The Chocolate Factory ร้านขนม 200 ล้าน ที่ใช้กลยุทธ์ความแตกต่าง
Business

The Chocolate Factory ร้านขนม 200 ล้าน ที่ใช้กลยุทธ์ความแตกต่าง

22 ธ.ค. 2020
The Chocolate Factory ร้านขนม 200 ล้าน ที่ใช้กลยุทธ์ความแตกต่าง /โดย ลงทุนเกิร์ล
ถ้าอยากจับกลุ่มสินค้าราคาพรีเมียม
คนทั่วไปอาจเลือกเริ่มต้นธุรกิจในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ
แล้วค่อยขยายไปสู่พื้นที่อื่นของประเทศ
แต่ร้าน The Chocolate Factory ไม่ได้คิดอย่างนั้น
เพราะร้านนี้ประสบความสำเร็จจากเขาใหญ่ พัทยา และหัวหิน ทำรายได้มากกว่า 200 ล้านบาท
จนคนกรุงเทพฯ ต้องพากันไปใช้บริการ ก่อนจะเริ่มก้าวเข้ามาทำตลาดในกรุงเทพฯ อย่างจริงจัง

แล้วเรื่องราวของ The Chocolate Factory น่าสนใจอย่างไร?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง

The Chocolate Factory ก่อตั้งขึ้นในปี 2556
โดยคุณน้ำหนึ่ง เอี่ยมเจริญยิ่ง และครอบครัว

จุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจขนมของคุณน้ำหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว
ซึ่งเธอมักจะใช้เวลาทำขนมร่วมกับพี่น้องอยู่บ่อยครั้ง

ดังนั้นคุณพ่อและคุณแม่ของเธอจึงได้ผลักดันให้เธอทำขนมเค้กไปวางขาย
และเปิดเป็นร้านขนมเล็กๆ ที่เขาใหญ่ อยู่ช่วงหนึ่ง โดยใช้ชื่อว่า “piece of cake”

ต่อมา คุณน้ำหนึ่ง ก็ได้ไปเรียนต่อที่อังกฤษ ด้านบัญชีและการเงิน ที่ University of Warwick
หลังเรียนจบ คุณน้ำหนึ่งก็กลับมายังประเทศไทย และเข้าทำงานที่ธนาคารเอกชนแห่งหนึ่ง

แต่ทว่าครอบครัวของคุณน้ำหนึ่งกลับอยากให้คุณน้ำหนึ่งมีธุรกิจเป็นของตัวเองมากกว่า

เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ คุณน้ำหนึ่งและครอบครัวจึงเริ่มวางแผนว่าร้านที่กำลังจะเปิดควรเป็นแบบไหน
พวกเขาจึงนึกย้อนกลับไปในขณะที่คุณน้ำหนึ่ง และพี่น้องเรียนอยู่ที่ต่างประเทศ

โดยเฉพาะเวลาที่คุณพ่อและคุณแม่ของเธอแวะไปเยี่ยม
และทั้งครอบครัวได้ขับรถท่องเที่ยวในยุโรปด้วยกัน
ทำให้คุณน้ำหนึ่งได้เห็นธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ร้านคราฟต์ช็อกโกแลต”

ยิ่งในสวิตเซอร์แลนด์ และเบลเยียม ก็จะมีร้านคราฟต์ช็อกโกแลตตั้งอยู่เรียงรายในทุกๆ เมือง
เสมือนกับร้านกาแฟที่ตั้งอยู่ทุกหัวมุมถนนของไทย

โดยในแต่ละร้านคราฟต์ช็อกโกแลต จะไม่ใช่แค่การรับช็อกโกแลตจากโรงงานมาวางขาย เหมือนตามซูเปอร์มาร์เกต ซึ่งส่วนใหญ่ช็อกโกแลตเหล่านั้น จะมีส่วนผสมหลักคือ น้ำตาล

แต่สำหรับร้านคราฟต์ช็อกโกแลต จะเป็นช็อกโกแลตแท้ๆ และเน้นไปที่การชูรสชาติของช็อกโกแลต มากกว่าการเทน้ำตาลและส่วนผสมอื่น ซึ่งจะทำให้กลบรสของช็อกโกแลต

นอกจากนี้ร้านคราฟต์ช็อกโกแลต ยังมีโกโก้หรือช็อกโกแลตให้เลือกจากหลากหลายแหล่ง
และที่สำคัญ ช็อกโกแลตทุกชิ้น จะถูกผลิต และขึ้นรูป (Tempering) ด้วยมือ

ด้วยลักษณะของธุรกิจร้านคราฟต์ช็อกโกแลต ที่น่าสนใจ
และยังใหม่มากสำหรับประเทศไทยในสมัยนั้น ประกอบกับวัฒนธรรมการบริโภคช็อกโกแลตเริ่มแพร่หลายมาในเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น

คุณน้ำหนึ่งจึงเล็งเห็นว่าในอีกไม่ช้า กระแสนี้ย่อมจะเข้ามาในประเทศไทยเช่นกัน
ซึ่งเธอจึงกลับมาคิดทบทวน และให้คนในครอบครัวช่วยกันระดมสมอง
จนในที่สุดก็เกิดเป็นร้าน The Chocolate Factory

โดย The Chocolate Factory เปิดให้บริการครั้งแรกที่เขาใหญ่ ในปลายปี 2556

ซึ่งสาเหตุที่เลือกเปิดร้านที่นี่ก็เพราะ เขาใหญ่เป็นที่ซึ่งเธอมักจะใช้เวลาอยู่กับครอบครัว
คุณน้ำหนึ่ง จึงอยากให้ร้านนี้ เป็นสถานที่ เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้เวลากับครอบครัวเช่นกัน

The Chocolate Factory มาพร้อมกับคอนเซปต์ “คราฟต์ช็อกโกแลต” ที่มีช็อกโกแลตนำเข้าจากหลายประเทศมาให้ลูกค้าเลือก
พร้อมกับการทำครัวแบบใส เพื่อให้ลูกค้าสามารถมองเห็นขั้นตอนการทำช็อกโกแลต ราวกับหลุดเข้ามาในโรงงานช็อกโกแลตขนาดย่อม

นอกจากนี้ ทางร้านยังสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ
ได้ทดลองทำช็อกโกแลตด้วยตัวเองอีกด้วย

ในทางกลับกัน ถ้าหากเรามองย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว
ร้านสไตล์ The Chocolate Factory ยังเป็นอะไรที่ใหม่มากสำหรับประเทศไทย
ซึ่งนี่ถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับร้าน The Chocolate Factory พอสมควร
เพราะถ้าหากเปิดไปแล้วคนไทยไม่ชอบ หรือมีกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบค่อนข้างเล็ก ก็อาจทำให้ธุรกิจไม่สามารถไปต่อได้

แต่เหตุผลที่ทำให้คุณน้ำหนึ่งกล้าที่จะตัดสินใจทำธุรกิจนี้ ก็เป็นเพราะคุณน้ำหนึ่งอยากทำในสิ่งที่มีคนทำน้อย และอยากเป็นผู้บุกเบิก ถึงแม้ว่าการเดินในเส้นทางนี้อาจจะเหนื่อย แต่เธอก็มั่นใจในผลลัพธ์

ซึ่งสิ่งที่เธอคิด ดูเหมือนว่าจะมาได้ถูกทาง
เพราะในปีแรกที่เปิดร้าน The Chocolate Factory ที่เขาใหญ่
ร้านก็ได้รับการตอบรับดี เกินว่าที่คุณน้ำหนึ่งคิดไว้
ผู้คนต่างพากันมาใช้บริการจนเต็มร้าน และพูดกันปากต่อปาก
จนทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว

ปี 2557 รายได้ 29 ล้านบาท
ปี 2558 รายได้ 42 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 116 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 213 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 269 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 283 ล้านบาท

ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมานี้ รายได้ของบริษัทเติบโตเฉลี่ยถึง 58%

โดยหลังจากที่ร้านสาขาเขาใหญ่เริ่มมีชื่อเสียง
ก็ทำให้มีผู้คนจากจังหวัดอื่นๆ ติดต่อเข้ามาเพื่อเสนอพื้นที่ให้ไปเปิดร้าน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

เพราะกลุ่มลูกค้าหลักของ The Chocolate Factory
คือ “กลุ่มครอบครัว” และ “นักท่องเที่ยว”
จุดขายของร้านก็เป็นทั้ง ร้านขนม ของฝาก และอาหาร
จึงกลายเป็นแหล่งที่ลูกค้า จะซื้อขนมติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนที่รู้จัก

และเรื่องนี้ ก็ยังเป็นเหมือนการโฆษณาให้ร้านไปในตัว

ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา The Chocolate Factory
ก็เป็นแบรนด์ที่ไม่ค่อยได้ทำการตลาดมากนัก

ส่วนใหญ่จะแค่ เป็นการแนะนำให้ลูกค้าได้รู้จักตัวตนของร้าน และให้พวกเขาได้มาสัมผัสประสบการณ์ ซึ่งถ้าสินค้าและบริการดีจริง ลูกค้าก็จะทำหน้าที่เป็นคนโฆษณาให้กับร้านเอง

และในปีนี้ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวต้องเผชิญปัญหาอย่างหนักจาก COVID-19

แต่สำหรับ The Chocolate Factory ที่ก็พึ่งพาลูกค้านักท่องเที่ยวเป็นหลักเช่นกัน กลับไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก

เพราะแม้ว่าจะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ยังมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากกลุ่มคนไทยที่นิยมไปเที่ยวต่างประเทศ หันมาท่องเที่ยวในประเทศกันมากขึ้น
ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ก็ถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้ออีกด้วย จึงยิ่งส่งผลดีให้กับร้านมากขึ้นไปอีก

นอกจากนั้น The Chocolate Factory ยังใช้โอกาสนี้ ทำในสิ่งที่ต่างออกไป

นั่นก็คือ การเริ่มขยายสาขาเข้ามาในกรุงเทพฯ อย่างรวดเร็ว
ทั้งสาขา เมกาบางนา, แฟชั่นไอส์แลนด์ และเซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว

เมื่อสถานการณ์รอบๆ เปลี่ยน คุณน้ำหนึ่งจึงเลือกปรับโมเดลธุรกิจใหม่ไปด้วย
จากการตั้งสาขาสแตนด์อโลน ขนาดใหญ่ ที่มีพร้อมทั้งอาหารและขนม เป็นการเน้นเปิดสาขาแบบคาเฟ่เล็กๆ อยู่ตามห้างสำคัญในกรุงเทพฯ
เพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ และขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น

และยังเป็นการเพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้าในกรุงเทพฯ
สามารถมาใช้บริการได้โดยไม่ต้องรอไปถึงต่างจังหวัด

อ่านมาถึงตรงนี้ เรื่องราวของคุณน้ำหนึ่ง และ The Chocolate Factory
ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีสำหรับใครหลายๆ คน

เธอมองเห็นสิ่งที่เมืองไทยยังขาด นั่นก็คือร้านช็อกโกแลตที่มีการนำเสนอแบบใหม่ ไว้เป็นจุดแวะพักสำหรับนักท่องเที่ยว

วิธีคิดของเธอเป็นตัวอย่างของการหาสิ่งที่แตกต่าง หรือกลยุทธ์ที่เรียกว่า Differentiation ซึ่งถ้าความแตกต่างนี้มันตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคจริง มันก็จะสำเร็จเหมือน The Chocolate Factory..

Reference:
-สัมภาษณ์โดยตรงกับ The Chocolate Factory
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.