ทำไม KBank ถึงทุ่มงบ 1 แสนล้านบาท ลงทุนเทคโนโลยี ขยายโอกาสกลุ่มคน ที่ยังไม่เคยเข้าถึงบริการธนาคาร ?
Business

ทำไม KBank ถึงทุ่มงบ 1 แสนล้านบาท ลงทุนเทคโนโลยี ขยายโอกาสกลุ่มคน ที่ยังไม่เคยเข้าถึงบริการธนาคาร ?

12 ก.ค. 2022
ธนาคารกสิกรไทย (KBank) ประกาศเดินหน้าโครงการเชิงกลยุทธ์ มูลค่า 1 แสนล้านบาท
เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการธนาคารให้กับคนไทย และคนที่มีธุรกิจเล็ก ๆ เป็นของตัวเอง ที่ยังไม่เคยเข้าถึงบริการธนาคาร หรืออาจจะใช้บริการของธนาคารได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
KBank มองเห็นอะไร ?
ทำไมถึงทุ่มงบ 1 แสนล้านบาท ลงทุนในเทคโนโลยี เพื่อเจาะกลุ่มคนที่ยังไม่เคยเข้าถึงบริการธนาคาร
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟังค่ะ
คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า “ตอนนี้ ธนาคารกสิกรไทยกำลังมองว่า เราเป็นธนาคารที่มีความเป็นชาเลนเจอร์แบงก์แห่งแรกของประเทศไทย
สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในตอนนี้ คือการหลอมรวมเอาดีเอ็นเอของชาเลนเจอร์แบงก์ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว
และเริ่มเข้ามาดิสรัปต์การเงินการธนาคาร ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นธนาคารกสิกรไทย”
ซึ่งคำว่า “ชาเลนเจอร์แบงก์” คือ การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้ ให้ประชาชนเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของธนาคารได้มากขึ้น
ในขณะเดียวกัน ก็ยังดึงดูดลูกค้าปัจจุบัน ให้เข้ามาใช้บริการชาเลนเจอร์แบงก์ โดยลดกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน แทนที่ด้วยบริการที่รวดเร็ว ใช้งานง่าย และเข้าถึงได้ทุกที่ตลอดเวลา
หรือเรียกง่าย ๆ ว่า KBank กำลังทรานส์ฟอร์มตัวเอง สู่ “ธนาคารดิจิทัล” แบบเต็มตัวนั่นเอง
แล้วการทำแบบนี้ จะเกิดประโยชน์อะไรกับ KBank และลูกค้าของ KBank บ้าง ?
1) KBank ขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น
อย่างที่รู้กันว่า รายได้ส่วนหนึ่งของธนาคารมาจากการให้สินเชื่อ
ซึ่งการทุ่มงบลงทุน 1 แสนล้านบาท ลงทุนเทคโนโลยี เพื่อเจาะกลุ่มคนที่ยังไม่เคยเข้าถึงบริการธนาคาร จะทำให้ประชาชนทั่วไป รวมถึง SME รายย่อย เข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วขึ้น
ซึ่งปลายทางจะทำให้กลุ่มลูกค้าของ KBank มีจำนวนเพิ่มขึ้นและกว้างมากขึ้น นั่นเอง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลุ่มคนรายได้น้อยที่ยังไม่เคยเข้าถึงบริการธนาคาร และธุรกิจ SME ขนาดเล็ก จำนวนมาก ยังคงรอคอยการเข้าถึงบริการธนาคาร เช่น การกู้สินเชื่อ
โดยคนกลุ่มนี้มีความพร้อมและอาจเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในอนาคต หากได้รับการช่วยเหลือจากการกู้สินเชื่อจากธนาคาร
ซึ่งสอดคล้องกับ แผนธุรกิจปี 2565 ของกสิกรไทย ที่ต้องการดันเป้าสินเชื่อให้เติบโต 6-8% โดยสร้างการเติบโตของสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าบุคคล และกลุ่มลูกค้าธุรกิจ SME โดยวิธีการก็คือ
- เน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น
- นำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อ (Data Analytics)
- ร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างการเติบโตของสินเชื่อในภูมิภาค AEC+3
อีกทั้ง ธนาคารยังคงให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 อย่างต่อเนื่อง
2) ทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ ต่างต้องได้รับประโยชน์สูงสุด
เมื่อ KBank มองตัวเองเป็นชาเลนเจอร์แบงก์
ซึ่งหมายถึง KBank กำลัง​นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้ โดยกำจัดกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน แทนที่ด้วยบริการที่รวดเร็ว ใช้งานง่าย และเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา
นั่นหมายความว่า ทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ของ KBank ก็จะได้รับประโยชน์จากการได้รับบริการที่รวดเร็ว ใช้งานง่าย รวมถึงได้รับผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีความเหมาะสมสำหรับลูกค้าแต่ละรายอีกด้วย
คำถามต่อมาก็คือ แล้วโครงการเดินหน้าเชิงกลยุทธ์ มูลค่า 1 แสนล้านบาท ของธนาคารกสิกรไทยนั้น ลงทุนอะไรบ้าง ?
1. ลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ประสานความร่วมมือ และซื้อกิจการ
สำหรับปีนี้และอีก 2 ปีข้างหน้า ธนาคารกสิกรไทย เตรียมลงทุน 22,000 ล้านบาท ในระบบต่าง ๆ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพิ่มเติมจากที่ลงทุนไปแล้ว 12,700 ล้านบาท ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่าในอีก 12 เดือนข้างหน้านี้
คาดว่าจะปิดดีลซื้อกิจการ และความร่วมมือในเชิงพาณิชย์กับกิจการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี 2-5 ดีล
โดยใช้เงินลงทุนราว 30,000 ล้านบาท
2. สร้างระบบและกระบวนการใหม่ ๆ เพื่อให้การพิจารณาสินเชื่อง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น
โดยเริ่มทดลองนำระบบและขั้นตอนกระบวนการแบบใหม่ ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเดินหน้าโครงการเชิงกลยุทธ์นี้อย่างเต็มกำลัง
เช่น ประชาชนทั่วไปสามารถเปิดบัญชีใหม่ผ่านทางออนไลน์ได้อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอน โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีสำหรับลูกค้าปัจจุบัน และใช้เวลา 24-72 ชั่วโมง สำหรับลูกค้าใหม่ที่ต้องยืนยันตัวตน
โดยผู้ที่มีบัญชีกับธนาคาร สามารถสมัครขอสินเชื่อบุคคล รอการพิจารณา และหากได้รับการอนุมัติ เงินกู้จะถูกโอนเข้าบัญชี ภายในเวลาไม่ถึง 30 นาที
“ซึ่งหลังจากนี้ เราตั้งเป้าที่จะให้บริการสมัครขอสินเชื่อและได้รับเงินกู้ยืมแบบเกือบทันที สำหรับลูกค้าที่ยังไม่มีบัญชีของธนาคารกสิกรไทยด้วย”
3. การพลิกโฉม ที่เกิดขึ้นเป็น “ครั้งแรก”
โดยการบุกเบิกเรื่องการปล่อยสินเชื่อเฉพาะทาง ที่เรียกว่า “Buy Now Pay Later” ให้กับผู้ที่ทำงานอิสระ หรือไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ โดยจะพิจารณาอนุมัติจากข้อมูลอื่น ๆ แทน
ในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ ธนาคารกสิกรไทยได้ทดลองอนุมัติสินเชื่อเฉลี่ย 1,600 รายต่อวัน
โดยมีวงเงินสินเชื่อเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาท และสูงสุด 20,000 บาท ในบางราย
รวมถึงธนาคารกสิกรไทย ยังได้นำร่องทดลองวิธีการต่าง ๆ ที่จะทำให้การขอสินเชื่อมีความเป็นธรรมมากขึ้นสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก
เช่น ร่วมมือกับแอปพลิเคชัน LINE เปิดตัว LINE BK
โดยปัจจุบัน ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารเดียวในประเทศไทยที่ให้บริการธนาคารผ่านโซเชียลมีเดีย
แม้ในกรณีที่ผู้ขอสินเชื่อไม่มีบัญชีธนาคาร แต่ LINE BK ก็เปิดโอกาสให้สมัครขอสินเชื่อได้ โดยรู้ผลอนุมัติภายใน 24 ชั่วโมง
และถ้าเป็นผู้ที่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารกสิกรไทยอยู่แล้ว จะสามารถสมัครขอสินเชื่อและรู้ผลการอนุมัติได้ภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที
“ภายในสิ้นปีนี้ เราจะช่วยคนอีกถึง 200,000 คน ผ่านบริการ LINE BK ให้ได้รับสินเชื่อครั้งแรกจากธนาคาร และด้วยบริการ LINE BK นี้ คาดว่าจะมีลูกค้ารายย่อย รวมถึงธุรกิจขนาดเล็ก ได้รับสินเชื่อจำนวนกว่า 600,000 ราย รวมวงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งหวังว่าจะช่วยให้หลายคนเป็นอิสระจากเงินกู้นอกระบบได้”
4. ขยายช่องทางเข้าถึงบริการธนาคารในต่างจังหวัด ผ่านร้านขายของชำ
ธนาคารกสิกรไทย ยังอยู่ในระหว่างการเจรจากับกลุ่มค้าปลีก
เพื่อนำเสนอช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อธุรกิจขนาดย่อม ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกขนาดเล็กของครอบครัวในต่างจังหวัด โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน
และธนาคารกสิกรไทย ยังตั้งเป้าจะปล่อยสินเชื่อรายย่อยแก่ลูกค้าของร้านค้าดังกล่าวอีกด้วย
“เราตั้งเป้าว่า ภายในสิ้นปีนี้ เราจะสามารถขยายจำนวนร้านค้าที่ให้บริการปล่อยสินเชื่อเข้าไปในต่างจังหวัด ได้มากกว่าพัน ๆ ร้านค้าผ่านเครือข่ายพันธมิตรของเรา
ซึ่งจะทำให้เราเดินหน้าเข้าใกล้เป้าหมายของเรา ในการช่วยให้ประชาชนในชุมชนขนาดเล็กทั่วประเทศ เข้าถึงบริการของธนาคาร” คุณขัตติยากล่าวทิ้งท้าย..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.