รู้จัก “Tagwalk” ที่เรียกตัวเองว่า Google แห่งโลกแฟชั่น
Business

รู้จัก “Tagwalk” ที่เรียกตัวเองว่า Google แห่งโลกแฟชั่น

9 มิ.ย. 2022
รู้จัก “Tagwalk” ที่เรียกตัวเองว่า Google แห่งโลกแฟชั่น /โดย ลงทุนเกิร์ล
ถ้าพูดถึง Search Engine อันดับ 1 ของโลก ทุกคนก็น่าจะนึกถึง Google
ที่ไม่ว่าเราจะสงสัยอะไร ก็สามารถถามอากู๋ได้ทุกอย่าง และใช้เวลาเพียง 0.19 วินาที
ก็มีผลการค้นหากว่า 1 ล้านเว็บไซต์ให้ได้เจอ
ถึงอย่างนั้น การมีผลการค้นหามากมาย ก็ไม่ได้หมายความว่าจะดีเสมอไป
โดยเฉพาะเวลาที่เราต้องค้นหาในหัวข้อที่เฉพาะเจาะจงมาก ๆ เช่น “เสื้อผ้า”
เรื่องนี้ทำให้คุณ Alexandra Van Houtte ก่อตั้ง Search Engine เป็นของตัวเองชื่อ Tagwalk และเรียกตัวเองว่าเป็น Google แห่งวงการแฟชั่น
แล้ว Tagwalk น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
คุณ Alexandra Van Houtte เรียนจบปริญญาโท ด้าน Fashion Media Styling ที่ London College of Fashion ซึ่งหลังเรียนจบ เธอก็ได้ทำงานอยู่ในวงการแฟชั่น
ทั้งการเป็นดีไซเนอร์ให้กับนิตยสาร Grazia และ Numéro รวมถึงเป็นผู้ช่วยนักออกแบบที่ Lanvin
ด้วยลักษณะงานของเธอ ทำให้เธอต้องค้นหาไอเดียเสื้อผ้าเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน
เพื่อนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบเสื้อผ้าต่อไป
ที่สำคัญคือ วงการแฟชั่น ถือว่าเป็นวงการที่มีเทรนด์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ทำให้ในโลกอินเทอร์เน็ต มีงานดีไซน์เป็นจำนวนมาก จนยากต่อการค้นหาสิ่งที่ต้องการ
และต่อให้มีแพลตฟอร์มในการค้นหาไอเดียต่าง ๆ อย่าง Instagram, Pinterest หรือ Google แต่การที่มีข้อมูลเยอะเกินไป ทำให้การค้นหาในแต่ละครั้ง ไม่ต่างจากการงมเข็มในมหาสมุทร
พอเรื่องเป็นแบบนี้ คุณ Alexandra Van Houtte จึงคิดหาทางออกให้ตัวเอง
และก่อตั้ง Tagwalk ขึ้นในปี 2016
แล้ว Tagwalk ต่างจากการค้นหาใน Google อย่างไร ?
ในเว็บไซต์ Tagwalk จะมีฟิลเตอร์สำหรับช่วยค้นหา โดยสามารถเลือกได้ทั้งประเภทของชุด คอลเลกชัน สถานที่ และแบรนด์ รวมถึงสามารถใส่คีย์เวิร์ดอื่น ๆ ที่เราต้องการค้นหาเพิ่มเติมได้ โดยคำแต่ละคำ จะขึ้นมาในลักษณะคล้ายกับการใส่ Hashtag
เช่น ถ้าหากเราจะค้นหา “มินิเดรสสีดำ” ใน Tagwalk ก็จะเป็นการเซิร์ชคำว่า “มินิเดรส” และ “สีดำ”
โดยผลการค้นหา จะเลือกรูปที่มีความใกล้เคียงกับคีย์เวิร์ดทั้ง 2 คำที่เราค้นหาขึ้นมา
จากนั้นถ้าหากเราอยากลงดีเทลมากยิ่งขึ้น เช่น เป็นมินิเดรสสีดำจากฝรั่งเศส
ก็สามารถเลือกฟิลเตอร์ภายใน Tagwalk ให้ช่วยคัดกรองเพิ่มเติมได้เช่นกัน
นอกจากการค้นหาไอเดียได้แล้ว Tagwalk ยังมีฟีเชอร์สร้าง Mood Board สำหรับดีไซเนอร์
ให้สามารถรวบรวมไอเดียที่หาใน Tagwalk แล้วดาวน์โหลดออกมาเป็นไฟล์ PDF ได้อีกด้วย
และความง่ายดายนี้ ไม่ได้ส่งผลดีแค่กับดีไซเนอร์เท่านั้น แต่ยังช่วยในเรื่องการดูแนวโน้มของแฟชั่น
ที่ช่วยในการคาดการณ์เทรนด์ หรือแม้แต่การเข้ามาหาแรงบันดาลใจในการแต่งตัวก็ได้ เช่นกัน
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะมีคำถามว่า Tagwalk มีรายได้จากช่องทางใดบ้าง
Tagwalk จะแบ่งการหารายได้ออกเป็น 4 ช่องทาง คือ
-ค่าเข้าร่วมเว็บไซต์สำหรับแบรนด์แฟชั่นขนาดเล็ก
โดยปกติแล้วรูปที่ปรากฏในการค้นหาบน Tagwalk จะมาจากการไปตามถ่ายรูปที่งานแฟชั่นโชว์ของแบรนด์
แต่สำหรับแบรนด์ที่ไม่ได้ใหญ่พอที่จะจัดงานแฟชั่นโชว์ได้ ก็สามารถจ่ายค่าแรกเข้า
เพื่อให้แบรนด์มีตัวตนบนแพลตฟอร์มได้
-ค่าคอมมิชชันจากการขายสินค้า
สำหรับคนที่เข้ามาหาไอเดีย แล้วเกิดสนใจสินค้า ก็สามารถสั่งซื้อสินค้าผ่าน Tagwalk ได้เลย
โดย Tagwalk จะได้รับรายได้ เป็นส่วนแบ่งจากการขายสินค้าชิ้นนั้น ๆ
-ค่าปรึกษาสำหรับแบรนด์แฟชั่นที่อยากขยายช่องทางสู่โลกออนไลน์
เนื่องจาก 91% ของผู้ใช้งานบนเว็บไซต์ เป็นคนที่ทำธุรกิจแบบ Business to Business
และตัวแพลตฟอร์มเองก็มีทั้งระบบในการค้นหา และขายสินค้าพร้อมอยู่แล้ว
ทำให้ Tagwalk มีข้อมูลการค้นหาบนเว็บไซต์ รวมถึงข้อมูลการซื้อสินค้าของลูกค้า
ซึ่งข้อมูลตรงนี้ก็คือขุมทรัพย์สำคัญ ที่ทำให้ Tagwalk กลายมาเป็นผู้ให้คำแนะนำชั้นดีของแบรนด์อื่น ๆ
-ค่าข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้งานบนเว็บไซต์
แม้ผู้ใช้งานบน Tagwalk จะมีราว ๆ 25,000 คน แต่ทุกคนล้วนเป็นผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นโดยเฉพาะ ทำให้พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ เปรียบเสมือนกับขุมทรัพย์ สำหรับคนที่อยากเข้าใจอินไซต์ของวงการนี้
ปัจจุบัน Tagwalk ยังไม่มีการเปิดเผยถึงรายได้ที่ตัวแพลตฟอร์มทำได้
แต่มีการระบุถึงนักลงทุนที่ให้ความสนใจกับแพลตฟอร์มนี้ ได้แก่
คุณ Carmen Busquets นักลงทุน และบริษัท C Ventures
โดยคุณ Carmen Busquets เป็นนักลงทุนที่มีความสนใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแฟชั่น
และบริษัท C Ventures ก็เน้นการลงทุนในธุรกิจ ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่
ที่น่าสนใจคือ คุณ Carmen Busquets เริ่มลงทุนกับ Tagwalk หลังจากบริษัทเปิดตัวได้เพียง 2 เดือน
โดยเธอมองว่า เมื่อนักออกแบบสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เยอะขึ้น ดีไซเนอร์ก็จะออกแบบได้ดีขึ้นด้วย
แล้วเมื่อออกแบบได้ดีขึ้น สินค้าก็จะขายได้มากขึ้น และยังขยายตลาดได้มากขึ้น ช่วยให้อุตสาหกรรมในภาพรวมสามารถเติบโตตามไปด้วย
เรื่องราวของ Tagwalk จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการทำธุรกิจในตลาดขนาดเล็ก
หรือ Niche Market ที่เลือกตอบโจทย์คนกลุ่มเล็ก ๆ แต่ตรงจุดประสงค์มากที่สุด
ซึ่งอาจจะดีกว่าการทำสินค้าที่ตอบโจทย์คนทุกคน
แต่กลับไม่มีลูกค้าที่แท้จริงเลยก็ได้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.