Coachella จากติดลบ สู่ เทศกาลดนตรีระดับโลก ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจนับหมื่นล้าน
Business

Coachella จากติดลบ สู่ เทศกาลดนตรีระดับโลก ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจนับหมื่นล้าน

24 เม.ย. 2022
Coachella จากติดลบ สู่ เทศกาลดนตรีระดับโลก ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจนับหมื่นล้าน /โดย ลงทุนเกิร์ล
Coachella เทศกาลดนตรีระดับโลกที่หลาย ๆ คนต่างเฝ้ารอ ที่จะแลนดิงไปดิ้นกระจาย เพราะศิลปินแต่ละคนที่ขนมาในแต่ละปี ก็ทรงอิทธิพลทั้งนั้น
ไม่ว่าจะเป็น Beyoucé, Ariana Grande หรือ Blackpink ก็เคยเหยียบเวทีนี้มาแล้ว
ซึ่งการจะเห็นศิลปินดัง ๆ มารวมตัวในเวทีเดียวกัน ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ดังนั้น หากเรามองตรงนี้ คงคิดว่า Coachella ประสบความสำเร็จอย่างมาก
แต่รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้ว จุดเริ่มต้นของเทศกาลนี้ กลับไม่สวยงามเท่าไรนัก
แล้วอะไรที่ทำให้ Coachella พลิกกลับมาประสบความสำเร็จ ? จนถึงขั้นเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญในพื้นที่เลยก็ว่าได้ ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Coachella มีชื่อเต็ม ๆ ว่า “Coachella Valley Music and Arts Festival” งานเทศกาลดนตรีระดับโลก ทางฝั่งสหรัฐอเมริกา ที่รวบรวมศิลปินชื่อดัง และกำลังเป็นกระแสในขณะนั้น
อย่างปีนี้ก็มีเฮดไลน์น่าจับตามองไม่แพ้ปีก่อน ๆ เช่น Harry Styles, Billie Eilish, Swedish House Mafia และ The Weeknd
เนื่องจากหลังจากห่างหายไปนานจากวิกฤติโรคระบาด ทำให้ Coachella ต้องงดจัดงานถึง 2 ปีเต็ม
ในปีนี้ Coachella จึงกลับมาอีกครั้ง พร้อมกับเวลาจัดงาน 6 วันเต็ม นั่นก็คือวันที่ 15-17 และวันที่ 22-24 เมษายนนี้
โดยทุก ๆ ปีงานจะจัดที่ “Empire Polo Club” ในเมืองอินดิโอ รัฐแคลิฟอร์เนีย และมีผู้ร่วมงานหลายแสนคน
อย่างตัวเลขล่าสุดในปี 2022 คือ 750,000 คน โดยราคาบัตรเริ่มต้นที่ 15,000 บาท สำหรับ 3 วัน
ซึ่งถึงแม้ราคาบัตรจะสูงขนาดนี้ แต่บัตรก็สามารถขายหมดตั้งแต่ 2 ชั่วโมงแรก จึงเรียกได้ว่าเป็นเทศกาลดนตรีที่ประสบความสำเร็จงานหนึ่งเลยทีเดียว
แต่รู้หรือไม่ เทศกาลดนตรีที่มีผู้ชมหลักแสนคนนี้ กลับเคยขาดทุนอย่างสาหัส
ย้อนกลับไปเมื่อ 23 ปีก่อน งาน Coachella ถูกริเริ่มโดยคุณ Paul Tollett และคุณ Rick Van Santen ผู้ก่อตั้งบริษัทจัดคอนเสิร์ต Goldenvoice ที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงิน
เนื่องจากบริษัทไม่มีกำลังมากพอที่จะต่อสู้กับคู่แข่งรายใหญ่ในตลาด รวมทั้งศิลปินต่างก็ตบเท้าเดินออกจากบริษัท
มากไปกว่านั้น บริษัทยังถูกถอนทุน จนงานคอนเสิร์ตต้องยกเลิกไป
เมื่อเรื่องราวเป็นแบบนี้ พวกเขาทั้งคู่ จึงต้องหาหนทางในการเอาตัวรอดในเส้นทางธุรกิจ
ซึ่งคุณ Tollett ก็ได้ไอเดียในการสร้าง “เทศกาลดนตรีที่อากาศอบอุ่น” ขึ้นมา หลังจากไปเยี่ยมชมงาน Glastonbury Festival ที่สหราชอาณาจักร
เนื่องจาก Glastonbury Festival เป็นเทศกาลดนตรีกลางแจ้ง
แต่ด้วยสภาพอากาศและฝนฟ้าที่ตกแทบทุกปี จึงกลายเป็นงานที่ “เละเทะ”
รวมถึงไอเทมคู่ใจของผู้ชม ก็กลายเป็นรองเท้าบูต สำหรับเหยียบย่ำโคลน
ดังนั้นคุณ Tollett จึงนำข้อเสียของเทศกาลดนตรีนี้ มาต่อยอดในการสร้างเทศกาลดนตรีที่มี “แดดจัด” โดยเลือกช่วงฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นฤดูที่ดีที่สุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย และให้ชื่องานนี้ว่า “Coachella”
Coachella ถูกจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1999 ด้วยระยะเวลาเพียง 2 วัน ที่ Empire Polo Club
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คนกลับไม่ได้ให้การตอบรับอย่างคับคั่ง แถมยังน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้อีกด้วย
จากเดิมที่คิดไว้ว่าจะมีผู้ชมมากถึง 70,000 คน กลับมีผู้ชมงานเพียง 25,000 คนเท่านั้น
ทำให้ธุรกิจนี้ขาดทุนมหาศาล ถึงขั้นไม่มีเงินพอที่จะให้ค่าจ้างพนักงานได้ทันเวลา รวมถึงไม่มีเงินมากพอที่จะจัดงานในปีถัดมา..
อย่างไรก็ตาม แม้จะขาดทุนย่อยยับ แต่เสียงตอบรับจากคนที่มาร่วมงานกลับมีกระแสที่สวนทาง
เพราะทุก ๆ คนต่างชื่นชอบงานนี้มาก ด้วยความอลังการของงาน และไลน์อัปศิลปินที่น่าสนใจ
ทำให้งาน Coachella กลับมาอีกครั้งในปี 2001
ซึ่งแม้การจัดงานครั้งนี้ จะยังไม่ได้จำนวนเงินที่น่าพึงพอใจ แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีจากผู้ชม ว่าเทศกาลดนตรีของพวกเขามาถูกทาง
จนกระทั่งสัญญาณความสำเร็จก็ค่อย ๆ ฉายความรุ่งโรจน์ ในปี 2004 ที่ Coachella สามารถขายบัตรคอนเสิร์ตหมดเกลี้ยงได้เป็นครั้งแรก และมีผู้เข้าชมแตะหลักแสนคน
ซึ่งเสียงตอบรับในครั้งนี้ก็ทำให้ Coachella ขยายวันจัดงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็น 6 วัน ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ อย่างในปัจจุบัน
โดยปี 2012 ที่ Coachella ขยายการจัดงานไปเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ เป็นครั้งแรก ก็สามารถทำรายได้สูงถึง 1,600 ล้านบาท
และในปี 2017 Billboard ได้รายงานว่า Coachella ทำกำไรไป 3,900 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเทศกาลดนตรีประจำปีแรก ที่มีผลกำไรทะลุ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3,300 ล้านบาท ในปีเดียว
ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ทำให้ Coachella ประสบความสำเร็จ ก็คือ “การสร้างประสบการณ์” ให้ลูกค้าทั้งในโลกความเป็นจริงและบนโลกออนไลน์ โดยมีการถ่ายทอดสดทางยูทูบ ซึ่งปัจจุบันเป็นปีที่ 9 แล้ว
แต่ปีนี้พิเศษกว่าปีอื่น ๆ คือ ผู้ชมสามารถคุยแช็ตระหว่างชมได้
ซึ่งเทศกาลดนตรีก็ไม่ได้มีแต่ Goldenvoice แม่งานของ Coachella เท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์ เพราะคนในเมืองอินดิโอก็ยิ้มรับทรัพย์ด้วยเช่นกัน
โดยนอกจากงาน Coachella แล้ว Goldenvoice ก็ยังจัด Stagecoach เทศกาลดนตรีคันทรียักษ์ใหญ่ที่นี่เช่นกัน
ส่งผลให้ Coachella Valley Economic Partnership รายงานว่า ในปี 2017 ทั้ง 2 งานนี้ สร้างเม็ดเงินให้กับรัฐแคลิฟอร์เนียได้มากถึง 1.4 หมื่นล้านบาท ในบริเวณ Coachella Valley และอีก 2.4 หมื่นล้านบาท ในโซนเมือง
เรื่องนี้เป็นเพราะว่าเทศกาลดนตรีใหญ่ ๆ อย่างนี้ ดึงดูดผู้คนจำนวนมหาศาล
ทำให้ร้านอาหาร, โรงแรม, ผับบาร์ และบริการรถรับส่ง สามารถกอบโกยทรัพย์ไปได้เต็ม ๆ
เช่น โดยปกติแล้วค่าที่พักจะราคาประมาณหลักพันบาทต่อคืน แต่พอในช่วงอาทิตย์แรกที่มีการจัดงาน Coachella ก็สามารถเพิ่มราคาได้มากถึงหลักหมื่นบาทต่อคืนเลยทีเดียว ซึ่งแม้จะเป็นราคาที่แพง แต่ที่พักทุกที่ก็ห้องเต็มทุกวัน
นอกจากที่พักและอาหารการกินแล้ว บริการล้างรถก็ครึกครื้นด้วยเช่นกัน เนื่องจาก
Coachella ดึงดูดคนจากที่ต่าง ๆ ทำให้มีรถสัญจรไปมานับหมื่นคัน ที่จะต้องแวะใช้บริการเฉพาะกิจนี้
เห็นอย่างนี้แล้ว นี่ก็คงเป็นอีกหนึ่งช่องทาง ที่จะช่วยเรียกเม็ดเงินให้ชุมชนในประเทศไทย ได้ไม่น้อย
ซึ่งหลังจากที่สาวมิลลิ ศิลปินหญิงเดี่ยวชาวไทยคนแรก ได้มีโอกาสขึ้นโชว์ที่เวที Coachella แล้ว ก็คงไม่ต้องสงสัยถึงความสามารถและศักยภาพของศิลปินและบุคลากรไทยเลย
อย่างไรก็ตาม ถึงเทศกาลดนตรีจะดีแค่ไหน ดึงดูดคนได้มหาศาลเท่าไร
การสนับสนุนจากภาครัฐ ก็ยังเป็นเรื่องที่สำคัญ
เพราะหากขาดโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง ก็ยังคงไม่สามารถสร้างงานเทศกาลที่ดีได้
ก็หวังว่าสักวันหนึ่ง เราจะเห็นเทศกาลดนตรี ให้ชาวไทยได้โชว์ศักยภาพ ในสายตาคนทั่วโลก..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.