กาแฟมณีพฤกษ์ ทำอย่างไร ให้ขายได้ กิโลละ 8,000 บาท
Business

กาแฟมณีพฤกษ์ ทำอย่างไร ให้ขายได้ กิโลละ 8,000 บาท

2 พ.ย. 2022
กาแฟมณีพฤกษ์ ทำอย่างไร ให้ขายได้ กิโลละ 8,000 บาท /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ กาแฟคั่วที่แพงที่สุดในไทย ก็คือ สายพันธุ์เกชา จากดอยมณีพฤกษ์ ซึ่งปกติขายกันอยู่ที่ราคา กิโลกรัมละ 8,000 บาท
และหากเทียบกับ ราคากาแฟ Specialty ทั่ว ๆ ไป
สายพันธุ์เกชาก็จะมีราคาสูงกว่าถึง 4 เท่า เลยทีเดียว
และที่น่าสนใจ คือ กาแฟราคาแสนแพงนี้ ยังถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา “ภูเขาหัวโล้น” อีกด้วย
โดยในวันนี้ ลงทุนเกิร์ล มีโอกาสได้พูดคุยกับ “คุณวิชัย กำเนิดมงคล” ผู้ปลุกปั้นแบรนด์กาแฟ เดอม้ง จากดอยมณีพฤกษ์ ถึงเรื่องราวที่กว่าจะมาเป็นกาแฟมณีพฤกษ์
แล้วเรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ?
และทำไมกาแฟมณีพฤกษ์ ถึงขายได้ กิโลกรัมละ 8,000 บาท ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง..
“มณีพฤกษ์” เป็นดอยเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดน่าน
โดยมีชาวบ้านส่วนใหญ่เป็น “ชาติพันธุ์ ม้งและลัวะ”
ซึ่งเดิมทีชาวบ้าน จะมีรายได้หลัก จากการปลูกกะหล่ำปลี และขิง
แต่ด้วยความที่พืชเหล่านี้ต้องปลูกในที่โล่งแจ้ง จึงทำให้มีการถางป่า จนกลายเป็น “ภูเขาหัวโล้น”
ซึ่งเรื่องนี้ได้ทำให้คุณวิชัย และชาวบ้านมณีพฤกษ์ ต้องมาร่วมกันหาทางแก้ไข และได้ผลสรุปเป็น การเปลี่ยนมาปลูกพืช จำพวกแมคาเดเมีย พลับ และอะโวคาโด แทน
นอกจากนี้ คุณวิชัยยังเสนอให้ ปลูกกาแฟแซมอยู่ในผืนป่าที่ยังเหลืออยู่ เพราะเขาเคยได้ยินมาว่า กาแฟชอบที่ชื้นและที่ร่ม ที่มีแสงแดดรำไร
แต่เนื่องจาก คุณวิชัยแทบจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับ “Specialty Coffee” ทำให้เขาต้องเริ่มหาความรู้อย่างจริงจัง ตั้งแต่สายพันธุ์กาแฟ, วิธีการปลูก, การดูแล, การตัดแต่งกิ่ง, การเก็บเกี่ยว, กระบวนการแปรรูป และคั่ว จากผู้เชี่ยวชาญหลายคน จนเขากลายเป็นหัวหอกสำคัญ ที่คอยผลักดันเรื่องกาแฟพิเศษของหมู่บ้าน
ซึ่งคุณวิชัย ต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกเกือบ 10 ปี
โดยเขาได้นำกาแฟอะราบิกา สายพันธุ์ของปานามาที่ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติ และกลิ่น อย่าง “Gesha” (เกชา) มาจาก “คุณเคเลบ จอร์แดน” ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสายพันธุ์กาแฟ มาปลูก แถมในตอนนั้นก็ยังไม่ค่อยมีใครนำกาแฟสายพันธุ์นี้มาปลูกในไทย
นอกจากนี้ คุณเคเลบยังแนะนำให้ชาวบ้านนำกาแฟสายพันธุ์อื่น ๆ มาปลูกร่วมด้วย ทั้งสายพันธุ์ Java, Syrina, Typica, Yellow Bourbon และ Catimor
ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีกลิ่น และรสสัมผัสที่แตกต่างกันไป เพื่อเพิ่มตัวเลือกที่หลากหลายให้แก่ลูกค้า
แม้ว่า กาแฟจะมีคุณภาพดีแค่ไหน
แต่ในช่วง 6 ปีแรก กาแฟมณีพฤกษ์ ขายแทบไม่ได้เลย..
ส่วนกาแฟที่ขายออก
ก็ขายได้ในราคาที่ต่ำมาก เพียงราคากิโลกรัมละไม่ถึงพันบาท
ยิ่งไปกว่านั้น ชาวบ้านที่เคยรวมกลุ่มปลูกกาแฟด้วยกัน จากกว่า 100 คน ก็ยังลดเหลือเพียง 10 คนเท่านั้น
ซึ่งเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้กาแฟมณีพฤกษ์ขายไม่ออก แม้ว่าจะมีคุณภาพดี ก็เป็นเพราะ ขาดการทำการตลาด และการสื่อสาร
เพราะไม่มีใครรู้ว่า ดอยมณีพฤกษ์คือที่ไหน และทำไมเขาต้องมาซื้อเมล็ดกาแฟจากที่นี่
ดังนั้นคุณวิชัยจึงแก้ปัญหาด้วยการปั้นแบรนด์ Specialty Coffee ของหมู่บ้าน ชื่อ “กาแฟเดอม้ง” ขึ้นในปี 2558 พร้อมกับทำการตลาด และสื่อสารให้คนภายนอกรับรู้ถึงคุณภาพของกาแฟมณีพฤกษ์
ซึ่งในเวลาต่อมา กาแฟมณีพฤกษ์ ก็เริ่มมีชื่อเสียงในหมู่บาริสตา เพราะมีบาริสตาหลายคน นำกาแฟเดอม้งไปใช้ประกวด และได้รับรางวัลกลับมา
แต่จุดเริ่มต้นที่ทำให้ กาแฟเดอม้ง เป็นที่รู้จักในวงการกาแฟจริง ๆ คือ ตอนปี 2563
เมื่อคุณวิชัยส่งเมล็ดกาแฟมณีพฤกษ์ เข้าประกวด “สุดยอดเมล็ดกาแฟไทย” ที่จัดโดยสมาคมกาแฟพิเศษไทย (SCATH) และคว้ารางวัลที่ 3 ในประเภท Honey Process มาครอง
ตั้งแต่นั้นมา คุณวิชัยก็ส่งเมล็ดกาแฟเข้าประกวด รายการใหญ่ระดับประเทศทุกปี ทั้งของ SCATH และรายการ “Thai Coffee Excellence” ที่จัดโดยกรมวิชาการเกษตร
ซึ่งก็คว้ารางวัลที่ 1, 2, 3 ของประเทศอยู่เรื่อยมา และนั่นทำให้ชื่อแบรนด์ “กาแฟเดอม้ง” โด่งดังคุ้นหูคอกาแฟไทย
นอกจาก รางวัลที่การันตีคุณภาพแล้ว
ปัจจัยที่ทำให้กาแฟดอยมณีพฤกษ์ กลายเป็นเมล็ดกาแฟคุณภาพ จนมี “ราคาสูงที่สุดในไทย” ก็ยังประกอบด้วย
ปัจจัยเรื่อง “สภาพอากาศ”
ที่ดอยมณีพฤกษ์ มีป่าที่อากาศหนาวทั้งปี แสงแดดน้อย และความชื้นสูง ทำให้ผลกาแฟค่อย ๆ สุก และมีเวลาสะสมธาตุอาหารนานกว่า กาแฟที่สุกฉ่ำอย่างรวดเร็ว จึงมีกลิ่นและรสชาติที่ดีกว่า
และปัจจัยที่ 2 คือ “ดิน”
บริเวณดอยมณีพฤกษ์ เคยเป็นภูเขาไฟมาก่อน ทำให้ดินที่นั่น มีธาตุโพแทสเซียมสูง ช่วยให้ผลกาแฟหวานและสมบูรณ์
นอกเหนือจาก ของขวัญที่ธรรมชาติให้มาแล้ว
ปัจจัยสำคัญอีกอย่าง ก็คือ การที่ชาวบ้าน “ดูแล” ต้นกาแฟเป็นอย่างดี
โดยพวกเขาจะทำปุ๋ยหมักจากเปลือกกาแฟ
และเลือกทำเลปลูกที่เหมาะสมกับกาแฟแต่ละสายพันธุ์ เพราะความชื้นในป่าแต่ละโซน จะสูงและต่ำไม่เท่ากัน
ส่วนขั้นตอนการแปรรูปกาแฟ
คุณวิชัยก็ได้เพิ่มรายละเอียด ด้วยการหมักยีสต์ หรือ “Yeast Fermentation”
ซึ่งจะมีการเพาะยีสต์ธรรมชาติ ที่เหมาะกับการหมักกาแฟ ทำให้เกิดรสชาติและกลิ่นที่ซับซ้อน คล้ายดอกไม้ ผลไม้ หรือชา และมีรสชาติค้างในปากนานขึ้น
แต่ไม่เพียงแค่ กาแฟมณีพฤกษ์ จะประสบความสำเร็จ ในฐานะกาแฟคุณภาพเท่านั้น
เพราะหลังจากที่ ชาวบ้านคนอื่น ๆ เห็นว่า กาแฟมณีพฤกษ์ สามารถขายได้ราคาดี พวกเขาก็กลับมาปลูกกาแฟกันมากขึ้น จนถึงขนาดที่บางรายลงทุนปลูกป่า เพื่อที่จะได้ปลูกกาแฟอีกด้วย
โดยปัจจุบัน ในหมู่บ้านมณีพฤกษ์ มีสวนกาแฟที่สามารถให้ผลผลิตได้แล้วกว่า 150 สวน และใน 1 ปีจะให้ผลผลิตรวมกว่า 10,000 กิโลกรัม ซึ่งก็ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาด
และแม้ว่ากาแฟมณีพฤกษ์ จะประสบความสำเร็จอย่างมากในตอนนี้
แต่คุณวิชัย บอกกับเราว่า ยังไม่อยากใช้คำว่า กาแฟมณีพฤกษ์เป็นกาแฟที่ดีที่สุดในไทย
เพราะเขาเชื่อว่า สำหรับ Specialty Coffee ในไทยตอนนี้ ยังมีพื้นที่ให้เรียนรู้ และพัฒนาให้ดีได้มากกว่านี้อีกเยอะ รวมถึงในไทยก็ยังมีผู้ผลิตอีกมาก ที่ตั้งใจผลิตเมล็ดกาแฟให้ออกมาดีไม่แพ้กัน
ดังนั้น คุณวิชัยจึงมองว่า เขาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวงการกาแฟไทยที่กำลังเติบโต ซึ่งเขาก็แค่ตั้งใจทำงานในส่วนของตัวเองให้เต็มที่ที่สุด
และที่สำคัญ คือ หากเราอยากให้คนอื่น เห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ ตัวเราเองนี่แหละ ที่จะต้องให้คุณค่ากับมันเสียก่อน..
Reference:
-สัมภาษณ์พิเศษกับ คุณวิชัย กำเนิดมงคล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กาแฟเดอม้ง บ้านมณีพฤกษ์ จังหวัดน่าน
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.