ทำไม คนนอนไม่หลับ ถึงกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ
Business

ทำไม คนนอนไม่หลับ ถึงกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ

3 ก.ค. 2022
ทำไม คนนอนไม่หลับ ถึงกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ว่า ประชากรโลกกว่า 1 ใน 5 มีภาระการทำงานที่ต้องอยู่จนดึก จนส่งผลต่อเวลานอน
ปัจจุบันจึงเกิดพฤติกรรม “การนอนดึกเพื่อล้างแค้น” หรือ Revenge Bedtime Procrastination คือการที่เราไม่ยอมนอน แม้จะเหนื่อยแค่ไหน เพราะรู้สึกว่ายังไม่ได้ใช้ชีวิต หลังจากที่ทำงานหนักมาทั้งวัน
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมลักษณะนี้ อาจส่งผลกระทบในระยะยาว เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ ไปจนถึง กระทบต่อกิจวัตรประจำวัน ซึ่งอาจถึงขั้นมีอาการนอนไม่หลับ
ยิ่งประกอบกับปัจจัยอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเครียด รวมถึงการจ้องหน้าจอโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ก่อนนอน ก็อาจส่งผลต่ออาการนอนไม่หลับเช่นกัน
แล้วเรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ปัญหาของอาการนอนไม่หลับ เรียกได้ว่าเป็นปัญหา “ระดับชาติ”
อย่างในประเทศไทย จากการสำรวจก็พบว่า มีผู้คนที่ประสบปัญหานี้ถึง 19 ล้านคน
และแน่นอนว่า ประเทศไทยก็ไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีปัญหานี้ เพราะอย่างในสหรัฐฯ ประเทศมหาอำนาจอันดับต้น ๆ ของโลก ก็มีประชากรที่มีอาการนอนไม่หลับถึง 70 ล้านคน เลยทีเดียว
โดยหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้คนเหล่านี้ กลายเป็นคนนอนไม่หลับก็คือ “เทคโนโลยี”
แม้ว่าเทคโนโลยีหลายอย่าง จะเข้ามาทำให้ชีวิตของเราสะดวกมากขึ้น
แต่ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยี เช่น หลอดไฟ, โทรทัศน์, โทรศัพท์มือถือ, คอมพิวเตอร์
ซึ่งเป็นแหล่งรวม “แสงสีฟ้า” ก็ส่งผลทำให้นาฬิกาชีวิตของหลายคนยุ่งเหยิง
เนื่องจากปกติแล้วเมื่อท้องฟ้าเริ่มมืดลง ร่างกายจะเริ่มหลั่งสารเมลาโทนิน เพื่อให้เรารู้สึกง่วงนอน
แต่เมื่อโลกของเรากลายเป็นโลกที่ไม่มีวันหลับใหล และเต็มไปด้วยแสงสีฟ้าจากเครื่องใช้ต่าง ๆ ทำให้ร่างกายกดการหลั่งสารเมลาโทนิน และทำให้เรารู้สึกตื่นตัว แทนที่จะรู้สึกง่วงนอน
นอกจากนั้น เทคโนโลยียังส่งผลทำให้เราทุกคน สามารถรับข่าวสารได้ตลอดเวลาผ่านทางอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น ข่าวสารบ้านเมือง เศรษฐกิจ สงคราม รวมไปถึงการทำงาน ที่ไม่จำกัดว่าจะต้องทำแค่ในเวลางานอีกต่อไป
เรื่องเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดเป็นความเครียด ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนอีก 48% นอนไม่หลับ
ซึ่งถ้าหากจะไปลองค้นหาเร็ว ๆ ว่า จะแก้อาการนอนไม่หลับได้อย่างไร
คำตอบของเรื่องนี้ ก็อาจเรียบง่ายกว่าที่คิด
เช่น การกินอาหารก่อน 2 ทุ่ม เพื่อให้ร่างกายไม่ทำงานหนัก ก่อนจะถึงเวลานอน หรือการพยายามไม่นอนหลัง 4 ทุ่ม เนื่องจากการนอนดึกจะทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย แม้ว่าจะนอนครบ 8 ชั่วโมงก็ตาม รวมถึงไม่อยู่ในสถานที่ที่มีแสงสว่างมากเกินไป และไม่เล่นโทรศัพท์มือถือก่อนนอน ประมาณ 1-2 ชั่วโมง
แต่เชื่อหรือไม่ว่าวิธีง่าย ๆ เหล่านี้ กลับไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด
ดังนั้น จึงมีคนอีกเป็นจำนวนมาก ที่มองหาตัวช่วยอื่น ๆ ที่จะมาบรรเทาอาการนอนไม่หลับนี้
และจุดนี้เอง ที่ในฝั่งผู้ประกอบการ ก็มองว่า ตลาดของการทำให้เกิดการนอนที่สุขสบายมากขึ้น คือ “โอกาสทางธุรกิจ”
ยกตัวอย่างเช่น
แอปพลิเคชันนั่งสมาธิ Calm ที่ก่อตั้งในปี 2012 ก็สร้างฟีเชอร์ที่ช่วยเรื่องการนอนหลับ ที่รวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ ให้ผู้คนได้ฟัง เพื่อผ่อนคลาย และนอนหลับสบายมากขึ้น ซึ่งมีจำนวนผู้ฟังเกินหลายร้อยล้านครั้ง
ที่สำคัญ ฟีเชอร์อื่น ๆ ของแอปพลิเคชันนี้ ก็ยังเน้นไปที่การช่วยให้ผู้ใช้งานมีความสงบขึ้น บรรเทาความวุ่นวายของยุคปัจจุบัน
จึงไม่น่าแปลกใจว่า Calm จะถูกประเมินมูลค่าบริษัท สูงถึง 70,000 ล้านบาท
หรือ Casper แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ที่ขายแต่สินค้าเกี่ยวกับการนอน ที่ก่อตั้งในปี 2014
ก็สามารถทำรายได้กว่า 17,000 ล้านบาท ในปี 2020
ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด ทางบริษัทได้ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2021 ออกมา โดยสามารถทำรายได้ไปถึง 5,500 ล้านบาท และนับเป็นรายได้ต่อไตรมาสสูงสุด ตั้งแต่ก่อตั้ง Casper
นอกจากนั้น ยังมี Eight Sleep ซึ่งทำธุรกิจเป็น ฟิตเนสด้านการนอนหลับ
โดย Eight Sleep ไม่ได้ทำเพียงแค่การขายเตียงนอนเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยติดตามการนอนที่เกิดขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่ฝังอยู่ในที่นอน เพื่อนำข้อมูลมาช่วยสร้างการนอนที่ดียิ่งขึ้นให้กับผู้ใช้งานได้
และสามารถระดมทุนมาได้แล้วกว่า 5,700 ล้านบาท หลังจากก่อตั้งมา 8 ปี
ในขณะเดียวกัน อีกอุตสาหกรรมที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในวงการการนอนหลับคือ “สินค้ากลุ่มอาหารเสริม” ที่มีบริษัทยา และอาหารเสริมมากมายอยู่ในตลาดนี้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Sanofi, Merck & Co. หรือ Pfizer จากต่างประเทศ
หรือสำหรับประเทศไทย หลายคนก็น่าจะคุ้นเคยกับ G'nite ของ Handy Herb เป็นต้น
ซึ่งจริง ๆ แล้ว การที่ตลาดนี้น่าสนใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ผลกระทบจากอาการนอนไม่หลับ ซึ่งถือว่ามีไม่น้อยเลย
ส่วนด้านสุขภาพนั้น อาการนอนไม่หลับ หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ คือการทำร้ายตัวเองอย่างหาที่สุดไม่ได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น, ผิวเสีย, ความจำแย่, ภูมิต้านทานอ่อนแอ, โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ เป็นต้น
รวมถึงความง่วง ยังอาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยสถิติในประเทศไทย ปี 2015 พบว่า ผู้ขับขี่มากกว่า 50% เคยหลับในขณะขับรถ
ซึ่งแม้จะเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างเก่า แต่เรื่องนี้กลับอันตรายมาก เพราะการหลับในสามารถคร่าชีวิตผู้คน ได้ในเวลาเพียง 4 วินาที โดยหากรถวิ่งด้วยความเร็ว 90 กม./ชม. แปลว่ารถยนต์จะวิ่งต่อไปอีก 100 เมตร โดยที่ไม่มีคนควบคุม
ส่วนด้านธุรกิจ การที่คนในองค์กรนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ จะส่งผลในเรื่องประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ที่อาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการทำงาน
เรียกได้ว่า เมื่อผลกระทบของอาการนอนไม่หลับมันรุนแรงขึ้น
ดังนั้น การลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหานี้ จึงเป็นสิ่งที่หลายคนยอมจ่าย
และเมื่อตลาดของคนนอนไม่หลับ มันใหญ่พอ
สำหรับในฝั่งผู้ประกอบการ จึงเป็นโอกาส ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.