ช้อปดี แต่อาจไม่มีคืน ถ้าไม่เข้าใจ 3 เงื่อนไขนี้
Business

ช้อปดี แต่อาจไม่มีคืน ถ้าไม่เข้าใจ 3 เงื่อนไขนี้

23 ม.ค. 2023
ช้อปดี แต่อาจไม่มีคืน ถ้าไม่เข้าใจ 3 เงื่อนไขนี้ /โดย ลงทุนเกิร์ล
ก่อนที่จะรีบออกไปช็อป เพื่อหวังลดหย่อนภาษี จากโครงการช้อปดีมีคืน 2566 เราลองมาทำความเข้าใจเงื่อนไขกันสักเล็กน้อย
เพราะถ้าหากเข้าใจผิด หรือไม่ได้ทำตามเงื่อนไข เงินที่ช็อปไปแล้วอาจใช้สิทธิลดหย่อนภาษีไม่ได้แบบที่หวัง
แล้วมีเรื่องอะไรบ้างที่เราควรรู้ ?
ลงทุนเกิร์ลจะสรุปให้ฟัง
ก่อนอื่นต้องบอกว่า “ช้อปดีมีคืน 2566” เป็นโครงการที่เราจะเอาไปใช้ลดหย่อนภาษีของปี 2566 หรืออธิบายแบบง่าย ๆ คือ เราที่ช็อปกันตอนนี้ จะได้เอาไปใช้สิทธิลดหย่อนจริง ๆ คือ ตอนที่เราจะยื่นภาษี ในช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม ปี 2567
ซึ่งโครงการกำหนดไว้ว่า ยอดสินค้าและบริการที่เราซื้อได้สูงสุด อยู่ที่ 40,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)
ทว่า สำหรับคนที่อยากได้สิทธิลดหย่อนภาษีในปีภาษี 2566 ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า
-ช็อป 40,000 บาท ไม่เท่ากับ ได้เงินคืน 40,000 บาท
-ถ้าอยากใช้สิทธิ์เต็ม 40,000 บาท ต้องขอใบกำกับภาษี แบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice/e-Receipt)
-ช็อปเพื่อลดหย่อนภาษี ไม่ใช่ซื้ออะไรก็ได้ และต้องซื้อภายในช่วงเวลาที่กำหนดเท่านั้น
ทีนี้เราไปดูกันว่า แต่ละเงื่อนไขมีรายละเอียดอย่างไร ?
เริ่มต้นที่ เงื่อนไขการลดหย่อนภาษี
หลายคนอาจมีความเข้าใจผิด ๆ ว่าช็อปไปเท่าไร ก็จะได้เงินคืนตามจำนวนที่ช็อปเลย
เช่น ช้อปดีมีคืนไป 40,000 บาท ก็จะได้คืนภาษี 40,000 บาท
แต่ในความเป็นจริงแล้ว จะได้ลดหย่อนมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ “เงินได้สุทธิ” ของแต่ละคน ซึ่งมีเกณฑ์ ดังนี้
เงินได้สุทธิ 0 - 150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี ลดหย่อนได้ 0 บาท
เงินได้สุทธิ 150,001 - 300,000 บาท อัตราภาษี 5% ลดหย่อนได้สูงสุด 2,000 บาท
เงินได้สุทธิ 300,001 - 500,000 บาท อัตราภาษี 10% ลดหย่อนได้สูงสุด 4,000 บาท
เงินได้สุทธิ 500,001 - 750,000 บาท อัตราภาษี 15% ลดหย่อนได้สูงสุด 6,000 บาท
เงินได้สุทธิ 750,001 - 1,000,000 บาท อัตราภาษี 20% ลดหย่อนได้สูงสุด 8,000 บาท
เงินได้สุทธิ 1,000,001 - 2,000,000 บาท อัตราภาษี 25% ลดหย่อนได้สูงสุด 10,000 บาท
เงินได้สุทธิ 2,000,000 - 5,000,000 บาท อัตราภาษี 30% ลดหย่อนได้สูงสุด 12,000 บาท
เงินได้สุทธิ 5,000,000 บาท ขึ้นไป อัตราภาษี 35% ลดหย่อนได้สูงสุด 14,000 บาท
*สำหรับใครที่อยากรู้ว่า เงินได้สุทธิ คืออะไร สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.longtungirl.com/9297
ตัวอย่าง
คุณ A มีเงินได้สุทธิ 350,000 บาท อัตราภาษี 10%
คุณ B มีเงินได้สุทธิ 130,000 บาท อัตราภาษี 0%
โดยทั้งสองคนซื้อสินค้า เพื่อใช้สิทธิ์ช้อปดีมีคืน คนละ 40,000 บาทเท่ากัน
ดังนั้น คุณ A ก็จะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 10% ของจำนวนเงินที่ช็อปไป 40,000 บาท นั่นคือ 4,000 บาท
หรือพูดแบบง่าย ๆ ก็คือ คุณ A ซื้อของไป 40,000 บาท แต่จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีเพียง 4,000 บาท
ส่วนคุณ B มีเงินได้สุทธิในระดับไม่เกิน 150,000 บาท เสียภาษี 0%
ดังนั้น เขาจะไม่ได้รับการลดหย่อนภาษี
เพราะอยู่ในเกณฑ์ได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้วนั่นเอง
ดังนั้น ถ้าคิดจะช็อปโดยมีเป้าหมาย เพื่อลดหย่อนภาษีให้ได้มากขึ้น ก็อย่าลืมเช็กเรื่อง “เงินได้สุทธิ” ของตัวเองก่อนว่าอยู่ในระดับที่ต้องเสียภาษีมากหรือน้อย
เพราะในกรณีที่ได้ยกเว้นภาษีอยู่แล้ว เงินที่ช็อปไป ก็ไม่ได้ช่วยให้ลดหย่อนภาษีได้มากขึ้นเลย
เรื่องต่อมาที่จะพลาดไม่ได้ คือ “ใบกำกับภาษี” ต้องเป็นไปตามที่กำหนดเท่านั้น
การขอใบกำกับภาษี สำหรับใช้ในโครงการช้อปดีมีคืนปี 2566 มีการกำหนดเอาไว้ว่า
-จำนวน 30,000 บาท จะออกเป็นใบกำกับภาษีแบบกระดาษ หรือใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice/e-Receipt) ก็ได้
-ส่วนอีก 10,000 บาท จะต้องเป็นใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice/e-Receipt) เท่านั้น
โดยสามารถทำความรู้จักกับ e-Tax Invoice/e-Receipt และเอกสารที่เข้าเกณฑ์ช้อปดีมีคืนได้ที่ https://bit.ly/3XlpCsB
หมายความว่าถ้าช็อป 40,000 บาท แล้วขอเป็นเอกสารแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีสูงสุด 40,000 บาทได้เลย
แต่ถ้าซื้อ 40,000 บาท แต่ได้เอกสารแบบกระดาษมาทั้งหมด
เราจะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดเพียง 30,000 บาทเท่านั้น
เพราะฉะนั้นก่อนช็อป อย่าลืมวางแผนให้ดีว่าจะขอเอกสารแบบไหน หรือร้านที่เราจะไปซื้อสินค้าและบริการนั้น ๆ สามารถออกใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้หรือไม่
โดยสามารถเช็กรายชื่อผู้ให้บริการที่สามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ https://bit.ly/3XfQjPo (เลือกหัวข้อ “ผู้ได้รับอนุมัติ”)
และสุดท้าย เงื่อนไขสำคัญอีกข้อคือ ต้องซื้อสินค้าหรือบริการ ตามเงื่อนไขและภายในระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้น
สำหรับสินค้าที่ตรงเงื่อนไขช้อปดีมีคืน ได้แก่
-สินค้า และบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
-หนังสือ และ E-book
-สินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนแล้ว
-ค่าเติมน้ำมัน ซึ่งจะต้องมาจากสถานีบริการน้ำมันที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และออกใบกำกับภาษีได้
ทั้งนี้ เราสามารถเช็กรายการสินค้าและบริการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีในโครงการช้อปดีมีคืนได้ที่ https://bit.ly/3wbQmji
ที่สำคัญที่สุด คือ เราจะต้องซื้อสินค้าภายในวันที่ 1 ม.ค. - 15 ก.พ. 66 เท่านั้น หากเกินระยะเวลาที่กำหนดต่อให้มีเอกสารครบถ้วนก็ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อยู่ดี
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ใครที่คำนวณออกมาแล้วเงินได้สุทธิยังสูง และต้องการหาตัวช่วยลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมแถมมีแผนที่จะซื้อของนั้น ๆ อยู่แล้ว ก็อย่าลืมรีบใช้สิทธิ์ภายใน 15 ก.พ. นี้ และขอใบกำกับภาษีให้ถูกต้องครบถ้วนตามเงื่อนไข จะสามารถลดหย่อนภาษีไปได้เต็ม ๆ
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.