ทำไม ไม้กฤษณา ถึงเป็นสินค้าราคาสูง ตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน
Business

ทำไม ไม้กฤษณา ถึงเป็นสินค้าราคาสูง ตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน

9 พ.ย. 2022
ทำไม ไม้กฤษณา ถึงเป็นสินค้าราคาสูง ตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน /โดย ลงทุนเกิร์ล
เชื่อหรือไม่ว่า “ไม้กฤษณา” อาจมีราคาสูงกว่า “ทองคำ”
โดย ทองคำ 1 กิโลกรัม มีมูลค่าอยู่ที่ 2.2 ล้านบาท
ส่วน ไม้กฤษณาคุณภาพเยี่ยม จะมีราคาสูงถึง 3.8 ล้านบาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าสูงกว่า ทองคำเกือบ 1 เท่าตัวเลยทีเดียว
นี่จึงไม่แปลกนัก ที่ไม้กฤษณาได้สมญานามว่า “ไม้ของพระเจ้า”
ซึ่งในสมัยอยุธยา ไม้กฤษณาเคยเป็นเครื่องราชบรรณาการที่ส่งให้กับแคว้นมหาอำนาจอื่น ๆ
รวมถึงยังเป็นสินค้าส่งออกยอดนิยม ที่ทั้งจีน, ญี่ปุ่น, อาหรับ, อินเดีย, โปรตุเกส และฮอลันดา ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงอยุธยา
แล้วทำไม ไม้กฤษณา ถึงมีราคาสูง ตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ไม้กฤษณา เป็นไม้พื้นถิ่นแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความพิเศษของมัน อยู่ที่ “กลิ่นหอม” อันเป็นเอกลักษณ์
ซึ่งมาจากยาง หรือ “สารกฤษณา” ที่แทรกอยู่ในเนื้อไม้
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ไม้กฤษณา กลายเป็นวัตถุดิบสำคัญ ในหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่ น้ำหอม, ยา, ความงาม และพิธีกรรมทางศาสนา
โดย Business Insider ได้รายงานว่า
ในปี 2020 ตลาดไม้กฤษณาทั่วโลก มีมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท
และยังคาดว่า จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว
หรือคิดเป็นมูลค่า 2.4 ล้านล้านบาท ภายในปี 2029
ไม้กฤษณานับเป็นไม้เศรษฐกิจ ประจำภูมิภาคอาเซียน ที่มีประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ๆ ได้แก่ เวียดนาม, อินโดนีเซีย, ลาว และไทย โดยมีสิงคโปร์และมาเลเซีย เป็นศูนย์กลางในการซื้อขายไม้กฤษณาของโลก
ส่วนประเทศที่นำเข้าไม้กฤษณามากที่สุด คือ
ประเทศแถบตะวันออกกลาง อย่าง
ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต
ซึ่งจะนิยมนำน้ำมันกฤษณา มาประกอบในพิธีกรรมต่าง ๆ รวมทั้งใช้ทา เพื่อป้องกันไรทะเลทราย
และรองลงมาจะเป็นประเทศแถบ “ยุโรป”
มักจะนำสารกฤษณา ไปสกัดเป็น “หัวเชื้อน้ำหอม” ในหลายแบรนด์ดัง เช่น
น้ำหอม Louis Vuitton กลิ่น Ombre Nomade
น้ำหอม Christian Dior กลิ่น Oud Ispahan
น้ำหอม Jo Malone กลิ่น Oud & Bergamot Cologne
น้ำหอม Tom Ford กลิ่น Oud Wood
ส่วนในเอเชีย อย่าง ญี่ปุ่น และไต้หวัน
ก็มีการนำเข้าไม้กฤษณาเช่นกัน
โดยจะนิยมนำไปเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง
แล้วสงสัยกันไหมว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ ไม้กฤษณา มีราคาสูง ?
ปัจจัยแรก คือ อุปทานของไม้กฤษณานั้นต่ำมาก เมื่อเทียบกับอุปสงค์
ต้นกฤษณาในธรรมชาติ เหลืออยู่น้อยมาก
โดยจากการสำรวจ พบว่า ป่าแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เคยมีต้นกฤษณาอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่ถึง 10%
แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ ในจำนวนไม่ถึง 10% นี้ ไม่ใช่ทุกต้นที่จะมีสารกฤษณา เนื่องจากสารกฤษณานั้น เกิดมาจากต้นกฤษณาที่ไม่สมบูรณ์
เมื่อเกิดบาดแผลบนเนื้อไม้กฤษณา ไม่ว่าจะเกิดจากการขูด-เสียดสี หรือจากสัตว์ มันจะสร้างสารเคมีออกมาเพื่อสมานแผล ซึ่งนั่นทำให้เกิดยางไม้ หรือ สารกฤษณา
และยิ่งแผล เกิดมานาน ก็จะยิ่งมีสารกฤษณามาก จนเนื้อไม้มีสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ทำให้ราคายิ่งสูงตามไปด้วย
เนื่องจากกระบวนการนี้ต้องใช้เวลา
และสารกฤษณาที่เกิดขึ้น รอบแผลมักจะเป็นแถบแคบ ๆ แค่ 1-2 มิลลิเมตรเท่านั้น
ปัจจัยถัดมา ก็คือ กรรมวิธีที่จะได้มาซึ่งสารกฤษณานั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะหลังจาก พบต้นกฤษณาที่มีสารกฤษณาแล้ว
ก็ต้องนำไม้มาแงะ แล้วขูดอย่างละเอียดและพิถีพิถัน
เพื่อนำเนื้อไม้ส่วนที่มีสารกฤษณาที่สีเข้มกว่า แยกออกมา
เนื่องจากสารกฤษณากระจายอยู่ในเนื้อไม้ เฉพาะบริเวณที่เป็นแผล จึงต้องใช้แรงงานคน และไม่สามารถใช้เครื่องจักรทุ่นแรงได้
และถึงแม้ว่า จะมียางไม้หอมบางชนิดอย่าง มดยอบ หรือ ไม้จันทน์ และสารสังเคราะห์อย่าง Oud Synthetic 10760 E (Firmenich) ที่ว่ากันว่ามีกลิ่นคล้ายกับไม้กฤษณา แต่กลิ่นที่หอมติดทนนาน และเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ไม่มีสิ่งไหน สามารถทดแทนกลิ่นของไม้กฤษณาได้ 100%
อย่างไรก็ตาม เพราะราคาที่สูงและอุปทานที่ต่ำ ทำให้ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้คนปลูกต้นกฤษณากันมากขึ้น
อย่างในไทยก็ได้ทำการปลดล็อกไม้กฤษณา เมื่อปี 2561
ซึ่งจะอนุญาตให้ปลูกในที่ดินส่วนบุคคลได้ หลังจากที่เคยเป็นไม้ป่าหวงห้ามมานาน
นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยเพื่อหาเทคนิค ที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดสารกฤษณา ตั้งแต่ การจงใจทำให้เนื้อไม้เป็นแผล ด้วยการขูดหรือเจาะรู ไปจนถึงการฉีดสารเคมี และเชื้อราบางชนิดเข้าไปในเนื้อไม้
ส่วนราคาของไม้กฤษณาสวน
จะเริ่มตั้งแต่กิโลกรัมละ 500,000-2,500,000 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพ
เมื่ออ่านมาจนถึงตรงนี้
เราอาจสรุปได้สั้น ๆ ว่า เหตุผลที่ทำให้ในสายตาของมนุษย์มอง “ไม้กฤษณา” เป็นของล้ำค่า มาตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี ก็เพราะคุณสมบัติที่หลากหลายของมัน และกลิ่นอันชวนหลงใหล ที่ยากจะเลียนแบบ
และที่สำคัญ ก็คือ ยิ่งมันหายากเท่าไร
มันก็ยิ่งกลายเป็น แรร์ไอเทม ที่ชวนให้หลายคนอยากลอง อยากครอบครองดูสักครั้ง..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.