ทำไม “สนามบิน” ถึงกลายเป็น “รันเวย์” ขับเคลื่อนแฟชั่น ให้แบรนด์ดัง
Business

ทำไม “สนามบิน” ถึงกลายเป็น “รันเวย์” ขับเคลื่อนแฟชั่น ให้แบรนด์ดัง

22 ก.ย. 2023
ทำไม “สนามบิน” ถึงกลายเป็น “รันเวย์” ขับเคลื่อนแฟชั่น ให้แบรนด์ดัง /โดย ลงทุนเกิร์ล
หาก “แอสการ์ดไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นผู้คน”
สำหรับบางคน “สนามบินเองก็คงไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นรันเวย์แฟชั่นขนาดย่อม”
เพราะบ่อยครั้ง เหล่าคนมีชื่อเสียงหรือศิลปินระดับโลกหลาย ๆ คน ก็ให้ความสำคัญกับการแต่งตัวเป็นพิเศษ แม้เวลาเดินทางไปสนามบิน เสมือนเป็นรันเวย์แฟชั่น จนเกิดเป็นลุค "แฟชั่นสนามบิน"
ซึ่งถ้าพูดถึงแฟชั่นสนามบิน ภาพจำแรกที่ผุดออกมาในหัวใครหลายคน คงหนีไม่พ้น แฟชั่นสนามบินของศิลปินและไอดอล K-POP ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นพลังขับเคลื่อน เทรนด์แฟชั่นให้กับแบรนด์ดัง ๆ มากมาย
แล้วเคยสงสัยไหมว่า อะไรคือจุดเริ่มต้นของแฟชั่นสนามบิน ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปในช่วงปลายปี 1930 ซึ่งเป็นยุคแรก ๆ ที่การบินเชิงพาณิชย์ สำหรับขนส่งผู้โดยสาร เริ่มมีการพัฒนา
อย่างไรก็ตาม การเดินทางข้ามเมืองหรือประเทศด้วยเครื่องบิน มีราคาค่าโดยสารที่สูง จึงจำกัดอยู่แค่ในกลุ่มของคนรวย นักธุรกิจ ดารา หรือนักการเมือง
ทำให้การเดินทางด้วยเครื่องบินในสมัยนั้น เป็นสิ่งที่สะท้อนถึง “ฐานะทางสังคม” และทำให้เกิดภาพจำของผู้คนที่มาใช้บริการสนามบิน ว่ามักจะแต่งตัวมีระดับ แลดูไฮแฟชั่น
ขณะเดียวกัน เมื่อวัฒนธรรมปาปารัสซี เริ่มเข้ามามีบทบาทในสื่อสังคม และแวดวงบันเทิง ก็ส่งผลให้ภาพถ่ายของดาราและคนมีชื่อเสียง ก็เริ่มกลายเป็นที่ต้องการมากขึ้น ในบรรดาธุรกิจสื่อต่าง ๆ
ขณะเดียวกัน เมื่อวัฒนธรรมปาปารัสซี การตามถ่ายดาราและคนมีชื่อเสียง มีบทบาทมากขึ้นในสื่อสังคมและวงการบันเทิง
ก็ส่งผลให้ ดาราและคนมีชื่อเสียงที่เป็นเป้าสายตาของสื่อ ให้ความสำคัญกับการแต่งตัวมากขึ้น ในทุกครั้งที่พวกเขาต้องเดินทางไปปรากฏตัวในที่สาธารณะ อย่างสนามบิน
เพราะในอีกมุมหนึ่ง แฟชั่นก็เปรียบเสมือนกระจกที่สะท้อนภาพลักษณ์ สไตล์ และตัวตนของพวกเขา ท่ามกลางสาธารณชน และเหล่าแฟนคลับที่คอยติดตามผลงาน
เมื่อสื่อและภาพถ่ายตามสนามบินของคนดัง ๆ เริ่มถูกผลิตและนำมาเผยแพร่มากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงผู้คนและแฟนคลับเอง ต่างก็ให้ความสนใจกับสื่อในลักษณะนี้
ทำให้ธุรกิจสื่อดังน้อยใหญ่ ด้านแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ เช่น Vogue, GQ, ELLE, W magazine, Fashion Magazine ต่างผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับเทรนด์การแต่งตัวสไตล์ “Airport Style” หรือแฟชั่นสนามบินของดาราและคนดัง เพื่ออัปเดตเทรนด์แฟชั่นที่กำลังมาแรงในเวลานั้น มานำเสนอมากขึ้นตามไปด้วย
อีกทั้งแฟชั่นสนามบินยังเปรียบเสมือน เครื่องมือโปรโมตสินค้าชั้นดีของแบรนด์ต่าง ๆ ผ่านบุคคลที่มีชื่อเสียง
อย่างไรก็ตาม แม้แฟชั่นสนามบิน จะมีต้นกำเนิดมาจากโลกตะวันตก แต่สำหรับฝั่งเอเชียเอง ก็ไม่น้อยหน้า แถมยังร้อนแรงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะ “แฟชั่นที่สนามบินอินชอน” ของศิลปินและไอดอลเกาหลี K-POP
แล้วอะไรทำให้แฟชั่นสนามบินในวงการ K-POP เริ่มเป็นที่นิยม ?
-สนามบินเป็นสถานที่ ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินได้เจอกับสื่อและแฟนคลับ
เป็นที่รู้กันดีว่าศิลปิน K-POP เวลาเดินทางบินไปออกงานในต่างประเทศ จะมีเหล่าแฟนคลับ รวมถึงสื่อต่าง ๆ คอยตามไปรับ-ส่ง และเก็บภาพศิลปิน ที่สนามบินแทบทุกครั้ง
ดังนั้น ต้นสังกัดและศิลปินจึงจำเป็นต้องรักษาภาพลักษณ์ และดูแลเรื่องการแต่งตัวให้ดี เพื่อสร้างการจดจำและความประทับใจ สุดท้ายจึงเกิดเป็นค่านิยมแฟชั่นสนามบิน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
-การมีภาพลักษณ์ที่ดีของศิลปิน = การเพิ่มโอกาสระดับโกลบอล
สืบเนื่องจากข้อแรก เมื่อภาพที่ถูกสื่อหรือแฟนคลับนำเสนอออกไป กลายเป็นที่พูดถึงในโลกโซเชียลมีเดีย และบ่อยครั้งที่ไอเทมแฟชั่นที่พวกเขาสวมใส่ มักกลายเป็นกระแสไวรัล จนผู้คนแห่ไปซื้อสินค้าตามกัน
รวมถึงค่านิยมการแต่งตัวหรือใช้สินค้าเลียนแบบศิลปินไอดอล เพื่อนำไปสู่การยอมรับ และเป็นส่วนหนึ่งทางสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มแฟนคลับด้วยกันเอง
ซึ่งสุดท้ายคะแนนความนิยมของศิลปิน ความภักดี และฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่น ก็จะกลายเป็นโอกาส นำศิลปินไปเตะตาแบรนด์ดังระดับโลก ที่ล้วนมองหาลู่ทางขยายฐานผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ๆ
ประกอบกับอิทธิพลซอฟต์พาวเวอร์อย่าง “Korean Wave” ที่ยังคงความนิยมไม่มีแผ่ว ทำให้ศิลปิน K-POP หลาย ๆ คน เข้ามาครองตำแหน่งแบรนด์แอมบาสเดอร์ ในวงการแฟชั่นระดับโลก เช่น 4 สาววง BLACKPINK-เจนนี เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ Chanel
-ลิซ่า เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ Celine, Bulgari
-จีซู เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ Dior, Cartier
-โรเซ เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ Tiffany & Co., Saint Laurent
ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า เมื่อสาว ๆ เซ็นสัญญาภายใต้แบรนด์ดังเหล่านี้ ก็เริ่มส่งผลต่อสไตล์การแต่งตัว บ่อยครั้งที่เรามักจะเห็นพวกเธอสวมใส่เสื้อผ้าและไอเทมของแบรนด์ ซึ่งก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่ 4 สาวสวมใส่สินค้าของแบรนด์ มันก็คือการดึงดูดให้ฐานแฟนคลับ หันมาสนใจตัวแบรนด์มากขึ้น ถือเป็นการตอกย้ำการจดจำของแบรนด์ ได้แบบแยบยล
รวมถึงยังเป็นโอกาสให้กับแบรนด์ ได้โฆษณาสินค้าของตนเองแบบอ้อม ๆ เวลาที่พวกไอดอลต้องไปปรากฏตัวในที่สาธารณะ อย่าง “สนามบิน” หนึ่งในพื้นที่สื่อที่จะช่วยโปรโมตสินค้า
ดังนั้นหากจะบอกว่า เทรนด์แฟชั่นสนามบิน มีไว้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับศิลปิน ดารา หรือคนมีชื่อเสียง เวลาออกหน้าสื่อเพียงอย่างเดียว ก็คงจะไม่ถูกต้องนัก
เพราะอย่างที่เราเห็นกันแล้วว่า ภาพลักษณ์ที่ดีของคนดัง ก็สามารถสร้างไวรัลบนโลกออนไลน์ได้ ที่สำคัญยังเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสร้างมูลค่าทางธุรกิจให้กับแบรนด์ดัง ๆ ได้อยู่ไม่น้อย..
---------------------------------------------
Presented by กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป (TANACHIRA) เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ แฟชั่นแบรนด์ชั้นนำจากต่างประเทศได้แก่ Pandora (แพนดอร่า), Marimekko (มารีเมกโกะ), Cath Kidston (แคท คิดสตัน) และเจ้าของผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลผิวพรรณ สปาแบบองค์รวมรายแรกในไทยภายใต้แบรนด์ HARNN (หาญ), VUUDH (วุฒิ), HARNN Heritage Spa (หาญ เฮอริเทจสปา) และ SCape by HARNN (เอสเคป บาย หาญ) มีสาขาอยู่ทั่วประเทศและในภูมิภาคกว่า 165 สาขา ภายใต้แนวคิด “Bring the Best of the Brand to the Best of Thailand”
https://www.facebook.com/TANACHIRA-GROUP-174055739828807/
#TANACHIRA
---------------------------------------------
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.