Package Free สตาร์ตอัปที่มุ่งขายสินค้า ไร้แพ็กเกจจิง จนระดมทุนได้ 400 ล้าน
Business

Package Free สตาร์ตอัปที่มุ่งขายสินค้า ไร้แพ็กเกจจิง จนระดมทุนได้ 400 ล้าน

6 มิ.ย. 2022
Package Free สตาร์ตอัปที่มุ่งขายสินค้า ไร้แพ็กเกจจิง จนระดมทุนได้ 400 ล้าน /โดย ลงทุนเกิร์ล
“แพ็กเกจจิง” ถือเป็นหนึ่งใน “เครื่องมือทางการตลาด” ที่ช่วยดึงดูดลูกค้าให้ตัดสินใจซื้อ
แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นสิ่งที่หมดประโยชน์ไวมาก หลังจากสินค้าถูกแกะออกมาใช้แล้ว
และเมื่อแพ็กเกจจิง หมดความจำเป็นแล้ว ปลายทางของพวกมันอาจไปจบลงในหลุมขยะ ทะเล หรือในท้องปลาสักตัว..
ที่สำคัญ แพ็กเกจจิง ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีการ “ใช้พลาสติกมากที่สุด” ในบรรดาอุตสาหกรรมทั้งหมด ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 30-40% ของการผลิตพลาสติกทั่วโลก และในหลาย ๆ ประเทศก็ยังไม่มีการจัดการกับขยะแพ็กเกจจิงพลาสติกที่ดี จนทำให้ขยะแพ็กเกจจิงพลาสติกส่วนใหญ่ ไม่ถูกนำไปรีไซเคิลให้เกิดประโยชน์
จากเรื่องนี้ จึงกลายเป็นที่มาของ “Package Free” สตาร์ตอัปที่มุ่งขายสินค้า “แบบไร้แพ็กเกจจิง” หรือในบางกรณีที่ยังจำเป็นต้องใช้แพ็กเกจจิง ก็จะต้องใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด
แม้ว่าโมเดลธุรกิจจะดูสวยหรู จนเหมือนเป็นแนวคิดในอุดมคติ ที่ยากจะเกิดขึ้นจริง
แต่ในวันนี้ Package Free กลับสามารถระดมทุนไปได้แล้วกว่า 400 ล้านบาท
แล้ว Package Free น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Package Free เริ่มต้นมาจากผู้ก่อตั้งอย่างคุณ Lauren Singer นักสิ่งแวดล้อม และบล็อกเกอร์ชาวอเมริกัน ได้แชร์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแบบ “Zero Waste”
ซึ่งมีทั้งการสอน DIY ผลิตภัณฑ์เอาไว้ใช้เอง อย่างเช่น ยาสีฟัน, ครีมบำรุงผิว, ลิปบาล์ม, น้ำยาล้างเครื่องสำอาง ไปจนถึงสีย้อมผ้า ซึ่งขั้นตอนและส่วนผสมจะต้องสร้างขยะน้อยที่สุด
แม้ว่าจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่สนใจบล็อกของเธอ
แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถใช้ชีวิตแบบคุณ Singer ได้
พอเรื่องเป็นแบบนี้ คุณ Singer จึงก่อตั้งแบรนด์ The Simply Co. สำหรับขาย “ผงซักฟอก” ที่บรรจุในโหลแก้ว และใช้ส่วนผสมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่องนี้เกิดขึ้นในปี 2015
เมื่อคุณ Singer ได้รับเชิญให้ขึ้นพูดในงาน TED Talks แล้วได้พบกับผู้บริโภค และผู้ประกอบการที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน ซึ่งหลังจากที่ได้พูดคุย เธอก็พบสาเหตุที่ขัดขวางการลดใช้แพ็กเกจจิง ดังนี้
1.ไม่มีตัวกลาง สำหรับรวบรวมสินค้าที่มีแนวคิด Zero Waste โดยเฉพาะ
2.พวกธุรกิจด้านความยั่งยืน ถ้าหากเป็นรายเล็ก หรือไม่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุน หรือไม่มีงบการตลาดมากพอ ก็ยากมากที่จะประสบความสำเร็จ
ดังนั้นคุณ Singer จึงได้ตัดสินใจก่อตั้ง “Package Free” ขึ้น
โดย Package Free จะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มตัวกลาง ให้ผู้ผลิตที่มีสินค้า แบบไร้แพ็กเกจจิง หรือมีแนวคิดแบบ Zero Waste สามารถนำสินค้ามาวางขายได้
ซึ่งปัจจุบัน มีมากกว่า 100 แบรนด์ ที่เข้าร่วมกับ Package Free แล้ว
และในจำนวนนี้ยังรวมไปถึง แบรนด์ The Simply Co. และแบรนด์ Package Free ด้วย
โดยสินค้าที่วางขายใน Package Free ก็จะมีตั้งแต่
สินค้าที่เปลี่ยนจาก “ของเหลว” มาอยู่ในรูปแบบ “ก้อน”
อย่าง แชมพูก้อน ที่ใช้ได้นานกว่าแชมพูทั่ว ๆ ไป 2-3 เท่า และไม่จำเป็นต้องบรรจุลงในขวดให้สิ้นเปลืองการใช้พลาสติก
ส่วนสินค้าพวกแปรงสีฟัน, มีดโกนหนวด, กล่องข้าว และโหลแก้ว จะทำมาจากวัสดุอย่าง ไม้ไผ่, แก้ว และสเตนเลส เพื่อให้มีความทนทาน แต่ก็ยังเป็นมิตรต่อโลก
และไม่ใช่แค่สินค้าเท่านั้นที่จะต้องเป็นมิตรต่อโลก
แต่กระบวนการขนส่งสินค้ามายังโกดังของ Package Free ก็ยังต้องปลอดพลาสติกแบบ 100%
ถ้าหากสินค้าแบรนด์ไหนมีการใช้พลาสติกในการจัดส่ง หากทาง Package Free ตรวจพบ ก็จะทำการปรับเงินจากคู่ค้า และจะยิ่งปรับแพงขึ้นหากมีครั้งที่ 2 แต่หากยังมีครั้งที่ 3 อีก ทาง Package Free ก็จะทำการยกเลิกการจำหน่ายสินค้าของแบรนด์นั้นทันที
โดยในปัจจุบัน Package Free สามารถระดมทุนไปได้ถึง 430 ล้านบาท
ส่วนความสำเร็จ ในแง่ของสิ่งแวดล้อม ทาง Package Free ก็ได้ระบุว่า
พวกเขาสามารถลดการใช้ ถุงพลาสติกไปแล้ว 132 ล้านใบ
ลดการใช้ หลอดพลาสติกไปได้ 48 ล้านหลอด
ลดการใช้ ขวดน้ำพลาสติกไปได้ 3.3 พันล้านขวด
และลดการใช้ มีดโกนพลาสติก ไปได้ถึง 674,000 เล่ม
ซึ่งความสำเร็จทั้งหมดนี้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากใคร เพียงคนใดคนหนึ่ง
แต่มันเกิดขึ้นได้ เพราะทุก ๆ ฝ่าย ตั้งแต่ผู้ผลิต, ตัวกลาง ไปจนถึงผู้บริโภค ที่ช่วยกันสนับสนุนให้มันเกิดขึ้นจริง
อีกทั้ง คุณ Singer ก็ยังเคยให้เหตุผลในการก่อตั้ง Package Free ไว้ว่า
“ขยะไม่ควรตกเป็นภาระของผู้บริโภค
แต่ควรเป็นความรับผิดชอบของฝั่งผู้ผลิตตั้งแต่แรก..”
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.