“ผักตบชวา กันกระแทก” จากตัวปัญหา สู่ ฮีโร่ ในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก
Business

“ผักตบชวา กันกระแทก” จากตัวปัญหา สู่ ฮีโร่ ในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก

11 ก.พ. 2021
“ผักตบชวา กันกระแทก” จากตัวปัญหา สู่ ฮีโร่ ในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ ในปีที่ผ่านมา รัฐต้องใช้เงินกว่า 67 ล้านบาท สำหรับซื้อเรือกำจัดผักตบชวาจำนวน 800 ลำ
และยังต้องใช้หน่วยงานรัฐกว่า 5 แห่งในการแก้ปัญหาผักตบชวา ซึ่งได้แก่
กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประธาน กรุงเทพมหานคร และกรมทรัพยากรน้ำ
โดยทั้ง 5 หน่วยงานนี้ ใช้งบประมาณการกำจัดผักตบชวาในปี 2559 สูงถึง 762 ล้านบาท
ดูเหมือนว่า ผักตบชวาต้นเล็กๆ พวกนี้ กำลังสร้างปัญหาอยู่ไม่น้อย
แล้วพอจะมีทางไหนที่จะแก้ปัญหานี้ได้บ้าง?
หนึ่งในคำตอบนั้น ก็อาจเป็น “ผักตบชวากันกระแทก” 
ที่นอกจากจะลดจำนวนผักตบชวาได้แล้ว ยังจะช่วยลดขยะจาก “พลาสติกกันกระแทก” ซึ่งกำลังเป็นปัญหาจากการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ ได้อีกด้วย..
จากเรื่องนี้ ลงทุนเกิร์ลได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณวศการ ทัพศาสตร์ หรือคุณเจ 
หนึ่งในเจ้าของแบรนด์ “ตบชวากันกระแทก” ซึ่งได้ส่งเคสธุรกิจนี้เข้ามาหาทางเพจ
ผักตบชวากันกระแทกคืออะไร?
แล้วเรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร? ลงทุนเกิร์ลจะแชร์ให้ฟัง
ผักตบชวากันกระแทก คือ ส่วนของก้านผักตบชวา
ที่ถูกนำมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ และตากจนแห้งสนิท
ซึ่งโครงสร้างของ “ก้าน” ผักตบชวา จะมีลักษณะเหมือนฟองน้ำ 
ที่มีรูเล็กๆ และสามารถซับแรงกระแทก และยืดหยุ่นได้ดี
โดยหนึ่งในแบรนด์แรกๆ ที่หันมาผลิตผักตบชวากันกระแทก ก็คือ “ตบชวากันกระแทก”
สำหรับแบรนด์ “ตบชวากันกระแทก” นั้นเกิดขึ้นในปี 2019
ซึ่งในขณะนั้นคุณเจ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ได้ทำอาชีพเสริมเป็นธุรกิจออนไลน์ 
เขาพบว่าในแต่ละวันจะต้องใช้พลาสติกกันกระแทก และเม็ดโฟมในการบรรจุพัสดุเยอะมาก แถมส่วนใหญ่ก็มักจะใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง
แต่ปัญหาคือ พลาสติกกันกระแทกพวกนี้ จะอยู่เป็นขยะบนโลกไปอีกนาน
และนานกว่าชั่วชีวิตของเราเสียอีก
ดังนั้นเขาจึงเริ่มหาวิธีที่จะมาลดปริมาณขยะเหล่านี้
ซึ่งเขาก็ได้พบว่า มีการนำผักตบชวามาแปรรูป เพื่อทำที่กันกระแทกอยู่ด้วย
เขาจึงได้เริ่มศึกษา และติดต่อไปยังชุมชนริมน้ำในกรุงเทพฯ 
เพื่อให้ช่วยกันแปรรูปผักตบชวากันกระแทก แต่ผลลัพธ์ก็ยังไม่ได้คืบหน้ามากนัก
จนกระทั่งเขาได้เดินทางไปนครปฐม และพบกับชุมชนในอำเภอบางเลน
ซึ่งที่นี่ ชาวบ้านจะนำผักตบชวามาแปรรูปเป็นกระเป๋าสาน และตะกร้าสานกันอยู่แต่เดิมแล้ว
คุณเจจึงเริ่มเข้าไปพูดคุย และตกลงกับชาวบ้านให้ช่วยผลิตผักตบชวากันกระแทกให้
โดยทางคุณเจ และผู้ร่วมก่อตั้งคนอื่นๆ จะเป็นผู้ทดลอง 
และหาวิธีแปรรูปผักตบชวา สำหรับนำไปกันกระแทก
แล้วค่อยสอนวิธีการแปรรูปทั้งหมดให้กับชาวบ้านในชุมชน
ซึ่งในช่วงแรกๆ ทางแบรนด์ก็จะส่งคนไปคอยควบคุมทุกกระบวนการแปรรูป
จนมั่นใจว่า ชาวบ้านจะทำได้ตรงตามมาตรฐานของแบรนด์ แล้วค่อยรับซื้อสินค้ามาจากชาวบ้านอีกที
ที่น่าสนใจคือ สินค้าผักตบชวากันกระแทกของแบรนด์นี้ ยังเป็นแบรนด์เดียวในไทยที่ได้ผ่านการทดสอบมาตรฐาน ISTA ว่ามีความสามารถในการกันกระแทก จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ทำให้มั่นใจได้ว่า คุณภาพในการกันกระแทกของผักตบชวา จะไม่ด้อยไปกว่าพลาสติกกันกระแทก
เมื่อผักตบชวาได้มาเจอกับคนที่เห็นคุณค่าของมันจริงๆ
เราจึงได้เห็นมุมมองดีๆ ที่เกิดขึ้น 
1. การกระจายรายได้
2. การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
3. การรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์
สำหรับเรื่อง “การกระจายรายได้”
โดยในตอนแรก แบรนด์ตบชวากันกระแทก จ้างผลิตผักตบชวากันกระแทกอยู่แค่ในชุมชนเดียว
แต่ต่อมา เมื่อยอดขายโตขึ้น ก็ได้ขยายกำลังการผลิตไปในอีก 3 ชุมชน ในจังหวัดสุพรรณบุรี
แม้ว่าข้อเสียของการจ้างหลายๆ ชุมชน คือ บางครั้งชาวบ้านอาจผลิตสินค้ามาไม่ตรงตามมาตรฐาน
แต่คุณเจก็ได้แก้ปัญหานี้ ด้วยการรับซื้อสินค้าไว้ แล้วนำไปใช้ในการเกษตรแทน
ซึ่งเขาก็จะเน้นย้ำกับชาวบ้านว่า เหตุผลที่รับซื้อเพราะไม่ต้องการให้เขาเหนื่อยฟรี เพราะคุณเจเชื่อว่าการที่เราดีกับเขา เขาก็จะดีกับเราเช่นกัน 
ส่วนฝั่งชาวบ้าน ก็ต้องพยายามทำให้สินค้ามีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน
เพราะถ้าสุดท้าย คุณเจไม่สามารถขายสินค้าให้กับลูกค้าได้
ชาวบ้านก็จะได้รับผลกระทบ จากการไม่มีรายได้เสริมเหมือนกัน
ดังนั้น ความสัมพันธ์นี้ จึงเป็นแบบน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า
ซึ่งเป็นเหมือนกลไกที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องช่วยพากันไปให้รอดนั่นเอง
ส่วนเรื่องที่ 2 อย่าง “สิ่งแวดล้อม” 
ผักตบชวากันกระแทก จะเข้ามาช่วยลดการใช้พลาสติก และเม็ดโฟมกันกระแทก
และยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีกหลายครั้งด้วย
ซึ่งความพิเศษอีกอย่างของแบรนด์ตบชวากันกระแทก คือ จะใส่สารป้องกันเชื้อรา “แบบฟู้ดเกรด” 
ทำให้สามารถนำไปทิ้งลงดินได้โดยไม่เป็นอันตราย และยังย่อยสลายในเวลาไม่นาน
แถมตัวผักตบชวากันกระแทก ยังสามารถมานำคลุมหน้าดิน 
เพื่อกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ในหน้าดินได้ด้วย
นอกจากนี้ การแปรรูปผักตบชวา ยังช่วยลดปริมาณผักตบชวาในแหล่งน้ำ และผลที่ตามมาก็คือ ช่วยลดภาระและงบประมาณของรัฐในการกำจัดผักตบชวา
และเรื่องสุดท้าย ก็คือ “รักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์” 
สำหรับแบรนด์ที่มีจุดยืนในเรื่องรักษ์โลก 
แต่เวลาส่งสินค้า กลับใช้พลาสติกหรือโฟมกันกระแทก 
ก็คงจะดูขัดแย้งกับจุดยืนของตัวเองไม่น้อย
แบรนด์เหล่านี้จึงเริ่มมองหาทางเลือกในการส่งสินค้าแบบที่ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 
ซึ่งแบรนด์ตบชวากันกระแทก ก็กลายเป็นหนึ่งในคำตอบของหลายๆ แบรนด์รักษ์โลกที่เปลี่ยนจากพลาสติก มาเป็นวัสดุที่กันกระแทกที่ยั่งยืนมากกว่า
เมื่ออ่านมาจนถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า 
แล้วราคาผักตบชวากันกระแทก จะแพงกว่า พลาสติกกันกระแทกหรือไม่?
เราคงไม่สามารถเปรียบเทียบราคากันได้โดยตรง
เพราะพลาสติกกันกระแทกจะขายตามความยาว แต่สำหรับผักตบชวากันกระแทกจะคิดราคาตามน้ำหนัก
ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้มีการใช้งานที่แตกต่างกันตรงที่ ปริมาณการใช้งานของพลาสติกกันกระแทกจะขึ้นอยู่กับสิ่งของที่เราต้องการห่อ แต่ปริมาณการใช้ผักตบชวากันกระแทกจะขึ้นอยู่กับ “ขนาดของกล่องพัสดุ”
เพราะต้องใส่ผักตบชวากันกระแทกลงไปให้เต็มกล่อง เพื่อไม่ให้มีช่องว่างแล้วสิ่งของเกิดการกลิ้งไปมานั่นเอง
แต่ส่วนใหญ่ต้นทุนของสองสิ่งนี้ก็จะไม่ต่างกันเท่าใดนัก
เรื่องราวของผักตบชวา อาจทำให้เราเห็นว่า ไม่มีสิ่งไหนไร้ประโยชน์เสมอไป
ขึ้นอยู่กับว่า เราจะมองเห็นคุณค่า และดึงเอาสิ่งดีๆ ออกมาใช้ได้มากแค่ไหนต่างหาก..
Reference: 
-สัมภาษณ์โดยตรงกับคุณเจ ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ “ตบชวากันกระแทก”
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.