู่ในเยอรมนี
และบริษัทก็กลายเป็นผู้ผลิตมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบเจ้าแรก ๆ ในประเทศ แถมยังเป็นผู้ส่งสินค้าให้กับกองทัพสหรัฐฯ ด้วย
ซึ่งแม้จะพ้นช่วงสงครามไปแล้ว แต่มันฝรั่งแผ่นทอดกรอบก็ยังได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ ในยุโรป
จนบริษัทต้องเปิดโรงงานเพิ่ม เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาด
รวมถึง เข้าซื้อควบรวมโรงงานผลิตขนมต่าง ๆ ในประเทศแถบยุโรป
เรื่องราวของ H. Bahlsens Keksfabrik ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ทั้งการขยายกำลังการผลิต และประเภทของสินค้า
จนกระทั่งในปี 1992 บริษัทได้เปิดตัวสินค้าใหม่เป็น มันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ “Crunchips” และเจ้ามันฝรั่งแผ่นทอดกรอบซองสีแดงนี้เอง ที่กลายเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่สร้างภาพจำให้กับบริษัท
อีกทั้งได้เปลี่ยนชื่อบริษัทอีกครั้งเป็น Bahlsen Picanterie พร้อมทั้งปรับโครงสร้างการผลิต แยกออกเป็น 2 ส่วน คือ “ขนมหวาน” และ “ขนมขบเคี้ยว”
จนมาถึงปี 1999 บริษัทได้นำสินค้าขนมขบเคี้ยวทั้งหมดออกจากบริษัทแม่ และแยกออกมาจดทะเบียนเป็น บริษัท Lorenz Bahlsen Snack-Group พร้อมตั้งสำนักงานใหญ่ที่เมืองน็อย-อีเซินบวร์ค ประเทศเยอรมนี
คำถามที่ตามมาคือ แล้วหลังจากแยกออกมาจดทะเบียนเป็นอีกบริษัท เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ?
เริ่มตั้งแต่ ปรับเปลี่ยนโลโกใหม่ และวางแผนการตลาดในพื้นที่ใหม่ ๆ รวมถึงปรับเปลี่ยนชื่อสินค้ายอดนิยมอย่าง ขนมปังอบกรอบชนิดแท่ง Salzletten ให้เป็น “Saltletts”
ซึ่งในเวลาต่อมา บริษัทก็ได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น Lorenz Snack-World อย่างในทุกวันนี้
ปัจจุบัน บริษัท Lorenz Snack-World เป็นหนึ่งในบริษัทผู้นำ ในตลาดขนมขบเคี้ยวของยุโรป ที่กระจายสินค้าไปแล้วกว่า 80 ประเทศทั่วโลก รวมถึงมีพนักงานประมาณ 2,500 คน
มีแบรนด์ในเครือ เช่น Crunchips, Naturals, Curly, Saltletts, Nic Nac's
ที่น่าสนใจคือ แม้ว่าชื่อใหม่ของบริษัทอย่าง Lorenz Snack-World จะได้ตัดคำว่า Bahlsen ออก
แต่การบริหารบริษัทก็ยังเป็นการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนทุกวันนี้คือทายาทรุ่นที่ 4 จากตระกูล Bahlsen แล้ว..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.