ทำไม ร้านชานม BEARHOUSE ถึงลงทุนหนัก กับการแต่งร้าน
Business

ทำไม ร้านชานม BEARHOUSE ถึงลงทุนหนัก กับการแต่งร้าน

21 ก.ย. 2022
ทำไม ร้านชานม BEARHOUSE ถึงลงทุนหนัก กับการแต่งร้าน /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ว่า ในปี 2562 ร้านชานม BEARHOUSE มีรายได้อยู่ที่ 17 ล้านบาท
แต่ผ่านไปเพียง 2 ปี ตัวเลขนี้ กลับเพิ่มขึ้นเป็น 117 ล้านบาท
หรือก็คือ เติบโตขึ้นเกือบ 600% เลยทีเดียว
เรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ชานม ที่น่าสนใจ
เพราะในขณะที่แบรนด์ชานมเจ้าอื่น ๆ กำลังมีรายได้ลดลง
BEARHOUSE กลับกำลังโตสวนกระแส
และอีกจุดที่น่าสนใจ คือ ในขณะที่ร้านชานมส่วนใหญ่ มักจะให้บริการรูปแบบ “Grab & Go” ที่มีแค่จุดสั่งซื้อและรับสินค้า เพื่อประหยัดต้นทุนค่าเช่าพื้นที่ และช่วยเรื่องการหมุนเวียนลูกค้า
แต่ BEARHOUSE กลับเลือกลงทุนไปกับการใช้ “พื้นที่” มากกว่าร้านชานมเจ้าอื่นเป็นเท่าตัว ซึ่งบางสาขาถึงขั้นมี “น้ำตก” ตั้งอยู่กลางร้าน หรือมีห้องประชุมในร้านชานมเลยทีเดียว
ซึ่งในวันนี้ลงทุนเกิร์ล มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณซารต์ และคุณกานต์ ผู้ก่อตั้ง BEARHOUSE ถึงแนวคิดว่าทำไม BEARHOUSE ถึงต้องลงทุนหนัก กับการตกแต่งร้าน แถมในปีนี้ก็ยังมีแพลนที่จะขยายสาขาให้ครบ 20 แห่งอีกด้วย
แล้วแนวคิดของทาง BEARHOUSE จะน่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง..
“การพัฒนาสินค้า” และ “การสร้างประสบการณ์”
คือสองสิ่งที่คุณกานต์ และคุณซารต์ ให้ความสำคัญมาตั้งแต่วันแรกที่เปิดร้าน
ดังนั้น ร้านชานมของ BEARHOUSE จึงจะมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนใคร ไม่ว่าจะเป็น “ไข่มุกโมจิ” เจ้าแรกในประเทศไทย ที่ปั้นสดใหม่ในร้านทุกวัน
หรือแม้กระทั่ง “เพลง” ที่ถูกเปิดในร้าน
ก็เป็น “เพลย์ลิสต์” ที่ BEARHOUSE จ้างคนมิกซ์ขึ้นมาโดยเฉพาะ
นอกจากเรื่องของสินค้า และบริการแล้ว
“การทำหน้าร้านให้ดี” ก็มีส่วนช่วยดึงดูดลูกค้าให้ตบเท้าเข้าร้านได้เช่นกัน
แล้ว BEARHOUSE ออกแบบหน้าร้าน ให้สร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า อย่างไร ?
อันดับแรก คือ ร้าน BEARHOUSE จะต้องเข้าไป “เติมเต็ม” บางอย่าง
โดยเริ่มต้นตั้งคำถามว่า “พื้นที่บริเวณรอบร้านขาดอะไรบ้าง ?”
เพื่อที่จะได้ออกแบบร้านให้ไปเติมเต็มกับพื้นที่นั้น ๆ
อย่าง สาขาบ้านก้ามปู อโศก ที่บรรยากาศโดยรอบดูแห้งแล้ง และเต็มไปด้วยสายไฟฟ้าพะรุงพะรัง
ดังนั้น ทาง BEARHOUSE จึงเลือกออกแบบร้าน ให้มีสวนสีเขียวรอบร้าน และเพิ่มเสียงสายน้ำภายในร้าน เพื่อเติมความมีชีวิตชีวาให้พื้นที่นั้น ๆ แถมยังช่วยให้ร้าน BEARHOUSE ดูโดดเด่นออกมาจากร้านอื่น ไปพร้อม ๆ กัน
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ในสาขาแรก ๆ คุณกานต์ และคุณซารต์ ยังไม่ได้ลงทุนกับหน้าร้าน มากเหมือนในปัจจุบัน
เนื่องจาก แบรนด์ BEARHOUSE ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก จึงทำให้ไม่ค่อยมีโอกาส ได้รับพื้นที่ดี ๆ
แต่พอในช่วงหลัง ๆ ก็เริ่มมีเจ้าของพื้นที่ หยิบยื่นโอกาสมาให้
ดังนั้น ทาง BEARHOUSE จึงอยากตอบแทนด้วยการลงทุนตกแต่งร้านให้สวย เพื่อเติมเต็มสถานที่นั้น ๆ นั่นเอง
อันดับที่สอง คือ ตอบโจทย์ “ความต้องการของลูกค้า”
อย่างบางสาขาที่ตั้งอยู่ใกล้บริเวณสถานศึกษา ก็จะมีการออกแบบร้าน ให้ตอบโจทย์กับกลุ่มลูกค้า “นักเรียน” และ “นักศึกษา”
เช่น สาขาพุทธบูชา ที่มี “ห้องประชุมส่วนตัว” ไว้สำหรับให้มานั่งทำงาน หรือติวหนังสือกันได้
หรือสาขา บ้านก้ามปู อโศก ที่อยู่ในย่านออฟฟิศ และใกล้ มศว ประสานมิตร ก็ใช้ “โต๊ะทรงเหลี่ยม” และขนาดใหญ่กว่าสาขาอื่น ๆ เพื่อให้ลูกค้ามานั่งอ่านหนังสือ ทำงาน หรือพักผ่อนภายในร้านได้
แน่นอนว่าการออกแบบร้านที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ แม้จะต้องแลกมาด้วยเงินลงทุนก้อนใหญ่ก็ตาม
แต่คุณกานต์ก็ให้ความเห็นว่า “พวกเราไม่ได้โฟกัสเรื่องกำไร และขาดทุนเป็นหลัก หรือคิดแค่ว่าจะต้องรีบ ๆ สร้างกำไร แต่พวกเราจะโฟกัสเรื่องการสร้างประสบการณ์ดี ๆ ให้กับลูกค้ามากกว่า”
และยังได้เสริมว่า “ถ้าหากสินค้าเราดี และเราสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้ สุดท้ายแล้วกำไรก็จะตามมาเอง”
ซึ่งการลงทุนตกแต่งร้านนี่เอง ที่ช่วยทำให้ BEARHOUSE ได้รับความสนใจจากเจ้าของสถานที่หลาย ๆ แห่ง จนมาชักชวนให้ไปเปิดสาขาในพื้นที่ของตนอีกด้วย
อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ ภายในเดือนนี้เพียงเดือนเดียว BEARHOUSE ก็กำลังจะเปิดสาขาใหม่ถึง 3 แห่ง ได้แก่
-บ้านก้ามปู อโศก
-เมกาบางนา
-ซีคอนบางแค
ซึ่งทั้ง 3 สาขานี้ จะถูกตกแต่งอย่างจัดเต็มทั้งหมด
อย่าง สาขาซีคอนบางแค ซึ่งเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดของ BEARHOUSE ก็มีการยก “น้ำตก” มาตั้งอยู่กลางร้าน เพื่อสร้างบรรยากาศสบาย ๆ ให้ลูกค้าได้มานั่งพักผ่อน ดื่มชาชิล ๆ หลังจากเดินช็อปปิงจนเหนื่อย
นอกจากนี้ BEARHOUSE ก็เตรียมที่จะเปิดสาขาในต่างจังหวัดเป็นครั้งแรก ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อวางรากฐานและเตรียมความพร้อม สำหรับการไปเปิดสาขาที่ต่างประเทศ ตามความฝันของทั้งคู่
รวมถึง ล่าสุดก็ยังได้พัฒนาเมนู “เครื่องดื่มร้อน” เพื่อต้อนรับหน้าฝน ให้ลูกค้าได้มาจิบอะไรอุ่น ๆ
ซึ่งเมนูนี้ ก็ยังแพลนไว้สำหรับเตรียมวางขายในต่างประเทศ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในประเทศเมืองหนาว ที่ไม่ค่อยนิยมดื่มเมนูชานมเย็น ๆ แต่จะหันไปดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ กันแทน
ซึ่งคุณกานต์ ได้บอกกับเราว่า "ผมรู้ว่า การทำเมนูร้อน ต้องลงทุนเยอะมาก เพราะการเติมเมนูร้อน 1 เมนู จะต้องซื้อเครื่องสตรีมนมร้อนใหม่ทุกสาขา และก็อาจจะขายไม่ดี ในประเทศไทย แต่คิดว่าเป็นเมนูที่อร่อย จึงอยากทำให้ลูกค้าได้ลองดื่ม และที่สำคัญคือ ถ้ามีความฝันอยากพาแบรนด์ไประดับโลก ยังไงก็ต้องทำเมนูร้อนให้อร่อย”
พออ่านมาถึงตรงนี้ เราก็คงจะเห็นว่า ร้านชานม ที่ดูผิวเผินเหมือนจะขายแค่เครื่องดื่ม
แต่จริง ๆ แล้ว พวกเขายังสอดแทรกการขายประสบการณ์ให้กับลูกค้า
ซึ่งในทุกรายละเอียด ได้ผ่านการคิดอย่างรอบด้าน
ตั้งแต่ก้าวแรกที่ลูกค้าเดินเข้าร้าน ไปจนถึงเมนูที่ลูกค้าได้ดื่ม
และถึงแม้บางคนจะมองว่า การลงทุนหน้าร้านเป็นเรื่องสิ้นเปลือง จนไม่ให้ความสำคัญเท่ากับส่วนอื่น ๆ
แต่หากลองคิดในอีกมุมหนึ่ง
การลงทุนหน้าร้าน ก็เปรียบเสมือน การทำหน้าปกหนังสือ ให้น่าหยิบขึ้นมาลองอ่าน
และถึงคนมากมายจะบอกว่า อย่าตัดสินหนังสือที่หน้าปก
แต่สุดท้ายแล้ว หนังสือที่ปกสวย ก็ชวนให้น่าดึงดูดใจ อยู่ดี..
Reference:
-สัมภาษณ์พิเศษ กับคุณกานต์-อรรถกร รัตนารมย์ และคุณซารต์-ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช เจ้าของ BEARHOUSE
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.