Misaky.Tokyo แบรนด์วุ้นกรอบ กล่องละ 4,000 บาท ที่ระดมทุนได้ 46 ล้านบาท
Business

Misaky.Tokyo แบรนด์วุ้นกรอบ กล่องละ 4,000 บาท ที่ระดมทุนได้ 46 ล้านบาท

27 ก.ย. 2022
Misaky.Tokyo แบรนด์วุ้นกรอบ กล่องละ 4,000 บาท ที่ระดมทุนได้ 46 ล้านบาท /โดย ลงทุนเกิร์ล
วุ้นกรอบ “1 ชิ้น” ของ Misaky.Tokyo อาจราคาสูงถึง 350 บาท
แต่ถึงแม้ว่าจะราคาแรง แต่มันกลับมีลูกค้าอยู่ทั้งในสหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ญี่ปุ่น และเม็กซิโก
รวมถึง ล่าสุด Misaky.Tokyo ยังได้ร่วมงานกับคุณ Kim Kardashian เพื่อโปรโมตคอลเลกชันน้ำหอมของแบรนด์ “KWW” อีกด้วย
แล้วธุรกิจวุ้นกรอบ ของแบรนด์ Misaky.Tokyo น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Misaky.Tokyo คือ แบรนด์วุ้นกรอบ สไตล์ญี่ปุ่น
แต่ถูกก่อตั้งขึ้นใน ลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยคุณ Alissa Miky นักการตลาดชาวญี่ปุ่น
ที่ประสบความสำเร็จ จนได้รับรางวัลการันตีมากมาย
ไม่ว่าจะเป็น Forbes Japan 100 Top Women ในปี 2018
และ “Game Changer” จาก Business Insider Japan ในปี 2019
แม้ว่า รางวัลเหล่านั้น จะเป็นสิ่งที่การันตีความสำเร็จของคุณ Miky จนเป็นที่ยอมรับ แต่ในขณะเดียวกัน เธอกลับรู้สึกว่างเปล่าในใจอยู่ดี
จนกระทั่งวันหนึ่ง ที่เพื่อนของคุณ Miky ได้เล่าให้เธอฟัง ถึงปัญหาในการเป็นวีแกน และยังมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับท้อง เนื่องจากเพื่อนของเธอไม่สามารถทานกลูเตนได้ ซึ่งกลูเตนมักจะอยู่ในอาหารจำพวกแป้งสาลี, ข้าวบาร์เลย์ และมอลต์ ทำให้มีขนมแค่ไม่กี่อย่างเท่านั้น ที่เพื่อนของเธอสามารถทานได้
สิ่งนี้เอง ทำให้คุณ Miky เกิดไอเดียในการทำธุรกิจ
เนื่องจากขนมในประเทศญี่ปุ่น หลาย ๆ ชนิด มักจะไม่มีส่วนผสมจากสัตว์ และยังปราศจากกลูเตน
นี่จึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณ Miky ก่อตั้งแบรนด์ Misaky.Tokyo ขึ้นในปี 2019
โดยเธอได้นึกถึงเมนู อย่าง Kohakuto หรือก็คือ วุ้นกรอบญี่ปุ่น
ซึ่งเป็นขนมดั้งเดิมของญี่ปุ่น ที่มีมานานหลายร้อยปี
และมักจะนิยมทานกันในพิธีชงชา หรือซื้อเป็นของขวัญให้แก่กัน
ที่สำคัญ คือ วุ้นกรอบแบบญี่ปุ่น จะใช้ผงวุ้น ที่ทำมาจาก สาหร่าย
ต่างจากพวกขนมเจลลีทั่วไปในสหรัฐอเมริกา ที่มักจะนิยมใช้ “เจลาติน” ซึ่งมีส่วนผสมมาจากกระดูก และหนังของสัตว์
ส่วนวุ้นกรอบของแบรนด์ Misaky.Tokyo ไม่เพียงแค่เป็นขนมวีแกน ที่ปราศจากกลูเตนเท่านั้น
แต่พวกเขายังเลือกใช้รสหวาน และกลิ่นจากธรรมชาติ เช่น ฝรั่ง, เชอร์รี, สตรอว์เบอร์รี, ส้มยูซุ ไปจนถึง ลาเวนเดอร์
ไม่เพียงแค่เรื่อง ส่วนผสม เท่านั้นที่สำคัญ
แต่สำหรับในยุคที่ โซเชียลมีเดีย มีอิทธิพลต่อความคิดของผู้คน
ดังนั้น การทำธุรกิจขนม ที่คนชิมรสชาติ ผ่านออนไลน์ไม่ได้ จึงต้องใช้วิธีดึงดูดลูกค้า ด้วยการออกแบบขนมให้ Instagrammable เหมาะกับการถ่ายภาพ และดูโดดเด่น จะได้ง่ายต่อการจดจำแบรนด์
โดยขนมวุ้นกรอบของ Misaky.Tokyo จะถูกทำด้วยมือ และตัดแต่งรูปทรงให้เหมือนกับเป็น อัญมณี พร้อมกับใส่ลงในกล่องขนม ที่ถูกดิไซน์ให้ดูหรูหรา
อีกทั้งชื่อเรียกของวุ้นกรอบแต่ละชนิด ก็ยังถูกตั้งชื่อให้เหมือนกับชื่อของอัญมณีจริง ๆ
ไม่ว่าจะเป็น Jade (หยก), Amber (อำพัน) หรือ Ruby (ทับทิม)
โดยวุ้นกรอบ 1 เซตของ Misaky.Tokyo จะมีราคาตั้งแต่ 1,700-4,000 บาทเลยทีเดียว
ซึ่งเหตุผลที่ทำให้สินค้ามีราคาแพงขนาดนี้ ก็เป็นเพราะแบรนด์ Misaky.Tokyo ใช้วัตถุดิบคุณภาพดี และจ่ายค่าแรงในราคาที่เป็นธรรมให้กับเหล่าผู้ผลิต
แม้ว่าราคาจะสูง แต่ด้วยรูปลักษณ์ที่สวยงาม เป็นเอกลักษณ์ ของวุ้นกรอบ Misaky.Tokyo ก็ได้ช่วยให้แบรนด์กลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์ ในฐานะ “คริสตัลกินได้” และมีผู้ติดตามใน TikTok กว่า 570,000 บัญชี
แต่เบื้องหลังของกระแสบนโลกออนไลน์นี้
เราก็ต้องไม่ลืมว่าตัวผู้ก่อตั้ง เขาเป็นนักการตลาดมากฝีมือ
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ทางแบรนด์มีการใช้กลยุทธ์ “Affiliate Marketing”
โดยเปิดให้อินฟลูเอนเซอร์ สามารถสมัครเข้าโปรแกรม Influencer Affiliate กับ Misaky.Tokyo ได้ แล้วหลังจากนั้น ทางแบรนด์ก็จะส่งสินค้าไปให้รีวิว พร้อมกับโคดส่วนลดราคาสินค้า 5% ให้กับผู้ติดตามของอินฟลูเอนเซอร์
ซึ่งแบรนด์ก็จะไม่ต้องเสียค่าจ้างอินฟลูเอนเซอร์
ส่วนอินฟลูเอนเซอร์ ก็จะได้รับรายได้ เป็นค่าคอมมิชชัน 15% จากยอดขาย เมื่อลูกค้าใส่โคดส่วนลดของอินฟลูเอนเซอร์คนนั้น
อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ ในปี 2020 แบรนด์ Misaky.Tokyo ยังได้ร่วมงานกับคุณ Kim Kardashian เพื่อโปรโมตคอลเลกชันน้ำหอมของแบรนด์ “KWW” อีกด้วย
นอกจากนี้ แบรนด์ Misaky.Tokyo ก็ยังเคยได้รับเชิญให้ไปเสิร์ฟขนมในงานประกาศรางวัลอย่าง Oscars และ Emmy Awards
โดยในปัจจุบัน วุ้นกรอบของ Misaky.Tokyo มีการส่งออกไปจำหน่ายใน 4 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ญี่ปุ่น และเม็กซิโก รวมถึง ยังสามารถระดมทุนในรอบ Seed Fund ไปได้กว่า 46 ล้านบาท
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ เราคงสรุปได้ว่า
สินค้าธรรมดา ๆ อย่างวุ้นกรอบ ที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีล้ำยุคอะไร
แต่กลับสามารถเพิ่มมูลค่าได้ โดยการทำให้สินค้าเหล่านั้น เหมือนกับงานคราฟต์ชิ้นหนึ่ง
ดังนั้น เราอาจต้องหันกลับมามองว่า บางทีสินค้าที่เรามีอยู่ในมือนั้น มันอาจไม่ได้ไร้ค่าไร้ราคา
แต่เพียงแค่ เราอาจจะยังไม่เจอ วิธีสร้างคุณค่าให้มัน..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.